- • อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) สั่งให้เจ้าหน้าที่ 2 คน จากด่านชั่งน้ำหนัก ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตต่อหน้าที่
- • เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากมีการร้องเรียนเรื่องการรับส่วยจากรถบรรทุก
- • อธิบดี ทล. ยืนยันว่าจะดำเนินการตามนโยบายปราบส่วยทางหลวงอย่างจริงจัง
- • มีการวางมาตรการเข้ม 4 ข้อ เพื่อป้องกันการทุจริต
อธิบดีทล.เซ็นให้ 2 เจ้าหน้าที่ด่านชั่งน้ำหนัก รับส่วยรถบรรทุก ออกจากราชการไว้ก่อนและตั้งสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตต่อหน้าที่ พร้อมวาง 4 มาตรการคุมเข้ม ตามนโยบายปราบส่วยทางหลวง
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ถูกจับกรณีเรียกรับส่วยรถบรรทุก ว่า ได้ออกคำสั่งให้ทั้งสองคนออกจากราชการไว้ก่อน กรณีทุจริตต่อหน้าที่ หลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่า มีผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ที่อยู่ในข่ายต้องเรียกมาสอบสวน หากพบว่ามีมูลจะต้องคณะกรรมการสอบวินัยต่อไป
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีข้อมูลหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่ไปมีพฤติกรรมเรียกรับส่วย นายสราวุธกล่าวว่า ถ้าจำกันได้เมื่อปีที่แล้วประมาณกลางปีก็มีประเด็นส่วยสติกเกอร์เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง และทำให้กรมฯ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้ประกอบการรถบรรทุก รวมถึงเจ้าหน้าที่ของ ปปป.และ ป.ป.ช.ที่เข้ามาช่วยในทางลับ ร่วมกันหาทางในการกำจัดส่วยสติกเกอร์ให้หมดไป จากความร่วมมือวันนั้น จึงได้มีการกำหนดมาตรการให้เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ส่วนกรณีนี้เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงเองออกไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม มีอำนาจตรวจค้น เพราะถือเครื่องชั่งน้ำหนักตามกฎหมาย จึงต้องตรวจสอบต่อไปว่า อาจจะมีการเอื้อประโยชน์อะไรหรือไม่
อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวว่า จากความร่วมมือในปัญหาส่วยสติกเกอร์ ปัจจุบันทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการที่เข้มข้น และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายชัดเจนว่า ต้องไม่มีส่วยรถบรรทุก ไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์จากรถบรรทุก อีกในรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้น มาตรการต่างๆ จะเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมตามนโยบาย ได้แก่
1.จะมีข้อสั่งการกรมทางหลวงให้เข้มงวดในการตรวจสอบรถบรรทุกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด่านชั่งน้ำหนักถาวร และด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่
2.สับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีไม่ให้อยู่เกิน 1 ปี เพราะถ้าอยู่นานอาจมีการรู้เห็นกับผู้ประกอบการในหลบเลี่ยงผลประโยชน์อื่นๆได้
3.มีระบบควลคุมเครือข่าวส่วนกลางทั้งกล้อง CCTV มีศูนย์ร้องเรียน 24 ชม. และจะบูรณการกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้ผู้ประกอบการติดตั้งเครื่อง GPS ติดตามรถบรรทุกแต่ละคันว่าไปไหน อย่างไร ซึ่งจะเอามาประกอบกับระบบของกรมทางหลวง ที่จะติดตามได้ว่า รถบรรทุกแต่ละคันน้ำหนักเกินไหม? ขนส่งไปที่ไหน อย่างไร
4.จะมีการติดตามทั้งหมด โดยจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการมอนิเตอร์ เหล่านี้จะทำให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินน้อยลง
“เรื่องนี้รัฐมนตรี มีข้อสั่งการว่า ยอมให้เกิดไม่ได้ ใครทำผิด ก็จับเลย ต้องช่วยกันในหลายๆมาตรการทั้งป้องปราม จับกุม ใช้ระบบในการติดตามต่างๆครับ” อธิบดีกรมทางหลวงกล่าว