xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” พร้อมชง ครม.ใหม่เคาะ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ยันใช้ได้ปลายปี 68 ต่อมาตรการราคา 20 บาท-สนข.ศึกษาซื้อคืนสัมปทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สุริยะ" พร้อมดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯชง ครม.ชุดใหม่ ยอมรับไทม์ไลน์ช้า 1 เดือนแต่มั่นใจบังคับใช้ในปี 68  พร้อมนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาททุกสี ทุกสาย และเตรียมชงต่ออายุมาตรการ เผยครบ 1 ปีผู้โดยสาร "แดง-ม่วง" เพิ่มกว่า 26% ยันลุยซื้อคืนสัมปทานคืน เตรียมจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์แนวทางเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้สรุปการศึกษาร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ…และเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้วเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2567 เพื่อรอบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  แต่ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลง ครม.ใหม่ จึงต้องรอให้ ครม.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการก่อน จากนั้นกระทรวงฯ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ไปอีกครั้ง 

ทั้งนี้ ยอมรับว่าไทม์ไลน์ของ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ อาจจะล่าช้าออกไปประมาณ 1 เดือน ซึ่งได้หารือกับทางเลขาฯ คณะกรรมการกฤษฎีกาในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว หลัง ครม.เห็นชอบจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ พ.ศ. และจะนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภา เป้าหมายจะเร่งรัด พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ต.ค. 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะขยายใช้กับรถไฟฟ้าทุกสายต่อไป


@ชง ครม.ใหม่ต่อมาตรการ 20 บาท

นายสุริยะกล่าวว่า นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทตลอดสายที่ได้ดำเนินการมาเกือบ 1 ปีแล้ว สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้รายงานว่าจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567) เพิ่มขึ้น 26.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและช่วยลดค่าครองชีพได้อย่างเป็นรูปธรรม

จากข้อมูลยังระบุว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดงมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 51.15% และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เพิ่มขึ้น 17.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน ปริมาณผู้โดยสารยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้โดยสารประจำเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่ามีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง รวม 2,166,099 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ที่มีผู้ใช้งานจำนวน 2,014,473 ราย ขณะที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงมีผู้ใช้บริการรวม 982,825 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ที่มีผู้ใช้บริการ 899,389 ราย

“ยืนยันว่านโยบายเดินหน้ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายต่อเนื่อง และจะเสนอ ครม.ชุดใหม่ต่ออายุมาตรการที่จะครบในวันที่ 30 พ.ย. 2567”


รายงานข่าวแจ้งว่า ครม.มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 โดยให้เริ่มต้นเมื่อระบบมีความพร้อมจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่ง รฟท.และ รฟม. ได้ให้เริ่มใช้อัตรา 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ทันที ส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีแดงที่ก่อนเริ่มนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท มีปริมาณผู้ใช้บริการเฉลี่ยในวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) อยู่ที่ 21,813 คน-เที่ยว/วัน แต่หลังจากเริ่มนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30,952 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้น 41.90% และสามารถทำสถิติผู้ใช้บริการสูงสุด (New High) ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ก.ค. 2567 อยู่ที่ 41,319 คน-เที่ยว

ส่วนสายสีม่วงทำสถิติผู้ใช้บริการสูงสุด (New High) ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ส.ค. 2567 มีผู้ใช้บริการจำนวน 87,352 คน-เที่ยว สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ รฟม.ประมาณการ โดยรฟม.ตั้งงบประมาณชดเชยรายได้สายสีม่วงตามนโยบาย 20 บาทตลอดสายไว้ที่ 190 ล้านบาท/ปี แต่คาดว่าครบ 1 ปีจะใช้เงินชดเชยต่ำกว่าที่คาดไว้


@ลุยซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า-สนข.เร่งศึกษาโมเดลเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

นายสุริยะกล่าวถึงแนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากเอกชนกลับมาเป็นของรัฐบาลนั้น ขณะนี้เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษารายละเอียดในทุกมิติเพื่อความรอบคอบ พร้อมทั้งพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย และคำนวณรายได้และค่าใช้จ่าย ทั้งต่อวัน, ต่อเดือน และต่อปี เป้าหมาย การซื้อคืนโครงการรถไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนจะได้รับบริการในราคาที่ถูกลง สนับสนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และยืนยันว่าจะไม่กระทบเอกชนที่เป็นคู่สัญญา และได้รับรายได้กลับไปอย่างเหมาะสม

ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงาน UK PACT โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร ในการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ความเป็นไปได้ในการนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดส่งเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่จัดตั้งโดยกระทรวงการคลัง

“ศึกษา Congestion Charge เพื่อใช้กำหนดรูปแบบ และวิธีการ ตลอดจนค่าธรรมเนียมในการนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาในเขตพื้นที่ที่มีความติดขัดของการจราจรสูง โดยจะต้องศึกษามาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล และประเทศไทย ซึ่งในพื้นที่นั้นๆ จะต้องมีการพัฒนาระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้า และรถขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม และมีความสะดวกในการใช้งานแล้ว”


กำลังโหลดความคิดเห็น