- • วิทยุการบินฯ จัดการประชุม Airspace Users - ANSP Meeting ประจำปี 2567
- • ร่วมกับสายการบิน, กองทัพอากาศ, และผู้ใช้ห้วงอากาศ
- • เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
- • มุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการจราจรทางอากาศ
- • บริหารจัดการห้วงอากาศรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้น
วิทยุการบินฯ จัดการประชุม Airspace Users - ANSP Meeting ประจำปี 2567 ร่วมกับสายการบิน กองทัพอากาศ และผู้ใช้ห้วงอากาศ รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาการให้บริการจราจรทางอากาศ บริหารห้วงอากาศ เพิ่มขีดความสามารถการรองรับเที่ยวบิน ดันไทยสู่ศูนย์กลางการบิน
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ( บวท.) กล่าวว่า วิทยุการบินฯ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ จึงได้จัดการประชุมร่วมกับ ผู้ใช้ห้วงอากาศ หรือ Airspace Users ได้แก่ ผู้แทนจากสายการบิน คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Airline Operators Committee: AOC) หน่วยงานด้านความมั่นคง สมาคมนักบิน โรงเรียนการบินและหน่วยงานเอกชนที่ให้บริการด้านการบิน เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานด้านต่างๆ
เช่น การบริหารจัดการการใช้ห้วงอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทาง Flexible Use of Airspace ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับกองทัพอากาศ เพื่อให้การใช้ห้วงอากาศถูกจัดสรรตามความต้องการของใช้งาน สามารถรองรับการใช้งานทั้งในภารกิจด้านความมั่นคงและภารกิจด้านการบินพลเรือน เพิ่มระดับความปลอดภัยและเพิ่มความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ความร่วมมือในการจัดทำเส้นทางบินใหม่จากไทยไปยังลาวและเชื่อมต่อไปยังจีน ซึ่งจะช่วยลดการกระจุกตัวของเที่ยวบิน ลดระยะทางการบิน ลดการสิ้นเปลืองน้ำมันของเครื่องบิน นอกจากนี้ ได้นำเสนอความพร้อมในการเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งในด้านการออกแบบวิธีปฏิบัติการบิน การติดตั้งเครื่องช่วยการเดินอากาศ และการจัดทำ Safety Assessment ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการมั่นใจในความปลอดภัยและประสิทธิภาพการให้บริการ
ทั้งนี้ การเพิ่มขีดความสามารถ (Capacity) ในการรองรับเที่ยวบินจะต้องดำเนินการ ทั้งในด้านการบริหารจัดการการใช้ห้วงอากาศ (Airspace Management) การบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) การจัดทำเส้นทางบิน (Routes)และการดำเนินงานร่วมกับท่าอากาศยาน ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือกับสายการบิน หน่วยงานด้านความมั่นคง รวมถึงหน่วยงาน Stakeholdersจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล