ครบรอบ1 ปีที่บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือBCP ซื้อกิจการบมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย)(ESSO)ในวันที่ 1กันยายน 2566 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบมจ.บางจาก ศรีราชา(BSRC) ทำให้บางจากฯมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นกำลังการกลั่นน้ำมันติดตั้งที่เพิ่มขึ้นจาก 120,000บาร์เรลต่อวันเป็น 294,000 บาร์เรลต่อวัน จำนวนสถานีบริการน้ำมันบางจากที่รับโอนจากเอสโซ่กว่า 800 แห่งรวมเป็น 2,214แห่งในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้บางจากฯเร่งรีแบรนดิ้ง เพื่อเปลี่ยนสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ทั้งหมดเป็นสถานีบริการน้ำมันบางจากอย่างสมบูรณ์ภายในสิ้นปี2567
ขณะที่ยอดขายน้ำมันบางจากได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,100 ล้านลิตรต่อเดือนจากอดีตอยู่ที่ 700 กว่าล้านลิตรต่อเดือน และส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการพุ่งขึ้นจากเดิมเคยอยู่ที่ 16%เพิ่มเป็น 28.8%ใน6เดือนแรกปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะมีมาร์เก็ตแชร์ค้าปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการขยับเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) กล่าวถึงแผนการลงทุนในปี2568ว่า บางจากฯตั้งงบลงทุนในปีหน้าประมาณ 50,000 ล้านบาท จะเน้นลงทุนในกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ หรือE&P อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท และธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด(Green Power ) 20,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับธุรกิจโรงกลั่นและเทรดดิ้ง 4,500 ล้านบาท ธุรกิจการตลาด 2,900ล้านบาท ธุรกิจใหม่ 1,600ล้านบาทและธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ( Bio-based Product) 1,000 ล้านบาท
พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์สู่เป้าหมายในปีค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) บางจากจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ( EBITDA )อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2567ที่คาดว่ามีEBITDA 4.5-5 หมื่นล้านบาท และมีรายได้รวมเติบโตขึ้นแตะ 1,000,000ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่มีรายได้รวม 600,000ล้านบาท หรือเฉลี่ยโตปีละ20%
สำหรับงบลงทุนใน 6 ปีข้างหน้า (ปี 2568-2573) ตั้งไว้ที่ 120,000ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มสัดส่วนการลงทุน 35% ของงบลงทุนรวมหรือประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 30% ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นและการตลาด มีสัดส่วนการลงทุน 30% หรือประมาณ 36,000ล้านบาท และธุรกิจGreen Power สัดส่วน 25% หรือราว 30,000ล้านบาท ธุรกิจ Bio-based Product และธุรกิจใหม่ มีสัดส่วน 10% หรือประมาณ 12,000ล้านบาท
โดยแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจมาจากการกู้ยืมราว 50%ที่เหลือมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในบริษัทเอง โดยบางจากมีศักยภาพในการกู้ยืมอีกมาก เนื่องจากมีอัตราหนี้สิน/ทุน(D/E)อยู่ที่ 0.8เท่า
วางเป้าหมายปีหน้าทุกกลุ่มธุรกิจเติบโตขึ้น
แผนการดำเนินธุรกิจในปี2568 บางจากฯคงมุ่งเน้นการลงทุนใน 5 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บางจากฯวางเป้า2โรงกลั่นน้ำมันจะมีกำลังการกลั่นรวมเพิ่มขึ้น 5%จากปีนี้ที่266,000บาร์เรลต่อวัน เป็น 280,000บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากโรงกลั่นไม่มีแผนการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ ส่วนโครงการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel :SAF) จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) ขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวันหรือ7,000 บาร์เรลต่อวัน คาดว่าผลิตเครื่องเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 2/2567 สร้างรายได้ในปี2567ประมาณ 15,000-18,000ล้านบาท และปีถัดไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 25,000-30,000ล้านบาท
ขณะนี้การก่อสร้างโรงงานผลิต SAF คืบหน้าไปแล้ว 60% มูลค่าการลงทุนรวม 8,500 ล้านบาท นับเป็นโรงงานผลิต SAF ที่ใช้เงินลงทุนต่ำสุดในโลก เนื่องจากไม่ต้องก่อสร้างโรงงานไฮโดรเจนแต่ใช้ไฮโดรเจนจากโรงกลั่นพระโขนงแทน และโครงการนี้ได้รับการส่งเสริมบีโอไอยกเว้นภาษีเงินได้ฯ 8ปี ส่วนวัตถุดิบก็ร่วมกับพันธมิตรในการจัดหาน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากร้านอาหารและรับซื้อจากประชาชนผ่านสถานีบริการน้ำมันบางจากด้วย ล่าสุดมีแผนจะจัดหาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย ขณะที่กฎหมายบังคับใช้ SAFผสมในน้ำมันอากาศยาน(JET)สำหรับสายการบินที่บินไปยุโรปและอีกหลายประเทศจะยิ่งทำให้ราคาSAFสูงขึ้นอีก
บางจากวางPositionให้โรงกลั่นพระโขนงเป็นโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery ) โดยจะค่อยๆเปลี่ยน ขณะนี้โรงกลั่นหลายแห่งในยุโรปเริ่มเปลี่ยนจากโรงกลั่นน้ำมันฟอสซิล มาเป็นโรงกลั่นที่ใช้วัตถุดิบชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นผลิต Alcohol to Jet (ATJ) และHydrotreated Vegetable Oil (HVO)เพื่อใช้แทนน้ำมัน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น
ส่วนธุรกิจการตลาด ภายใต้แนวคิด “Greenovative Destination” บางจากฯมีแผนขยายสถานีบริการน้ำมันในปี2568 เพิ่มขึ้น 90 แห่งจากปัจจุบันมีอยู่ 2,214 แห่ง และขยับเพิ่มเป็น 2,400แห่งในปี2573 ขณะที่ยอดขายน้ำมันจาก1,100ล้านลิตรต่อเดือนในปีนี้เพิ่มเป็น 1,360 ล้านลิตรต่อเดือนในปี2568 ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการ(มาร์เก็ตแชร์)ขยับขึ้นอีกจากครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 28.8%โดยบางจากตั้งเป้ามาร์เก็ต แชร์ไว้ที่ 33%ในปี2573 ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงมากไล่บี้บริษัทน้ำมันอันดับ1 ของไทย
การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันให้สูงขึ้นนอกเหนือจากจำนวนสถานีบริการที่มากและคุณภาพน้ำมันต้องดีแล้ว ธุรกิจ Non Oil มีส่วนสำคัญในการดึงผู้บริโภคเข้าสถานีบริการน้ำมัน ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนรุกธุรกิจNon Oilเพิ่มขึ้น เช่น ร้านกาแฟอินทนิล เพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันมีกว่า 1 พันสาขาทั่วประเทศ โดยวางเป้าหมายเพิ่มเป็น2,400 สาขาในปี2573 หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ220สาขา รวมทั้งร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ตัวเอง “Lemon Green Mart “โดยบางจากเร่งขยายสาขาเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเปิดไปแล้ว 13สาขาคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 60 สาขา นอกเหนือจากร้านสะดวกซื้อ “Mini Big C” รวมทั้งจับมือพันธมิตรร้านอาหารหลากหลายไม่ว่าจะเป็นร้านดังจากมิชลินไกด์ หรือสตรีทฟู้ดส์มาเปิดร้านค้าภายในสถานีบริการบางจากฯทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
ส่วนผลกระทบจากยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ที่เพิ่มสูงมากในประเทศไทยนั้น นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า แม้ว่ายอดการขายรถอีวีในไทยจะโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์จนทำให้เกิดความกังวลต่อการใช้น้ำมันนั้น ส่วนตัวมองว่ายอดการใช้รถอีวีในไทยที่เพิ่มขึ้นสูงมาจากฐานที่ต่ำ และขณะนี้ผู้บริโภคหากตัดสินใจซื้อรถอีวี คงต้องคำนึงหลายเรื่องประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำประกัน การซ่อมบำรุง และการขายต่อ และอื่นๆ อย่างไรก็ดี บริษัทไม่ได้ประมาท เรามีการลงทุนสถานีชาร์จอีวีเพื่อรองรับความต้องการใช้ โดยเปิดสถานีชาร์จอีวีไป 400 กว่าสถานีแล้ว และจะทยอยเปิดเพิ่มขึ้นในอนาคต
ส่วนธุรกิจธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P) บางจากได้ลงทุนใน OKEA ASA ในประเทศนอร์เวย์ตั้งแต่ปี 2561 โดยปีนี้คาดว่ามีกำลังการผลิตปิโตรเลียมอยู่ที่ 36,00-40,000 บาร์เรลต่อวัน และปีหน้าจะมีเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตปิโตรเลียม 50,000 บาร์เรลต่อวัน โดยบางจากมีแผนที่จะขยายธุรกิจ E&Pมายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน และสร้างความเข้มแข็งต่อฐานะการเงินให้บางจากด้วย เพราะธุรกิจ E&P ช่วยเพิ่มEBITDAให้บางจากมากถึง 50%
การรุกธุรกิจE&P มาเอเชียแปซิฟิก บริษัทมีแผนจะทำM&Aแหล่งปิโตรเลียมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล่าสุดอยู่ระหว่างทำ Due Diligence อยู่ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า นับเป็นการหวนคืนสู่ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในภูมิภาคนี้อีกครั้ง หลังจากเมื่อปี 2564 บางจากได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัท BCP Energy International PTE.LTD. (BCPE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ ที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ให้กับบริษัท Sacgasco Limited ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย ส่งผลให้BCPE และบริษัท Nido Petroleum Pty Ltd. (Nido) รวมถึงบริษัทในเครือ Nido ทั้งหมด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BCPE สิ้นสภาพการเป็นบริษัทย่อยของบางจาก
ทั้งนี้ บางจากได้รุกธุรกิจปิโตรเลียมต้นน้ำเมื่อปี2557 ได้จัดตั้ง BCPE เพื่อเข้าไปซื้อหุ้นของ Nido จำนวน 19.66% เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียมต้นน้ำซึ่งNidoประกอบธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มุ่งเน้นการลงทุนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ถือสิทธิในแหล่งปิโตรเลียมที่ดำเนินการผลิตแล้ว ได้แก่ Galoc, Nido, Matinloc ในประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงยังได้ถือสิทธิในแหล่งปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและการสำรวจ คือ West Linapacan ในประเทศฟิลิปปินส์ และสิทธิในหลายแหล่งปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการสำรวจในฟิลิปปินส์
แต่ต่อมา บางจากได้ตัดสินใจขายหุ้นบริษัทย่อยของบริษัทที่ถืออยู่ในบริษัท Nido Production (Galoc) Pty. Ltd. (NPG) ที่ถือครองแหล่งน้ำมันดิบ Galoc ประเทศฟิลิปปินส์ในสัดส่วน 55.8% ให้กับ Tamarind Galoc Pte Ltd. มูลค่า 660 ล้านบาทในช่วงกลางปี 2561 โดยเป็นการจำหน่ายเฉพาะแหล่งน้ำมันดิบ Galoc ที่ดำเนินการแล้วเท่านั้น ไม่นับรวมแหล่งปิโตรเลียมที่อยู่ในระหว่างสำรวจและพัฒนาอื่นๆ ในประเทศฟิลิปปินส์ที่ยังถือครองโดย BCPE เนื่องจากมีต้นทุนกาคผลิตต่อหน่วยสูงกว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อีกทั้งสายป่านทางการเงินก็มีจำกัด ทำให้ไม่สามารถประคองธุรกิจได้ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบตกต่ำได้
แต่การประกาศกร้าวรุกธุรกิจ E&Pในครั้งใหม่นี้ บางจากจะนำประสบการณ์การทำธุรกิจE&Pในนอร์เวย์มาปรับใช้ พร้อมตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตปิโตรเลียมในเอเชียอยู่ที่ 50,000บาร์เรลต่อวันเมื่อรวมกับ OKEA ASA ทำให้มีกำลังการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2573
กลุ่มธุรกิจGreen Power ที่มีบมจ.บีซีพีจี(BCPG)เป็นแกนนำ ขณะนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังลมMonsoon ที่สปป.ลาว ได้มีการติดตั้งกังหันลมไปแล้วจำนวน 94 ต้นจากทั้งหมด 133 ต้น กำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มการทดสอบและดำเนินการในครึ่งแรกของปี 2568 โดยมีเป้าหมายจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD)ในครึ่งหลังของปี2568 ส่วนการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มในไต้หวันคาดว่าจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในครึ่งหลังของปี 2568 ส่วนโรงไฟฟ้าพลังลม Nabas 2 มีการจ่ายไฟฟ้าฟ้าแล้วบางส่วน แต่คาดว่าจะCODครบในปี2569
BCPG ยังมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมทั้งในไทยและต่างประเทศเน้นสปป. ลาว ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยสนใจรุกพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ หลังจากก่อนหน้านี้ได้เข้าถือหุ้น 4 โรงไฟฟ้าก๊าซฯในสหรัฐ อย่างไรก็ดี อนาคต BCPG มีแผนขายสินทรัพย์เพิ่มเติมเพื่อนำเงินมาใช้ในการขยายธุรกิจ จากก่อนหน้านี้ได้ขายสินทรัพย์โซลาร์ฟาร์มทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นโดยรับรู้กำไรราว 2พันล้านบาท
ปัจจุบันBCPG มีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 1,959.4 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่เปิดดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 1,183.2 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 776.2 เมกะวัตต์
BBGI ตั้งเป้าปี73 ผลิตCDMO 1ล้านลิตรต่อวัน
ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ.บีบีจีไอ(BBGI) ได้รับอานิสงส์จากโรงกลั่นBSRC เข้ามาอยู่ภายใต้บางจาก ทำให้โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซลและเอทานอลรวม 1.8ล้านลิตรต่อวัน ผลิตไม่พอขายจึงต้องหันไปซื้อจากผู้ผลิตรายอื่นในประเทศเพิ่มเติม ขณะเดียวกันบริษัทหันมาทำตลาดไบโอเทคที่มีมูลค่าสูง พร้อมตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ผลิต CDMO (Contract Development and Manufacturing Organization) รายแรกในอาเซียนในปี 2568 โดยมีแผนที่จะผลิตมากกว่า 1 ล้านลิตรต่อปีภายในปี 2571
เมื่อเร็วๆนี้ BOI อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนกับบริษัท บีบีจีไอ เฟิร์มบ็อกซ์ ไบโอ จำกัด(BBFB) จัดตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงโดยใช้เทคโนโลยีการหมักที่แม่นยำ (Precision Fermentation) เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง เช่น เซลลูโลซิก เอนไซม์ (Cellulosic Enzyme) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยย่อยและเปลี่ยนเซลลูโลสในชีวมวลเหลือทิ้ง เช่น เศษไม้ ฟางข้าว กากมันสำปะหลัง และชานอ้อย ให้เป็นน้ำตาลกลูโคส ซึ่งสามารถต่อยอดไปผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพได้หลากหลาย เช่น พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ โปรตีนชีวภาพ น้ำมันอากาศยานชีวภาพ (SAF) เป็นต้น กำลังผลิตเบื้องต้น 2แสนลิตรต่อปี
ส่วนความคืบหน้าการซื้อหุ้น30%ใน บริษัท บีบีจีไอ ไบโอดีเซล จำกัด (BBGI-BI)คาดว่าจะดำเนินการซื้อหุ้นเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 และเมื่อเข้าทำรายการเสร็จสิ้นแล้ว บริษัทฯ จะถือหุ้นใน BBGI-BIในสัดส่วน 100% ดังนั้น บีบีจีไอ มีผลประกอบการดีขึ้นและพลิกกลับมามีกำไรอีกครั้ง
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2568 บางจากตั้งเป้ารายได้เติบโตเฉลี่ย 15-20% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 600,000ล้านบาท มาจากธุรกิจโรงกลั่นจะเดินเครื่องการผลิตได้เต็มกำลังที่ระดับ 2.8 แสนบาร์เรลต่อวัน และโครงการผลิตSAF ธุรกิจการตลาด ที่โตขึ้น29%จากการขยายสถานีบริการน้ำมัน และธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P)คาดว่าจะเติบโต 40-50%
การประกาศแผนการลงทุนใน6ปีข้างหน้า รวมทั้งเป้าหมายการเติบอย่างต่อเนื่องไปถึงปี2573 เป็นสิ่งที่ท้าทายภายใต้สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กระแสการลดการปล่อยคาร์บอน และการรื้อโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เหนือการควบคุม คงต้องลุ้นให้บางจากบรรลุเป้าหมายได้ตามแผนที่ตั้งไว้