xs
xsm
sm
md
lg

อีอีซีหวังครม.ชุดใหม่เร่งคลอด”สิทธิประโยชน์”เผยเจรจา 20 เอกชนทุ่ม 2 แสนล้านลงทุนในพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • EEC รอ ครม. ชุดใหม่ เคาะประกาศ กพอ. เรื่องสิทธิประโยชน์ - นี่คือสิ่งที่ EEC รอคอยเพื่อดึงดูดนักลงทุน
  • • เจรจากับนักลงทุนต่างชาติ 20 ราย มูลค่า 2 แสนล้านบาท - นี่แสดงให้เห็นถึงความสนใจของต่างชาติใน EEC
  • • ลงทุนใน EEC เพื่อดึงเม็ดเงิน สร้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจ - เป้าหมายหลักของ EEC
  • • กังวลว่าการล่าช้าอาจทำให้นักลงทุนเปลี่ยนใจ - ความล่าช้าอาจส่งผลเสียต่อแผนการของ EEC


อีอีซี ลุ้นครม.ชุดใหม่ เคาะประกาศ กพอ.เรื่องสิทธิประโยชน์ เผยเจรจาต่างชาติ 20 ราย พร้อมลงทุนมูลค่า 2 แสนล้านบาท ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ สร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ หวั่นล่าช้านักลงทุนอาจเปลี่ยนใจ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีนักลงทุนต่างชาติมากกว่า 20 ราย ที่อีอีซีมีการเจรจาและพร้อมเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งประเมินมูลค่าลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากยังต้องรอ ประกาศ กพอ. เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ...เพื่อจูงใจในการลงทุนก่อน โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซีได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกพอ.เรื่องสิทธิประโชน์ฯ แล้วเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 เหลือเพียงสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับต่อไปเท่านั้น

เรื่องสิทธิประโยชน์ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ สกพอ.จะนำเสนอครม.ชุดใหม่ เพราะหากยิ่งล่าช้าออก นักลงทุนอาจจะเปลี่ยนใจไปลงทุนในประเทศอื่นได้ ที่ผ่านมาอีอีซีได้เชิญชวนนักลงทุน แต่ยังขาดเรื่องประกาศสิทธิประโยชน์ ซึ่งยอมรับว่า มีนักลงทุนที่อาจจะรอเรื่องสิทธิประโยชน์จากอีอีซีไม่ไหว ก็ส่งต่อให้ทางบีโอไอช่วยก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องภาษี เพื่อดึงนักลงทุนให้ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยไว้ก่อน ไม่อยากให้ย้ายไปประเทศอื่น ส่วนอีอีซีนั้นยังสามารถเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกภายหลังจากนั้นได้ เช่น ออกใบอนุญาตก่อสร้าง ออกใบอนุญาตโรงงานได้ ทำให้นักลงทุนทำงานง่ายขึ้น

“ตอนนี้อีอีซีพร้อม นักลงทุนก็มีพร้อม หากครม.ใหม่เคาะประกาศ กพอ.เรื่องสิทธิประโยชน์ เรียกว่า เตรียมตัดริ้บบิ้นเปิดโรงงานกันได้เลย”


นายจุฬากล่าวว่า ประกาศสิทธิประโยชน์นั้นจะเป็นเครื่องมือที่อีอีซี จะนำไปเจรจาต่อรองกับนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนได้ และเป็นเครื่องมือหรืออาวุธที่จะแข่งขันกับคนอื่น แต่ตอนนี้เราเหมือนมีแค่มือเปล่า ทั่วโลกจะให้นักลงทุนเล่าว่าอยากได้อะไร แล้วพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ตามนั้น แต่ที่อีอีซีทำคือ จะถามนักลงทุนว่าไปที่อื่น แล้วได้อะไร หากมาอีอีซี จะได้มากกว่า เพราะนักลงทุนจะเลือกพื้นที่ที่ได้สิทธิประโยชน์มากกว่า แต่บางเรื่องเราก็ให้แบบนั้นไม่ได้ เช่น บางประเทศให้พื้นที่ฟรีเลย แต่เราต้องหาอย่างอื่นไปสู้

ขณะที่เจรจาต่อรองกับนักลงทุนไว้แล้วประมาณ 20 โครงการ วงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท เตรียมลงทุน รอประกาศสิทธิประโยชน์เท่านั้น บางรายได้เข้ามาลงทุนไปบ้างแล้ว มาก่อสร้างโรงงานระหว่างรอสิทธิประโยชน์ บางรายก็เตรียมเรื่องอบรมคนไทยทำงานแล้ว

ปัจจุบันในพื้นที่อีอีซี มีการลงทุนประมาณ 3,000 โรงงาน หากมีการเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 1,000 โรงงาน คาดว่าในอีก 5 ปี ข้างหน้า จะเพิ่มอีก 4,000 โรงงาน เฉพาะคนทำงานในพื้นที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ซึ่งประชากรใน 3 จังหวัดอีอีซี มีประมาณ 3 ล้านคนเศษ บวกประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานรวมเป็นกว่า 5 ล้านคนแล้ว หรือมีประชากรแฝงประมาณ 30-40% และปี 2568 คาดว่าจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาทำงานจำนวนมาก เพราะ จะมีการก่อสร้าง ทั้งรันเวย์สนามบิน และรถไฟความเร็วสูง


กำลังโหลดความคิดเห็น