- • คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567
- • หลังจากการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้าโหมดการทำงานอย่างเป็นทางการ
- • เนื้อหาไม่ได้ระบุว่าการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะนับจากวันที่ใด (ตรงนี้ควรระบุให้ชัดเจน)
หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 และหลังจากการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ก็จะเข้าโหมดการทำงานได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับจาก รัฐบาล”เศรษฐา ทวีสิน”ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ได้มีการประกาศนโยบายเร่งการลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งสนามบิน ระบบราง ถนน มอเตอร์เวย์และท่าเรือ
แต่ในความเป็นจริง ในรอบปีงบประมาณ 2567 เริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 แทบไม่มีการผลักดันโครงการคมนาคมออกมาเป็นรูปธรรมเลย มีเพียงโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาทและรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 2.87 หมื่นล้านบาทที่มีการเปิดประมูลซึ่งเป็นการดำเนินตามขั้นตอนเท่านั้น
ขณะที่คาดการณ์ว่า รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านคมนาคม ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการคมนาคมขนส่ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับการขนส่งและโลจิสติกส์ ยังเป็นเครื่องจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกด้วย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า หากตรวจสอบโครงการของกระทรวงคมนาคมพบว่า มีความพร้อมที่จะเสนอครม.ชุดใหม่จำนวน 14 โครงการ โดยบางโครงการเคยเสนอไปครม.ชุดที่แล้ว และมีการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้บรรจุวาระ แต่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ดังนั้นหลังครม.ใหม่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อย กระทรวงคมนาคมจะเร่งทยอยนำเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่ออนุมัติต่อไป
@เปิดโผล็อตแรก 14 โครงการ 7.98 แสนล้านบาท
สำหรับโครงการด้านคมนาคมขนส่ง ที่มีการศึกษากลั่นกรอง พร้อมนำเสนอครม.ชุดใหม่พิจารณาอนุมัติในขณะนี้ มีจำนวน 14 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 7.98 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 หรือ M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตอนทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost เอกชนลงทุน 100%เป็นเส้นทางแรก
2. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 หรือ M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 35 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 16,986 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างปรับปรุงช่องทางหลักเป็นมอเตอร์เวย์ โดยทล.จะดำเนินการเอง ใช้เงินกู้ก่อสร้างงานโยธา และใช้เงินจากกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางมอเตอร์เวย์ ติดตั้งระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง รวมถึงบริหารจัดการ อำนวยความสะดวกและปลอดภัยและซ่อมบำรุง
3. โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม.วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาท ลงทุน รูปแบบ PPP Gross Cost โดย รัฐเป็นผู้ลงทุนค่าเวนคืนที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธาและการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) รัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ จะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว
4. โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ในระยะที่ 1 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก หรือ ตอน N2 เดิม ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท
5. โครงการทางด่วน กะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต หรือโครงการอุโมงค์ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงินโครงการประมาณ 16,190 ล้านบาท
6. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงินลงทุน 6,473.98 ล้านบาท เสนอครม.เพื่อขอทบทวนมติครม.และปรับกรอบวงเงิน
7. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทางรวม 20.5 กม. วงเงินโครงการ 15,176.21 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรวมโครงการสายสีแดง 2 เส้นทาง คือ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายาและสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีสะพานพระราม6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถานีบ้านฉิมพลี) และ สายสีแดงอ่อนช่วง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เข้าด้วยกันเป็นโครงการเดียว ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา และเปิดประกวดราคาสัญญาเดียว และทำให้กรอบวงเงินโครงการรวมลดลง 110.06 ล้านบาท
8. โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทาง ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 307.60 กม. วงเงินลงทุน 44,095.36 ล้านบาท
9. โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทาง ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.54 กม. วงเงินลงทุน 81,143.24 ล้านบาท
10. โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทาง ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 44.50 กม. วงเงินลงทุน 7,772.90 ล้านบาท
11. โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทาง ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168.20 กม. วงเงินลงทุน 30,422.53 ล้านบาท
12. โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทาง สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321.00 กม. วงเงินลงทุน 66,270.51 ล้านบาท
13. โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทาง เด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189.00 กม. วงเงินลงทุน 68,222.14 ล้านบาท
14.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ระยะที่ 2 นครราชสีมา–หนองคาย ระยะทาง 357 กม. มูลค่า 341,351.42 ล้านบาท พร้อมเสนอครม.ในขณะเดียวกัน รฟท.อยู่ระหว่างนำเสนอรายงาน EIA ต่อ กก.วล. พิจารณา
@เร่งศึกษา อีก 12 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4.83 แสนล้านบาท
สำหรับ โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมฯ และออกแบบกรอบรายละเอียดมีจำนวน 12 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4.83 แสนล้านบาท ได้แก่
1. โครงการทางพิเศษ ศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กม. ค่าลงทุน 21,892 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 788 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 21,104 ล้านบาท) มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช ส่วนD บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ไปตามแนวมอเตอร์เวย์สาย 7 และสิ้นสุดที่บริเวณ มอเตอร์เวย์ กม.18
2. โครงการทางพิเศษ เมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 30 กม. ค่าลงทุน 35,800 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,500 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 21,300 ล้านบาท) มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ ต.เทพกระษัตรี บริเวณจุดตัดทล.4024 (ถนนเลี่ยงเมือง) ต.เกาะแก้ว โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว บริเวณต.ศรีสุนทร ลงไปทางทิศใต้ขานไปกับทล. 4024 สิ้นสุดที่ต.กะทู้ บริเวณจุดตัด ทล.4029 เชื่อมกับทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง
3.โครงการมอเตอร์เวย์ (M8) นครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ ซึ่งมีการปรับปรุงรูปแบบ แบ่งดำเนินงาน 2 เฟส โดยเฟส 1 นครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กม. วงเงินลงทุน 43,227.16 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 29,156 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,783.29 ล้านบาท ค่าเวนคืน 12,287.87 ล้านบาท) โดยกรมทางหลวง จะก่อสร้างโยธาเอง โดยใช้เงินกู้ เอกชนลงทุนงานระบบ O&M โดย ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของรายได้ ระยะเวลาสัญญา 32 ปี (ก่อสร้าง 2 ปี บริหาร O&M 30 ปี) ช่วง นครปฐม- ปากท่อ สามารถดำเนินการได้ก่อนเนื่องจากไม่ติดปัญหาเรื่องพื้นที่ ซึ่งเส้นทางช่วงนครปฐม- ปากท่อ จะเชื่อมกับ มอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่บริเวณนครชัยศรี ทำให้การเดินทางลงสู่ภาคใต้มีความสะดวก มากขึ้น ลดความแออัดของถนนพระราม 2 ส่วนเฟส 2 ปากท่อ - ชะอำ ระยะทางประมาณ 60 กม. รูปแบบยังไม่จบเพราะต้องเคลียร์เรื่องแนวเส้นทาง เนื่องจากช่วงผ่านจ.เพชรบุรี ประชาชนในพื้นที่ต่อต้าน
4. โครงการมอเตอร์เวย์วงแหวนรอบ 3 ฝั่งตะวันออก (MR10) ระยะที่ 1 ช่วงทล.32-ทล.305 (ถนนรังสิต-นครนายก) ระยะทาง 70 กม. และมอเตอร์เวย์วงแหวนรอบที่ 3 ด้านตะวันออก ระยะที่ 2 ช่วง ทล.305-ทล.34 (ถนนเทพรัตน์) ระยะทาง 52 กม. มูลค่าโครงการรวม 69,950 ล้านบาท ปัจจุบันศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จแล้ว กำลังออกแบบในรายละเอียดและจัดทำรายงาน EIA
5. โครงการสะพานรถไฟความเร็วสูงข้ามแม่น้ำโขง (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2) หนองคาย-เวียงจันทน์ ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ซึ่งอยู่ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร โดยเป็นสะพานรถไฟที่มีทั้งทางมาตรฐานกว้าง 1.435 เมตร 1 คู่ รองรับรถไฟความเร็วสูง และทางขนาด 1 เมตร อีก 1 คู่ เพื่อรองรับรถไฟปัจจุบัน เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการสัญจรและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ประเมินค่าก่อสร้างที่ 2,000 ล้านบาท ซึ่งรฟท. ได้รับงบประมาณปี 2567 วงเงิน 125 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 12 เดือน
6. โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท
7. โครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท
8. โครงการขยายอาคารผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร จาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 20 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 15,000 ล้านบาท
9. โครงการขยายอาคารผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานภูเก็ต เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร จาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท
10. โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน (ท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ) วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท
11. โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา (ท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2) หรือ วงเงินลงทุนประมาณ70,000 ล้านบาท
12. โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ บริเวณแหลมหินคม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มูลค่าลงทุนประมาณ 12,172 ล้านบาท
น่าจับตาเค้กก้อนโต โดยเฉพาะโปรเจ็กต์ระบบรางอย่างรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 6 เส้นทาง ที่มีมูลค่าถึง 297,926 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย มูลค่า 341,351.42 ล้านบาท ที่หากเปิดประมูลเมื่อใด จะทำให้วงการผู้รับเหมาคึกคักอย่างมากแน่นอน เพราะต้องยอมรับว่าหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา การลงทุนภาครัฐ มีงานใหญ่ออกมาค่อนข้างน้อย ผู้รับเหมาทั้งรายใหญ่ รายย่อย ต่างมีปัญหาสภาพคล่องไปตามๆ กัน ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และกระทรวงคมนาคมก็มีโปรเจ็กต์ที่เป็นขุมทรัพย์รอรัฐบาลใหม่กดปุ่มประมูลมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท!!!