กระทรวงคมนาคม โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมเวิร์กชอประบบ Port Community System หรือ PCS ภายโต้โครงการงานจ้างเหมาพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) แพลตฟอร์มกลางของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือของไทย บูรณาการข้อมูลด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายการขนส่ง (Intermodal Transport) ทุกรูปแบบ และสนับสนุนการพัฒนาบริการของการท่าเรือฯ ไปสู่การเป็นท่าเรือมาตรฐานระดับสากล (World Class Port)
นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้พัฒนาระบบ PCS ของประเทศไทย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือของไทย บูรณาการข้อมูลด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายการขนส่ง (Intermodal Transport) ทุกรูปแบบและสนับสนุนการพัฒนาบริการของการท่าเรือฯ ไปสู่การเป็นท่าเรือมาตรฐานระดับสากล (World Class Port)
ระบบ PCS ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การขนส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมการขนส่งสินค้าของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาคเอกชน อาทิเช่น ผู้ประกอบการสายเรือ ผู้ประกอบการ Terminal ผู้นำเข้า-ส่งออก ผู้ประกอบการคลังสินค้า ผู้ประกอบการรถบรรทุก เป็นต้น
"ระบบ PCS จะเป็นการเสริมสร้างโอกาสใหม่สำหรับธุรกิจไทย ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ และยังช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทยไปยังอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเลของโลก จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น" นายทวีศักดิ์กล่าว
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำเรือแห่งประเทศไทยกำลังพัฒนาระบบ PCS เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการขนส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือ โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทีทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ สามารถตรวจบสถานะสินค้าได้ตลอดเวลา ลดต้นทน ลดระยะเวลา และลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการนำเข้าและส่งออกสินค้า ผ่านท่าเทียบเรือประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมศุลกากร กรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการในภาคเอกชน สายเรือ ผู้ประกอบการ Terminal ผู้นำเข้า-ส่งออก ผู้ประกอบการคลังสินค้า ผู้ประกอบการรถบรรทุก เป็นต้น
"ทุกท่านมีส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ระบบ PCS ของประเทศไทย ให้สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ การประชุมเวิร์กชอปในวันนี้จะมีการนำเสนอภาพรวมและรายละเอียดของระบบ PCS ที่ได้ออกแบบไว้ พร้อมทั้งจะมีโปรแกรม Prototype ให้ทุกท่านสามารถทดลองใช้งาน ซึ่งข้อเสนอแนะที่ได้รับในวันนี้ เราจะนำไปพัฒนาระบบ PCS ให้เหมาะสมต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานจริงได้ประมาณกลางปี 2568" นายเกรียงไกรกล่าว
เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร กล่าวว่า "การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้มุ่งมั่นพัฒนากิจกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเล ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รองรับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ให้มีมาตรฐานและมีความเป็นสากล โดยระบบ PCS ที่ได้พัฒนาขึ้นนี้ ประกอบไปด้วย 7 โมดูลหลักที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการด้านการขนส่งสินค้าทางทะเล (Logistics) ของประเทศ คือ กิจกรรมเรือ (Vessel) กิจกรรมการนำเข้า (Import) กิจกรรมการส่งออก (Export) กิจกรรมศุลกากร (Customs) กิจกรรมตู้และสิะสินค้า (Container & Cargo) กิจกรรมขนส่งด้านหลังท่า (Hinterland) และบริการข้อมูลทางธุรกิจอัจฉริยะ (PCS Intelligence)"
งานประชุมเวิร์กชอปในวันนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะร่วมกับขับเคลื่อนและพัฒนาระบบ PCS ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเท่าทันโลก และขอขอบคุณผู้มีเกียรติทุกท่าน ตัวแทนจากสมาคมต่าง ๆ รวมถึงทีมงานกิจการค้าร่วม FB Consortium นำโดย บริษัท ฟิกท์ แอสโซซิเอท จำกัด ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบฯ ท้ายที่สุดนี้ ข้อคิดเห็นของท่านที่ได้เสนอแนะร่วมกันในวันนี้ จะถูกนำไปวิเคราะห์และสรุปผล เพื่อนำเสนอในการประชุมเวิร์กชอปครั้งถัดไป เพื่อให้ระบบ PCS เป็นระบบฯ ที่ตรงตามความต้องการใช้งานของประเทศไทยอย่างแท้จริง และรองรับการใช้งานในระดับโลกต่อไป
การจัดงานประชุมเวิร์กชอประบบ Port Community System หรือ PCS ของประเทศไทย ได้รับเกียรติจากนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานประชุมฯ โดยมีนายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ พร้อมด้วยสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย สมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับมาตรฐานเออีโอ สมาคมขนส่งสินค้าน้ำเข้าและส่งออก ผู้บริหาร พนักงาน กทท. และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ โรงแรม Novotel Bangkok Suvarnabhumi Airport