- • NIA และ ส.อ.ท. ร่วมผลักดัน Deep Tech Startup โดยเปิดตัว 11 สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ
- • เป้าหมายโครงการ: ส่งเสริมสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อขยายตลาดและแก้ปัญหาให้ภาคอุตสาหกรรม
- • การสนับสนุน: โครงการมีเป้าหมายให้สตาร์ทอัพได้เข้าถึงเครือข่ายนักลงทุน, ภาคอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญ
- • เปิดรับพันธมิตร: โครงการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อช่วยเหลือและผลักดัน Deep Tech Startup
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ ส.อ.ท. เปิดตัว 11 ดีพเทคสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ ส่งเสริมสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกสู่การขยายตลาดและแก้ปัญหาให้ภาคอุตสาหกรรม พร้อมเปิดรับพันธมิตรสำหรับการเชื่อมโยงธุรกิจและร่วมทดสอบการใช้งานผลิตภัณฑ์หรือบริการ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาคอุตสาหกรรม การศึกษา และนักลงทุน เปิดตัว 11 ดีพเทคสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ “ส่งเสริมสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกสู่การขยายตลาด หรือ FTI DeepTech Startup Connext 2024” โดยเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาให้ภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเปิดรับพันธมิตรสำหรับการเชื่อมโยงธุรกิจและร่วมทดสอบการใช้งานผลิตภัณฑ์หรือบริการร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567
นางสาวกริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA เห็นความสำคัญของการพัฒนาดีพเทคสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่มีความซับซ้อนบนพื้นฐานการวิจัยขั้นสูง สามารถช่วยสร้างตลาดใหม่เนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นส่วนใหญ่จะถูกปกป้องด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ จึงสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันหรือเป็นอุปสรรคต่อคู่แข่งได้ ซึ่ง NIA ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“NIA จึงได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกสู่การขยายตลาด ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเฟ้นหาและคัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีความสามารถพร้อมแก้ปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และอินเทอร์เน็ตสำหรับสรรพสิ่ง เทคโนโลยีหุ่นยนต์และโดรน วัสดุใหม่และนาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมุ่งสร้างโอกาสการจับคู่และร่วมมือทางธุรกิจกับภาคอุตสาหกรรมของไทยให้เกิดการทดสอบใช้งานเป็นต้นแบบระดับภาคอุตสาหกรรม โดยผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมา สามารถสร้างยอดขายให้กับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 300 ล้านบาท นับว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีความพร้อม เพิ่มผู้ใช้งาน และสามารถขยายการใช้งานทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ต่อไป” นางสาวกริชผกากล่าว
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า ส.อ.ท.มีนโยบายขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย จึงร่วมมือกับ NIA เพื่อเชื่อมระหว่างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีช่องทางขยายการใช้งานสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. มากกว่า 11,000 ราย และภาคธุรกิจอื่นๆ รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตร ที่ร่วมกันเฟ้นหา คัดเลือก และพัฒนาศักยภาพให้คำแนะนำกับสตาร์ทอัพให้สามารถปรับกลยุทธ์ด้านการสร้างตลาด การเตรียมข้อมูลเสนอลูกค้า การเจรจาต่อรอง รวมถึงเทคนิคการทดสอบการใช้งานลูกค้า อีกทั้งแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกจำนวน 11 รายที่ได้รับการคัดเลือกการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน ได้แก่ 1) AltoTech Global: แพลตฟอร์มวิเคราะห์ ตรวจสอบ และจัดการการใช้พลังงานภายในอาคารด้วย AIoT 2) Green EMS: ระบบบริหารจัดการพลังงานสีเขียว ด้วยการจัดการพลังงานแบบกระจายศูนย์ในโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ 3) Thilium: ฉนวนและสีทาอาคารประหยัดพลังงานด้วยซิลิกาแอโรเจล
ระบบบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้แก่ 4) iCube: แพลตฟอร์มการบริหารจัดการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างโมเดลในการพยากรณ์ข้อมูลต่างๆ ในโรงงานอุตสาหกรรมด้วย Generative AI
ระบบบำรุงรักษาเครื่องจักรเชิงคาดการณ์เพื่อลดความเสียหายของเครื่องจักร ได้แก่ 5) Cleantech & Beyond: ฉลากอัจฉริยะสำหรับการตรวจสอบความร้อนของเครื่องจักรในงานบำรุงรักษาเชิงป้องกันด้วย Digital Temperature Indicator 6) Zycoda: ระบบบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงแบบครบวงจรด้วย anomaly detection algorithm AI และ ML
ระบบบำบัดน้ำเสียประสิทธิภาพสูง ได้แก่ 7) Wonder Bubble: ระบบบำบัดน้ำเสียใช้เทคโนโลยีชีวภาพร่วมกับการใช้ Micro-nano bubble ช่วยลดการใช้พลังงาน ช่วยลดกลิ่นเหม็น ช่วยย่อยสลายตะกอนและไขมัน
การเปลี่ยนกลิ่นเป็นดิจิทัลที่ตรวจวัดได้ ได้แก่ 8) ENVI SENSE: สถานีตรวจวัดกลิ่นและคุณภาพอากาศแบบออนไลน์ และบริการตรวจวัดกลิ่นรบกวน
การเพิ่มประสิทธิภาพงานทรัพยากรบุคคลและการทำงาน 9) Job Solution: ระบบสัมภาษณ์งานออนไลน์และประเมินสมรรถนะของผู้สมัครงานด้วยเทคโนโลยี AI 10) Dynamic Intelligence Asia: ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าและสามารถจำแนกเอกลักษณ์ของมนุษย์แต่ละบุคคลได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการรักษาความปลอดภัย
สารเติมแต่งคุณภาพสูง ได้แก่ 11) Ecoguard plus: ระบบอนุภาคนาโนกักเก็บสารเอทิลลออยล์อาร์จิเนตเป็นสารกันเสียทางเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง
เพื่อขยายการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น ในปีนี้ จึงได้จัดงาน FTI Matching Day ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และมีนิคมอุตสาหกรรมและภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยจะได้พบกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2566-2567 มากกว่า 20 ราย เพื่อให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ ร่วมนำเทคโนโลยีไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น