- • อุตสาหกรรมไทยต้องปรับโครงสร้างรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่: เพื่อตอบสนองความต้องการของโลก
- • มุ่งสู่การผลิต High Standard: เน้นคุณภาพและมาตรฐานสูง
- • สศอ. ขยายการดำเนินงานด้านข้อมูลและดัชนี MPI: เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่
- • เป้าหมายคือการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย: ให้ก้าวหน้าและแข่งขันได้ในระดับโลก
สศอ. ชี้อุตสาหกรรมไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ ตอบรับความต้องการของโลก มุ่งสู่การผลิต High Standard ด้านสศอ. พร้อมขยายการดำเนินงานด้านข้อมูลและการจัดทำดัชนี MPI รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ หวังพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่ร่วมชุมชน
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานและกล่าวในงานสัมมนา “Transform Regional Industry to the Future : อุตสาหกรรมไทยต้องปรับ หรือ เปลี่ยน” ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลภาคอุตสาหกรรมและการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมในระดับรายพื้นที่ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยมีอัตราการเจริญเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทยผลิตไปจำหน่ายไม่ตรงกับความต้องการของโลก นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของผลิตภาพด้านแรงงานของไทยถดถอยลง ทำให้ระดับความสามารถในการแข่งขันลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทำให้อุตสาหกรรมไทยต้องปรับโครงสร้างเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการแล้วในบางอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
โดยภาคอุตสาหกรรมยังต้องปรับตัวมุ่งสู่การผลิต High Standard ที่ไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต การคำนึงถึงการผลิตที่ตอบโจทย์ของชุมชนและสังคม รวมถึงการบริหารจัดการที่โปร่งใส คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือการผลิตที่เป็นไปตามแนวคิด ESG จากแนวคิดที่กล่าวมานั้น
สศอ. ได้ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เรียกว่า อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน อุตสาหกรรมรีไซเคิลเป็นการจัดการซากต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม Smart Construction เป็นการย้ายกระบวนการผลิตชิ้นส่วนการก่อสร้างมาอยู่ในเขตพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้ ลดมลภาวะของชุมชนรอบข้าง อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทำให้การจัดการและการกำกับขั้นตอนการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบจากแหล่งวัตถุดิบตลอดจนสินค้าสำเร็จรูปที่ส่งไปถึงมือผู้บริโภคมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องการท่องเที่ยว อาทิ SPA และ Wellness ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และสอดรับกับนโยบายรัฐบาล Soft Power โดยการดำเนินงานผลักดันอุตสาหกรรมที่กล่าวมานั้น จะเป็นส่วนหนึ่งในการ Reshape the Future ของภาคอุตสาหกรรมไทย
จากการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ ที่ได้มีการสัมภาษณ์เชิงลึกและเข้าพบหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสำคัญของพื้นที่จำนวน 5 กลุ่มพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในแต่ละพื้นที่มีศักยภาพการผลิตในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เนื่องจากความแตกต่างของแหล่งวัตถุดิบ ความเชี่ยวชาญและคุณลักษณะของแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการด้านโลจิสติกส์ ดังนั้นนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่จึงต้องมีความเหมาะสมและสอดรับกับชุมชนและสังคมในพื้นที่นั้น
สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ การนำแนวคิด BCG หรือ ESG มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่ลงไปในเชิงพื้นที่ จะเป็นการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือจากการพัฒนาพื้นที่ EEC แต่การพัฒนาจะกระจุกอยู่ในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดไม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการกระจายการพัฒนาในพื้นที่อื่น ๆ หรือการปักหมุดอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุดิบหรือศักยภาพในพื้นที่ เช่น ภาคใต้มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก ประกอบกับเป็นแหล่งวัตถุดิบของอาหารทะเล มีการปศุสัตว์ วัว แพะ แกะ ที่มีคุณภาพดี ดังนั้นอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพหนึ่งในภาคใต้ สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ แรงงานจะเป็นแรงงานที่มีฝีมือซึ่งเหมาะสมกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานจำนวนมากเหมาะกับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อย่างอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่มี พืชไร่ที่เป็นสินค้าเกษตรสำคัญอย่าง มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว และข้าวโพด ให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำมากขึ้น
นอกจากการดำเนินงานด้านนโยบายแล้ว สศอ. ยังได้ขยายการดำเนินงานด้านข้อมูลและการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ให้รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ จึงได้มีการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายพื้นที่เพื่อเป็นเครื่องมือให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมรายพื้นที่ และเมื่อนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่กล่าวไปแล้วนั้นเริ่มดำเนินการ MPI จะเป็นเครื่องมือที่เป็นตัวชี้วัดทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน
“การดำเนินงานของ สศอ. ในด้านการพัฒนาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายพื้นที่จะขยายจากกลุ่มจังหวัดพื้นที่นำร่อง 5 พื้นที่ ซึ่งได้ถูกจัดทำขึ้นภายใต้โครงการฯ ให้มีความครอบคลุมและหลากหลายระดับพื้นที่มากขึ้น อาทิ ภูมิภาค เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และ จังหวัด เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลภาคอุตสาหกรรมเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นางวรวรรณ กล่าว