ราช กรุ๊ปลั่นครึ่งหลังปี2567 มีผลดำเนินงานเติบโตกว่าครึ่งปีแรกมาจากการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าใหม่ที่CODเข้ามาและปิดดีลM&A ชี้ปีนี้บริษัทฯทบทวนและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยยังคงมุ่งเน้นธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานเน้นโครงการกรีนฟิลด์และบราวน์ฟิลด์มากขึ้น
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) RATCH เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2567 คาดว่าจะเติบโตสูงกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากรับรู้รายได้เพิ่มจากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเดินเครื่องการผลิตเชิงพาณิชย์(COD) อีก 4 โครงการคิดเป็นกำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น รวม 40 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โคราช, โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย, โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง1 เวียดนาม และโครงการกักเก็บพลังงานระบบแบตเตอรี่ LG2 ออสเตรเลีย
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจราจาลงทุนเพิ่มเติมทั้งโครงการในรูปแบบกรีนฟิลด์ และการควบรวมหรือซื้อกิจการ(M&A) ประมาณ 5-6 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในปีนี้ โดยบริษัทมีงบลงทุนเพื่อใช้ในขยายธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี2567 จำนวน 10,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ราว80%ใช้สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกอง โรงที่ 2 ที่มีกำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ช่วงต้นปี 2568 และอีก 20% จะใช้สำหรับโรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็ม โคราช และโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ ที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน โดยวงเงินดังกล่าวนี้ยังไม่รวมการทำดีล M&A
นายนิทัศน์ กล่าวต่อว่า ในปีนี้บริษัทฯได้ทบทวนและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยยังคงมุ่งเน้นธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงาน พร้อมทั้งวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกและประเทศ รวมถึงศักยภาพและขีดความสามารถของบริษัทฯ ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเน้นโครงการประเภทกรีนฟิลด์และบราวน์ฟิลด์ โดยจะเข้าร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศเป้าหมาย ซึ่งประเทศไทยและอินโดนีเซีย มีโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซธรรมชาติ สปป. ลาว มีศักยภาพที่จะลงทุนด้านพลังงานน้ำเพื่อส่งจำหน่ายให้กับประเทศไทย ส่วนออสเตรเลียมีศักยภาพพัฒนาโครงการพลังงานลม แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการประเภท Synchronous Condenser ที่ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
“ บริษัทได้มีการปรับแนวทางการลงทุนใหม่ โดยหันมาให้น้ำหนักกับการลงทุนประเภท Green field มากขึ้นเป็น 80% และการ M&A ลดลงมาที่ 20% จากเดิม 50:50 เนื่องจากได้ทีมงานที่มีศักยภาพทั้งในสิงค์โปร์ ออสเตรเลีย เวียดนามเข้ามา ทำให้มองโอกาสในการต่อยอด ประกอบกับอัตราผลตอบแทนของ Greenfield นั้นสูงกว่าการทำ M&A โรงไฟฟ้าเพิ่มเติม”
นายนิทัศน์ กล่าวว่า บริษัทฯ ยังได้เริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และเทคโนโลยีพลังงานอนาคต ที่สามารถต่อยอดจากสินทรัพย์และศักยภาพความสามารถของบริษัทฯ ที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการกรีนไฮโดรเจน ได้ร่วมกับ BIG พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนจากโครงการของบริษัทฯ ที่มีอยู่ในประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการขนาด 100 MW/200 MWh ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ โครงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรงในประเทศไทย ซึ่งกำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาโครงการนำร่องในนิคมอุตสาหกรรม
บริษัท ยังมีความสนใจในโครงการ Small Modular Reactor (SMR) ซึ่งอยู่ในแผน PDP ฉบับร่างได้บรรจุโรงไฟฟ้าดังกล่าวไว้ช่วงปลายแผนในปี 2580 เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าของไทย ขนาด 600 เมกะวัตต์ด้วย ทำให้บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับพันธมิตร โดยระยะแรกจะเน้นการศึกษาเทคโนโลยี กฎระเบียบ และประเมินผลกระทบด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากนำมาใช้ แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐว่าโรงไฟฟ้าSMRจะให้กฟผ.หรือเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เป็นผู้ลงทุน
นอกจากนี้ บริษัทได้รับการติดต่อจากบริษัทที่สนใจลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ในไทย เพื่อทำDirect PPA โดยราช กรุ๊ปมีพื้นที่พร้อมลงทุนแต่ทั้งนี้คงต้องรอความชัดเจนด้านนโยบายก่อน
ปัจจุบัน ราช กรุ๊ปมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน รวม 10,817.28 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวม 7,842.61 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน72.5% และพลังงานทดแทน รวม 2,974.67 หรือราว27.5% ในปี 2567 จากเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ในปี 2573 และ 40% ในปี 2578 คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้