xs
xsm
sm
md
lg

7เดือนไทยใช้น้ำมัน156.50 ล.ลิตร/วัน โต 0.2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • ยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 7 เดือนแรกปี 2567 (มกราคม – กรกฎาคม) อยู่ที่ 156.50 ล้านลิตร/วัน
  • • เพิ่มขึ้น 0.2% จากปีก่อน
  • • กลุ่มเบนซินลดลง 1.4% เนื่องจากราคาขายปลีกสูงกว่าปีก่อน
  • • กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 3.3% สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


ยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 7 เดือน ของปี 2567 (มกราคม – กรกฎาคม) อยู่ที่ 156.50 ล้านลิตร/วันโตขึ้น 0.2%จากปีก่อน โดยกลุ่มเบนซินลดลง 1.4 % จากระดับราคาขายปลีกที่อยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน ส่วนดีเซลโตขึ้น 3.3%ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 7 เดือน เฉลี่ยเดือนมกราคม–กรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 156.50 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.2 โดยกลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 1.4 ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากระดับราคาขายปลีกที่อยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน การพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมืองและโครงการรถไฟทางคู่ที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด รวมถึงจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากข้อมูลจำนวนโรงงานที่แจ้งเปิดกิจการใหม่และมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน1 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 ขยายตัวจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ขณะที่น้ำมันเตาลดลง ร้อยละ 19.1 NGV ลดลงร้อยละ 17.1 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และการใช้ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1

สำหรับรายละเอียดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในเดือนมกราคม –กรกฎาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.55 ล้านลิตร/วัน ลดลงทุกชนิดน้ำมันยกเว้นการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ประกอบด้วยแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงมาอยู่ที่ 17.64 ล้านลิตร/วัน แต่ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดที่ร้อยละ 56 รองลงมาคือ แก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.64 ล้านลิตร/วัน คาดว่าเป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพโดยมีการลดอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 - เมษายน 2567 ส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ถึง 1.40 - 1.78 บาท/ลิตร (จากเดิมในปี 2566 0.51 บาท/ลิตร) ประชาชนบางส่วนจึงหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แทน สำหรับแก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.47 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.42 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 68.06 ล้านลิตร/วัน ประกอบด้วยดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 67.90 ล้านลิตร/วัน และดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.15 ล้านลิตร/วัน ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงระยะเวลาการตรึงราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 โดยใช้กลไกการบริหารเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะที่ดีเซลพื้นฐาน ลดลงมาอยู่ที่ 1.64 ล้านลิตร/วัน สำหรับน้ำมันกลุ่มดีเซลภาพรวมอยู่ที่ 69.69 ล้านลิตร/วัน 


การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 15.65 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 โดยมีปัจจัยมาจากการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว เช่น นโยบายฟรีวีซ่า การเพิ่มเที่ยวบินพิเศษในช่วงเทศกาล การลดหย่อนภาษีสำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองรอง มาตรการอนุญาตให้ชาวต่างชาติจาก 93 ประเทศเดินทางเข้าราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้ยังไม่กลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 18.69 ล้านกก./วัน ประกอบด้วยภาคปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.69 ล้านกก./วัน ภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.71 ล้านกก./วัน และภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.32 ล้านกก./วัน โดยมีสาเหตุสำคัญจากจำนวนรถแท็กซี่ LPG มียอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนแท็กซี่ NGV ที่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรม ลดลงมาอยู่ที่ 1.97 ล้านกก./วัน ซึ่งมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.87 ล้านกก./วัน โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสม และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง ทั้งนี้ ปตท. ยังคงช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 กรกฎาคม 2567 – 31 ธันวาคม 2568)

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,037,105 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 2.8 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 98,776 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 972,261 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 1.9 เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันมีการหยุดซ่อมบำรุงประจำปี คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 93,970 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้า น้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 64,844 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 15.4 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 4,806 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 169,133 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 17,517 ล้านบาท/เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น