“อีอีซี” เร่งเครื่องสนามบินอู่ตะเภา กองทัพเรือเตรียมสร้างรันเวย์ 2 เผยแผนสำรองแก้ปมอุโมงค์"รถไฟ 3 สนามบิน"ลอดใต้รันเวย์ ขีดเส้นสิ้นปีนี้รถไฟไม่สร้างเตรียมตัดเนื้องานอุโมงค์ 1 หมื่นล้านออกจากสัญญาร่วมทุนฯซี.พี.รฟท.ประมูลสร้างเอง ด้าน UTA เตรียม 1 หมื่นล้านสร้างเฟสแรก และ Airport City
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกว่า ภายในปีนี้จะเริ่มก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) ที่กองทัพเรือ (ทร.) รับผิดชอบได้ เนื่องจากได้สรุปผลการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาแล้ว คือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD โดยอยู่ระหว่างประสานการใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) หรือ AIIB และในต้นปี 2568 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผู้รับสัมปทานได้เช่นกัน
ส่วนการก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่จะต้องลอดใต้รันเวย์นั้น มีการประสานแบบและแผนการก่อสร้างไว้แล้ว โดยสัญญาก่อสร้างรันเวย์มีระยะเวลา 36 เดือน ซึ่งช่วงแรกจะก่อสร้างรันเวย์จากจุดอื่นก่อน ขณะที่ตามสัญญากำหนดว่ากองทัพเรือจะต้องส่งมอบพื้นที่รันเวย์บริเวณที่มีอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงลอดผ่านด้านใต้ให้ผู้รับเหมาในเดือนที่ 18 หมายความว่า อุโมงค์รถไฟความเร็วสูงต้องก่อสร้างเสร็จแล้วภายใน 18 เดือน (นับจากสัญญารันเวย์ระหว่างกองทัพเรือ กับ ITD เริ่มต้น)
นายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน รองเลขาธิการอีอีซี สายงานโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า อีอีซีได้มีการหารือกับกองทัพเรือ กรณีที่ไม่สามารถก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงลอดรันเวย์เสร็จภายใน 18 เดือน โดยสิ้นปี 2567 หรือไม่เกินต้นปี 2568 หากโครงการรถไฟความเร็วสูงยังไม่มีความชัดเจน เรื่องการก่อสร้าง จะมีการเสนอขอตัดเนื้องานและเงินลงทุนค่าก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงออกจากสัญญาร่วมทุนฯกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) และให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างอุโมงค์รถไฟเอง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการก่อสร้างรันเวย์ของสนามบิน
“เรื่องนี้แจ้งข้อมูลกับ รฟท.และ ซี.พี.แล้ว ทุกฝ่ายรับทราบทางออกแล้ว โดยช่วงที่เป็นอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ลอดใต้รันเวย์เข้าสู่อาคารผู้โดยสารมีระยะทางประมาณ 3-4 กม. ค่าก่อสร้างประมาณ 10,000 ล้านบาท”
สำหรับรันเวย์นั้น มีการออกแบบทางวิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยจากพื้นรันเวย์ลงไปถึงผนังด้านบนอุโมงค์มีระยะความลึกที่ 11 เมตร ซึ่งมีความแข็งแรง การกระจายน้ำหนัก มีมาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนด องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รันเวย์ที่ 2 มีความยาวทางวิ่ง 3,505 เมตร ขีดความสามารถรองรับได้ 60-70 เที่ยวบินต่อชั่วโมง สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ และเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดใหญ่ มีระยะห่างจากรันเวย์ที่ 1 ประมาณ 1,140 เมตร สามารถใช้ขึ้นลงพร้อมกันได้
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) กล่าวว่า คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างสนามบินได้ในต้นปี 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี และทดสอบระบบจึงจะเปิดให้บริการได้ โดยสนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินมีพื้นที่รวม 6,500 ไร่ มี 3 โครงการ คือ 1. Airport Terminal พื้นที่ 1,482 ไร่ 2. Air Cargo & Logistics พื้นที่ 348 ไร่ 3. Airport City พื้นที่ 1,058 ไร่ มูลค่าลงทุนรวม 320,000 ล้านบาท คาดเฟสแรกลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท (ส่วนของสนามบินประมาณ 40,000 ล้านบาท ส่วน Airport City ลงทุนประมาณ 60,000-80,000 ล้านบาท)
ในพื้นที่ Airport City ประกอบด้วย กิจกรรม ศูนย์การค้าระดับโลก MICE, Indoor Arena, โรงแรม, สนามแข่งรถ, ร้านอาหาร, Medical Tourism Hub รูปแบบเมืองการบิน มีกิจกรรมหลักแล้ว การมีสนามบินแข่งขันฟอร์มูลาวันเพิ่มเข้ามา ก็จะเป็นอีกกิจกรรมที่ดึงดูดให้มีการเดินทางเพิ่มเติม
สำหรับแผนเดิมจะพัฒนา 4 เฟส เฟสแรกรองรับที่ 15.9 ล้านคน และสูงสุดรับที่ 60 ล้านคนภายใน 50 ปี แต่หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกระทบปริมาณการเดินทางและการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป จึงมีการปรับเปลี่ยนการพัฒนาเป็น 6 เฟส โดยแฟสแรกรองรับที่ 12 ล้านคน โดยเปิดให้บริการปี 2571 เฟส 2 จะรองรับเป็น 20 ล้านคน เฟส 3 รองรับเป็น 30 ล้านคน เฟส 4 รองรับเป็น 42 ล้านคน เฟส 5 รองรับเป็น 51 ล้านคน เฟส 6 รองรับ เป็น 60 ล้านคน