- • มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมมือ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ด้านโคนม
- • มุ่งเน้นถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการผลิตโคนม
- • สร้างฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมตัวอย่าง
- • พัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีความรู้และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยด้านโคนม เพื่อถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการผลิต รวมถึงการสร้างฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมตัวอย่าง เดินหน้าพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในภาคเหนือ คู่ขนานกับการสร้างนักวิชาการรุ่นใหม่ สร้างรายได้ที่มั่นคง นำไปสู่อาชีพเกษตรกรโคนมที่ยั่งยืน โดยมี รศ.จักรพงษ์ พิมพ์พิมล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ ซีพี-เมจิ ร่วมลงนาม พร้อมด้วย ผศ.ดร.ประภากร ธาราฉาย คณบดีคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้
รศ.จักรพงษ์ พิมพ์พิมล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ พร้อมสนับสนุนงานด้านวิชาการและเป็นกลไกหลักในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและผลผลิตโคนม นอกจากนั้นยังจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเกษตรกรให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านวิชาการ และการจัดการสิ่งแวดล้อมทางด้านเกษตรและปศุสัตว์ที่เหมาะสม ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรในการเข้าร่วมการอบรมทฤษฎีใหม่ๆ ที่ทันสมัย โดยมหาวิทยาลัยฯ มีนักวิชาการและวิทยากรที่เชี่ยวชาญ การพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการฟาร์มและจัดการโคนม เพื่อให้ได้ผลผลิตของน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และมีปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภคทั้งไทยและทั่วภูมิภาค” รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าว
นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ ซีพี-เมจิ เปิดเผยว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะยกระดับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมในประเทศไทย ให้มีมาตรฐานที่เป็นเลิศโดยมีความประสงค์ ที่จะสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบจากต้นน้ำ ให้ไปสู่กลางน้ำ จนเป็นผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพถึงมือผู้บริโภค ภายใต้เจตนารมณ์ขององค์กรในการเพิ่มคุณค่าชีวิต ซีพี-เมจิ ตระหนักดีว่า การเติบโตทางธุรกิจ จำเป็นต้องทำไปควบคู่ไปกับการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ให้เติบโตไปพร้อมกับบริษัท ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ถือเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญบนห่วงโซ่การพัฒนาอุตสาหกรรมนม
"ซีพี-เมจิ ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีการเรียนการสอน งานวิจัย และผู้เชี่ยวชาญที่โดดเด่นด้านวิชาการโคนม เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวเริ่มต้นที่สำคัญอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ในการยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรโคนมไทย สร้างฟาร์มตัวอย่าง ตลอดจนผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป" นางสาวสลิลรัตน์ กล่าว
ด้าน นายอาทิตย์ นุกูลกิจ รองผู้อำนวยการด้านการจัดการน้ำนมดิบ ซีพี-เมจิ กล่าวว่า ซีพี-เมจิ ที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรโคนมทั่วประเทศ จากการลงพื้นที่ทำงานตลอดระยะเวลาหลายปี พบว่าเกษตรกรโคนมมีเป้าหมายในการพัฒนาตนเอง รวมถึงพื้นที่ฟาร์มและการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ บริษัทฯ มีความตั้งใจในการทำงานร่วมกับอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโคนมจากคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คาดว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และการจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐาน มีส่วนช่วยเกษตรกรให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของน้ำนมดิบต่อตัว โดยก้าวข้ามปัจจัยท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งอาหารหยาบที่ขาดแคลน ซึ่งส่งผลทางตรงต่อปริมาณและคุณภาพน้ำนมดิบ
สำหรับ การลงนามบันทึกข้อตกลงในการทำงานร่วมกันนี้ ซีพี-เมจิและคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะเดินหน้าโครงการนำร่องร่วมกับฟาร์มโคนม 14 แห่งที่เป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ โดยทีมการจัดการน้ำนมดิบ ซีพี-เมจิ จะลงพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อรวบรวมข้อมูล ควบคู่กับการให้ความรู้ด้านการจัดการฟาร์มที่ถูกต้องแก่เกษตรกร