- • สถานการณ์ยากลำบาก: ทีวีดิจิทัลเผชิญศึกหนักทั้งจากคู่แข่งในสนามเดียวกัน กฎข้อบังคับที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจ และบริการสตรีมมิ่งที่แข็งแกร่ง
- • การแข่งขันดุเดือด: ทีวีดิจิทัลต้องแข่งขันกับทั้งสถานีทีวีดิจิทัลอื่นๆ และบริการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่
- • กฎระเบียบที่ไม่เอื้อ: กฎข้อบังคับบางอย่างอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของทีวีดิจิทัล
- • สตรีมมิ่งรุกหนัก: บริการสตรีมมิ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อฐานผู้ชมของทีวีดิจิทัล
- • ฐานผู้ชมลด: ฐานผู้ชมทีวีดิจิทัลลดลงเหลือเพียง 15% เท่านั้น
- • ความท้าทาย: ทีวีดิจิทัลต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในยุคสตรีมมิ่ง
การตลาด - กดรีโมทฉายภาพ 10 ปีทีวีดิจิทัล ต้องแกร่งแค่ไหนกับศึกที่ไม่ได้มีแค่คู่แข่งในสนามเดียวกัน ภายใต้สภาวะกฏข้อบังคับที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจ แถมเจอสตรีมมิ่งคลื่นลูกยักษ์เข้าซัดจนแทบทรุด เคราะห์ซ้ำฟากคนดูทีวียังลดเหลือ 15% ของจำนวนครัวเรือนเข้าไปอีก ทำให้เม็ดเงินโฆษณาบนสื่อทีวีถดถอยลงเรื่อยๆ ในวาระ 10 ปีทีวีดิจิทัล รวมพลังคนทีวี จับมือกสทช. จัดงาน “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” ภายใต้แนวคิด Beyond the Next Step ปักหมุดหาคำตอบ นับถอยหลังอีก 5 ปี ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดลง กลุ่มเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล ถามหาความชัดเจนจากกสทช. เพื่อวางแผนรับมือต่อไป
ทีวีดิจิทัล ถือเป็นสื่อที่สื่อสารสู่เป้าหมายได้มากที่สุด ให้คนไทยเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งการเดินทางของทีวีดิจิทัลตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปี 2557 ถือเป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทีวีไทยให้เกิดการพัฒนาจากอะนาล็อกสู่ดิจิทัล และจากที่มี 4-5 ช่อง เพิ่มเป็น 10-20 ช่อง พากันวิ่งกันมาจนเหลือไม่กี่ช่อง เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ส่งผลให้หลายช่องต้องถอดใจและถอนตัวออกไป ไม่ว่าจะเป็นฟอร์แมทแพลตฟอร์มการรับชมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมคนดูทีวีก็เปลี่ยน เม็ดเงินโฆษณาก็เปลี่ยนใจไปอีกเช่นกัน ช่วง10 ปีมานี้ จึงเป็นบทเรียนราคาแพงให้กับผู้คุมกฏ และผู้ปฏิบัติตามกฏ ให้ต้องรีบกดปุ่มรีโหมดกันใหม่ เพื่อหาทางออกให้กับ อนาคตของทีวีดิจิทัล กับ 5 ปีที่เหลือก่อนและหลังใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดลง ในปลายเดือนเม.ย. 2572 นี้
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนส.ค. ที่ผ่านมา แวดวงทีวีดิจิทัลได้เคลื่อนไหว นำโดยกสทช. ที่ผนึกกำลังกับสมาคมทีวีดิจิทัลและทีวีสาธารณะทุกช่อง จัดงาน “ 1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” Beyond the Next Step ขึ้นมา เพื่อระดมสมองบุคคลในแวดวงวงการโทรทัศน์และผลิตคอนเทนต์ระดับโลก กว่า 20 คน ร่วมแสดงวิสัยทัศน์อนาคตทีวีดิจิทัลในฐานะ “โทรทัศน์แห่งชาติ” ก่อน และหลังสิ้นสุดในอนุญาตปี 2572
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ทีวีดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกอากาศในระบบดิจิทัลภาคพื้นดินมาเป็นระยะเวลา 10 ปี ล่าสุดในปี2567นี้ทางสมาคมฯ, ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลภาคธุรกิจ และผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลภาคสาธารณะทุกช่อง โดยการสนับสนุนจากกสทช. มีความเห็นร่วมกันในการจัดงาน “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” ภายใต้แนวคิด Beyond the Next Step ซึ่งเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย สู่เป้าหมายแสดงศักยภาพในปัจจุบันและอนาคตของการเป็น “โทรทัศน์แห่งชาติ” สื่อหลักที่เข้าถึงคนไทยแบบไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งมีบทบาทต่อความเป็นไปในสังคม และเป็นแพลตฟอร์มหลักของคอนเทนท์ที่เป็น Soft Power อย่างแท้จริง
“การจัดงานครั้งนี้ วัตถุประสงค์หลัก เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในบทบาทและภารกิจของกสทช. กับทีวีดิจิทัล 20 ช่องในระยะเวลาที่ผ่านมา 10 ปี และการมองทิศทางอนาคตในระยะต่อไปอีกประมาณ 5 ปี ก่อนและหลังใบอนุญาตทีวีดิจิทัลภาคเอกชนจะสิ้นสุดในปลายเดือนเมษายน ปี 2572 เพื่อให้สังคมไทยได้ตระหนักรู้ถึงบทบาท และภารกิจของทีวีดิจิทัลที่ยังคงทำหน้าที่สื่อสารมวลชนหลักของประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของทีวีดิจิทัลอย่างมากในหลายด้าน ในขณะที่พฤติกรรมของผู้ชมเปลี่ยนไป มีทางเลือกในการรับข่าวสารและความบันเทิงมากขึ้นทางโซเชียลมีเดีย แต่ผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานของทีวีดิจิทัลทั้ง 20 ช่อง ยังคงยืนหยัดภารกิจการทำหน้าที่ โทรทัศน์แห่งชาติ ในฐานะสื่อหลักของประเทศ ที่สังคมยังให้ความไว้วางใจได้อย่างต่อเนื่องบนความรับผิดชอบสูงสุดต่อสังคม” นายสุภาพ กล่าว
l** ทิศทางทีวีดิจิทัลหลังสิ้นสุดใบอนุญาตปี 2572
การจัดงานครั้งนี้ เริ่มต้นด้วย สนทนาพิเศษในหัวข้อ ทีวีดิจิทัล “โทรทัศน์แห่งชาติ” โดยนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้เกริ่นนำและสอบถามกับ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. ว่า อยากให้เวทีนี้เป็นการหาทางออก เพราะเหลือเวลาอีกสี่ปีกว่าที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ เมื่อหมดอายุแล้วจะเอาอย่างไรกัน เป็นปัญหาเฉพาะหน้าถ้าไม่ชัดเจนเราจะตั้งหลักไม่ได้ เวทีนี้จึงเป็นคำตอบสู่ 4 ปีข้างหน้า
“ที่ผ่านมากับการประมูลทีวีดิจิทัล รวมมูลค่า 50,000 ล้านบาท ทางกสทช. กำหนดให้ดูทีวีดิจิทัลผ่านกล่อง Set Top Box แต่ความจริงกล่องมันดูไม่ได้ หรือดูได้แค่ 10% กสทช. ควรเยียวยา เพราะเราเสียหาย หรือชดเชยด้วยการออกกฏมาผ่อนปรนช่วยเหลือ ซึ่งเหลือเวลาแค่ 4 ปีกว่าที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ จะเอาอย่างไรกันต่อ ถ้าไม่มีการประมูล อยากให้แก้กฏหมายคลื่นความถี่ การต่อใบอนุญาตจะเป็นอย่างไรหากไม่มีการประมูลต่อ คำตอบควรมีให้คร่าวๆ เพื่อให้เราตั้งรับได้ทัน” นายสุภาพ กล่าวถาม
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. ได้ให้คำตอบว่า อนาคตคงไม่มีการประมูลแล้ว เวลานี้เราต้องทำไปด้วยกัน ร่วมมือกันหาทางออก เพราะไปถึงจุดๆ หนึ่งเทคโนโลยีอาจจะเปลี่ยนไปอีกก็ได้ เราจึงต้องทำงานร่วมกัน ทั้งในแง่กฎหมายและเทคโนโลยี เพื่อทำให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลยังคงอยู่
ด้านนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ช่อง ONE31, GMM25) กล่าวย้ำว่า ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของทีวีดิจิทัลในปี2556 เป็นช่วงล้มลุกคลุกคลาน ต้องเปลี่ยนให้เร็ว เราปฏิบัติตามกฏจนผ่านมาได้ ภายในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ จนวันนี้คนดูทีวีน้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่าคนดูคอนเทนท์น้อยลง เราต้องเตรียมการและไม่ลืมปัจจุบัน เพราะการตกงานเป็นสิ่งที่น่ากลัว แม้จะดูเหมือนเหลือเวลาอีก 4-5 ปี ที่ใบอนุญาตจะหมดลง แต่มองว่าอยากให้มีความชัดเจน เพื่อวางแผนรับมือ
“ความสำคัญของทีวียังจำเป็น ทุกวันนี้การทำคอนเทนท์ต้องหาวิธีที่จะนำไปเสนอทางแชนแนลต่างๆ ได้ เราต้องแคร์กับทุกดิสทริบิวชั่นแชนแนล ที่มีความเป็นไปได้ ทีวีดิจิทัลก็ยังเป็นส่วนสำคัญอยู่เพราะเป็นตัวหลัก ทีวีสำคัญเพราะมันคือเนชั่นแนลเป็นสื่อที่คนดูทั้งหมดจะดูพร้อมกันจะทำให้เกิดกระแสและต่อยอดได้ เราอย่าปฏิเสธในสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และควรเปิดรับสิ่งใหม่ใหม่ด้วยๆ” นายถกลเกียรติ กล่าว
นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ไทยรัฐทีวี) กล่าวในหัวข้อ Ecosystem ระบบนิเวศสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ทีวีต้องแข่งขันทั้งภายในและภายนอก หน่วยงานหรือกสทช. ควรเข้ามาสนับสนุนให้เราไปต่อได้ มีงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือให้เราทำคอนเทนท์ที่ดีมีประโยชน์ เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะช่วยอุตสาหกรรมได้ เพราะปัจจุบันค่าคอนเทนท์สูงขึ้นทุกวัน ทุกอย่างราคาขึ้นหมด เราจะผลิตคอนเทนท์ให้ถูกใจประชาชนที่ชอบได้มันต้องใช้ทุนเยอะ
“ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการเล่นไปตามกฎของกสทช. มันทำให้เราทำงานยากขึ้น เพราะผู้ชมมีทางเลือก พอเราอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เราไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนกับผู้เล่น OTT และภายใน 5 ปีนี้ ผู้ประกอบการต้องการความชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพราะ 5 ปีเหมือนนานแต่จริงๆ มันแป๊บเดียว ซึ่งมันต้องเริ่มวางแผน วางรากฐาน ตั้งแต่วันนี้แล้ว สิ่งที่พวกเรากำลังเรียกร้อง คือ จะเป็นอย่างไรกันแน่กับ 5 ปีที่จะถึงนี้ ว่าจะต่อประมูลไหม หรือว่าต่อได้เลย ไม่ว่าจะออกมาอย่างไรทุกคนรับได้หมด เพียงขอความชัดเจน” นายวัชระ กล่าว
นายประวิทย์ มาลีนนท์ อดีตผู้บริหาร บริษัทกลุ่มบีอีซีเวิลด์ เจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ปัจจุบันคอนเท้นท์ที่ทำรายได้หลักให้ทางสถานีโทรทัศน์ อย่างเช่น ละคร เฉลี่ยมีเพียง 1 ชม./ วัน/ สถานี ที่สามารถขายลิขสิทธ์ไปต่างประเทศหรือไปแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ ถ้าไม่มีใครเข้ามาดูและช่วยเหลือ หากเป็นอย่างนี้ต่อไป คนทีวีจะไม่มีงานทำ ถ้าบุคคลากรในอุตสาหกรรมไม่มีงานทำก็ไม่สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ อยากให้กสทช. เปลี่ยนมายด์เซ็ท เปลี่ยนจากการควบคุมมาเป็นส่งเสริมไม่ใช่จับผิด จะดีต่อทีวีดิจิทัล อีกเรื่องคือ ทราบว่ายังมีงบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท สำหรับช่วยทีวีดิจิทัล เราจะเอาออกมาใช้ได้อย่างไร ในสถานการณ์ที่เรากำลังเจอวิกฤตต่างๆ เวลานี้
นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ อุปนายกฯ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวในหัวข้อ อนาคตโทรทัศน์เมื่อคนดูมีทางเลือกว่า หนทางของทีวีดิจิทัล ในระยะยาวเราต้องหาทางไปให้ได้ โดยเราได้เริ่มเข้าไปพูดคุยกับคณะทำงานของกสทช. ตั้งแต่กันยายนปีที่แล้ว เพราะมองว่า 4-5 ปีที่เหลือนี้มันจะไม่ทัน ในสถานการณ์ที่คนดูทีวีเหลือ 15.6% ของจำนวนครัวเรือน ดูผ่าน OTT 18.7% (2024) มันถึงยุคบิ๊กแพลตฟอร์มคัลเจอร์มีอำนาจให้แพลตฟอร์มอื่นๆ ต้องปฏิบัติตาม เราจึงต้องพยายามหารายได้จากการขายลิขสิทธิ์คอนเทนท์ไปต่างประเทศ หรือขายคอนเทนท์บนTV ไปทุกแพลตฟอร์ม
“วันนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะ10 ปีที่ผ่านมาแต่ละช่องปรับตัวกันเอง ปัจจุบันมีโปรแกรมที่รีรันเยอะมาก ขายของเยอะมาก เป็นวิธีการของการเอาตัวรอด สุดท้ายผู้บริโภคประชาชนจะได้อะไร และเราจะได้อะไรจากโทรทัศน์แห่งชาติ เราได้ทำงานเชิงรุกอย่าง USA เกาหลี และอังกฤษ แล้วหรือยัง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งตลอด 10ปี ที่ผ่านมา เชื่อว่ากสทช. มีความพยายามในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีอยู่แล้ว แต่ติดอยู่ที่กฎหมายที่ออกมากำกับ ทางสมาคมฯ และกสทช. จะมาช่วยกันประคับประคองดูแลให้แพลตฟอร์มนี้ อยู่คู่กับประเทศไทย ดังนั้น 4-5 ปีที่เหลือนี้ อยากให้กสทช. มีนโยบายออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล”
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านโทรทัศน์ กล่าวว่า คิดว่ากสทช. จะต้องศึกษาโมเดลต่างๆ แล้ว วันนี้ควรแอ็คชั่นได้แล้วว่าควรจะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น
ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ อดีตกรรมการกสทช. กล่าวว่า ตนเข้ามาช่วงออนไลน์เริ่มมา การคาดการณ์ตอนนั้นเกินกว่าที่มองไว้ ตอนหลังจึงเห็นชัดว่าเป็นออนดีมานด์ ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด แต่มองว่าทีวีดิจิทัลยังมีบทบาทสำคัญ อีก 5 ปี 10 ปี ก็ยังสำคัญแต่แน่นอนว่าน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งอีก 5 ปีจะหมดไลเซ่น เชื่อว่าทุกช่องจะเป็น HD หมด กฎระเบียบบางอย่างที่ทำให้ต้นทุนสูงควรยกเลิกไป กสทช. ช่วยได้สองแบบ 1.สนับสนุนงบประมาณ 2.ลดปัญหาที่ทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถทำธุรกิจได้ เช่น ปัญหาที่ทำให้เกิดต้นทุน ค่าใช้จ่าย กฏระเบียบต่างๆ ลดปัญหาให้ผู้ประกอบแพลตฟอร์มทีวีแห่งชาติ มองเป็นเรื่องที่ดี ทำได้
ดร.พิรงรอง รมสูตร กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ทิศทางโทรทัศน์ดิจิทัล หลังสิ้นสุดใบอนุญาต 2572 มองออกเป็น 3 แบบ 1.มองลบที่สุด ล่มสลาย 2.มองแบบสมดุล มีการแทรกแซง ทั้งทางนโยบายและกฏหมายโดยรัฐเป็นผู้กำกับดูแล 3.มองว่ามีการลงทุน อัปเกรด ทั้งคอนเท้นท์ และแพลตฟอร์ม ยกระดับมาตรฐาน นำทีวีไทยแพลตฟอร์มระดับโลก ทั้งหมดนี้รัฐต้องมีนโยบายระดับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งข้อที่ 3 มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเกิดขึ้น
นางสาวรัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดียบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด ได้เผยข้อมูลว่า ปัจจุบันผู้ชมมีพฤติกรรมการดูทีวี 87%, ดูสตรีมมิ่ง 52%, Live TV 71% หมายความว่า ช่วงเวลาหนึ่งคนไทยดูคอนเท้นท์มากกว่า 1 สกรีน คนไทยมีทางเลือกในการเสพสื่อมากมาย
นอกจากนี้พบว่า เมื่อมีเวลาว่าง 57% คนไทยดูทีวี ซึ่งดูจากหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์ทีวี หรือ Streaming, ฟังเพลง 41% และเล่นกีฬา 33% ขณะที่มากกว่า 67% ของการดูทีวี จะดูจาก Streaming แบบจ่ายเงิน 48% แบบดูฟรี 64% ส่วนอุปกรณ์ในการดูคอนเทนท์ คือ ทีวี 56%, สมาร์ทโฟน 55%, แล็ปท็อป/ คอมพิวเตอร์ 9% และแท็บเล็ต 6%
“ผลจากพฤติกรรมคนดูทีวีที่เปลี่ยนไป ทำให้ทีวีมีเม็ดเงินโฆษณาลดลง แต่แบรนด์ต่างๆ ยังให้ความสำคัญ เวลาแบรนด์ลงโฆษณาจะให้ความสำคัญว่าคนจดจำได้หรือเปล่า ซึ่งการลงในสื่อทีวีจะให้ในเรื่องลองเทอมแบรนด์ดิ้งได้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับสื่ออื่นๆ ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มทีวีเปลี่ยนแปลงไปมาก วันนี้การใช้สื่อโฆษณาจะต้องมีการผสมผสานกัน แม้ Streaming จะเป็นทางเลือกที่มีการเติบโตเร็วมาก แต่การดูทีวีมีหลากหลายแพลตฟอร์มให้คนเข้าไปดู เราจะต้องตามเทรนด์ให้ทันเพราะในอนาคตจะมีเพิ่มเข้ามาอีก“ นางสาวรัญชิตา กล่าวสรุป.