ทอท.เร่งทบทวนแผนแม่บทพัฒนา "สุวรรณภูมิ" เตรียมสร้างอาคารผู้โดยสารทิศใต้ อัปไซส์รับเพิ่มได้ถึง 70 ล้านคน/ปี ลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ผุดรันเวย์ 4 อีก 2 หมื่นล้านบาท ไม่สร้างอาคาร SAT-2 ศึกษาจบ ก.พ. 68 ชง ครม. ส่วนอาคารตะวันออก 1 หมื่นล้านบาท เปิดประมูล ธ.ค. 67
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ทอท.อยู่ระหว่างการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อรองรับ 150 ล้านคน/ปี โดยมุ่งพัฒนาตามแผนแม่บทเดิม แต่จะมีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สอดคล้องและรองรับการเดินทางในอนาคต และเป็นศูนย์กลางการบิน ซึ่งคาดว่าจะศึกษาภาพรวมแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2568
หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการออกแบบรายละเอียด โดยจะมีอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทเดิม ใช้เวลาออกแบบประมาณ 14 เดือน จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติงบประมาณดำเนินการคาดใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เบื้องต้นเปิดประมูลได้ในต้นปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีครึ่ง แล้วเสร็จเปิดให้บริการปลายปี 2574
สำหรับอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) คาดวงเงินลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 70 ล้านคนต่อปี จะมีขนาดใหญ่กว่าอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) ในปัจจุบัน เป็นการเพิ่มการเดินทางเข้าท่าอากาศยาน ด้านทิศใต้ จากถนนบางนา-ตราด และจะมีการต่อเชื่อมทางพิเศษบางนา-ชลบุรี เข้าสู่อาคารด้วยเพื่อความสะดวก
“แนวคิดในการออกแบบอาคารผู้โดยสารด้านใต้จะนำข้อด้อยของอาคารผู้โดยสารหลักในปัจจุบันมาปรับปรุงแก้ไข เช่น ถนนด้านหน้าอาคารหลักมีพื้นที่สำหรับรับส่งผู้โดยสารน้อย เพราะถนนหน้าอาคารมีความยาวประมาณ 400 เมตร ซึ่งน้อยเกินไป ทำให้เกิดปัญหาจราจร ดังนั้น อาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้จะออกแบบเป็นตัวยู มีขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ด้านหน้าอาคารผู้โดยสารยาวประมาณ 2 กม. ออกแบบถนน ขนาด 4 ช่องจราจร และยังทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ไว้ตรงกลางของอาคารได้ รองรับกรณีที่มีการเดินทางมาถึงสนามบินก่อนเวลา มีพื้นที่พักผ่อน ชอปปิ้งด้านนอกก่อนเข้าเช็็กอินอีกด้วย สำหรับอาคารด้านทิศเหนือ (North Terminal) นั้น ไม่มีในแผนแม่บทตั้งแต่แรก ซึ่งทอท.จะยึดแผนงานพัฒนาขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บทเดิม” นายกีรติกล่าว
ส่วนทางวิ่งเส้นที่ 4 (รันเวย์ 4) ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของสนามบิน จะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 10 เดือน คาดเปิดประมูลในต้นปี 2570 ใกล้เคียงกับอาคารผู้โดยสารด้านใต้ โดยประมาณการณ์วงเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีงานปรับปรุงคุณภาพดิน (Ground Improvement) ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน คาดเปิดประมูลก่อสร้างได้ในต้นปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2573
@ ธ.ค. 67 พร้อมเปิดประมูลต่อขยายอาคารด้านตะวันออก
สำหรับโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท การออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว เพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร เตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. พิจารณาเห็นชอบในเดือน ก.ย. 2567 จากนั้นเสนอ ครม.รับทราบ การปรับปรุงแบบ คาดจะเปิดประมูลในเดือน ธ.ค. 2567
ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (West Expansion) จะรอการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเสร็จก่อน จากนั้นจะมีการออกแบบรายละเอียด เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทที่ทบทวนใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบประมาณ 8 เดือน ดังนั้น จะเปิดประมูลได้ในช่วงเวลาเดียวกับ ผู้โดยสารด้านทิศใต้
“ในปี 2568 จะประมูลส่วนต่อขยายด้านตะวันออกก่อน ส่วนต่อขยายอาคารด้านตะวันตกจะรอแผนแม่บทเสร็จก่อน เพราะจะเห็นไทม์ไลน์ในการดำเนินการในแต่ละอาคาร ส่วนอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 ( SAT-2) จะไม่ก่อสร้างแล้ว โดยจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านใต้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นรับได้ที่ 70 ล้านคนต่อปี”
นายกีรติกล่าวว่า ตามแผนล่าสุด หากก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการแล้ว ทอท.จะเตรียมแผนในการปิดอาคารผู้โดยสารหลักในปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงใหม่เพราะการเปิดใช้งานมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2549