xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอดันไทยศูนย์กลางชิ้นส่วนอาเซียน เปิดงาน "SUBCON Thailand : The East" บูมลงทุนภาคตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • บีโอไอ, ไทยซับคอน, อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ และเครือข่ายอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ร่วมจัดงาน
  • • งานนำเสนอเทคโนโลยีชิ้นส่วนและโซลูชันการผลิตขั้นสูง
  • • มุ่งเชื่อมโยงโอกาสและผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตในภาคตะวันออก


บีโอไอ จับมือสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ไทยซับคอน) บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ พร้อมด้วยเครือข่ายอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เปิดงาน "SUBCON Thailand : The East 2024" ขนทัพเทคโนโลยีชิ้นส่วนและโซลูชันการผลิตขั้นสูง เชื่อมโอกาสและยกระดับผู้ประกอบการภาคตะวันออก โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร คาดสร้างมูลค่าเชื่อมโยงธุรกิจกว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดซื้อชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาคตะวันออกถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะด้านการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยว จากความโดดเด่นของโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพพร้อมรองรับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึก สนามบินนานาชาติ ระบบโลจิสติกส์ ระบบโทรคมนาคม ไฟฟ้า ประปา และนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว โดยภาพรวมการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันออก ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวน 625 โครงการ เงินลงทุนรวม 211,569 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 46 ของเงินลงทุนทั้งหมดของประเทศ จึงเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศไทย โดยเฉพาะใน 3 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ ยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการลงทุนและซัปพลายเชนในพื้นที่ภาคตะวันออก บีโอไอจึงได้ผนึกกำลังสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ไทยซับคอน) และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ร่วมเปิดงาน "SUBCON Thailand : The East 2024" ระหว่างวันที่ 4-6 กันยายน 2567 สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ผลิตชิ้นส่วนในพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการภาคตะวันออกให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รองรับการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเข้ามา ผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดซื้อชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียน และตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ต้องมีทั้งความ Smart และ Green

ไฮไลต์ของการจัดงานในครั้งนี้ มีผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเข้าร่วม เพื่อเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยจะมีการจับคู่เจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อรายสำคัญกว่า 100 ราย ในส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น บริษัท Isuzu, Kawasaki Motors อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริษัท Midea, Chicony Power อุตสาหกรรม PCB เช่น บริษัท Sanmina-SCI Systems, Techman Electronic เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจกว่า 600 คู่ และสร้างมูลค่าการเชื่อมโยงธุรกิจกว่า 3,000 ล้านบาท


นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Buyers’ Village แสดงชิ้นส่วนที่ผู้ซื้อมีความต้องการจัดซื้อและจัดหาผู้รับช่วงการผลิต รวมถึงกิจกรรม Sourcing Day ที่บีโอไอจัดร่วมกับ บริษัท โฟตอน ซีพี มอเตอร์ จำกัด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ซัพพลายเชนของผู้ผลิตรายสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์

นายชนินทร์ ขาวจันทร์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ภาคตะวันออกมีนิคมอุตสาหกรรมกว่า 40 แห่ง ซึ่งทางสมาคมฯ เล็งเห็นโอกาสในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิต สอดรับกับบทบาทของสมาคมฯ ที่มุ่งสนับสนุนสมาชิกซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตให้มีพื้นที่และมีส่วนในการสนับสนุนนักลงทุนในภาคตะวันออกในการผลิตผลิตภัณฑ์ให้แข่งขันได้ในตลาดโลก โอกาสทางการค้า มองหาตลาดใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตและการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคในภูมิภาคนี้ จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน MIRA และ SUBCON Thailand : The East 2024 โดยได้นำภาคีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมร่วมจัดแสดงเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงเพื่อส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตของไทยได้แสดงศักยภาพและคุณภาพของสินค้า


การจัดงาน "Mira and Subcon Thailand: The East 2024" ตั้งแต่วันนี้-6 กันยายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา เป็นงานที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีหมุดหมายที่สำคัญในการสร้างโอกาสสำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกได้พบปะกับผู้ซื้อ ผู้ผลิตและนักลงทุน พร้อมกันนี้ยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมและโซลูชันการผลิตชั้นสูง ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการนำพาไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดซื้อชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียนในทศวรรษนี้

รวมทั้งยังนำทีมหุ่นยนต์กู้ภัย IRAP ROBOT จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับภาคอุตสาหกรรม และนวัตกรรมหุ่นยนต์ Service Robot ที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี โดยทีมจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มาจัดแสดงพร้อมเปิดเวทีแข่งขันเชื่อมโลหะ โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม (WelDa) เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น