ตามที่บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ได้ทบทวนแผนกลยุทธ์ธุรกิจในกลุ่มปตท.ทั้งหมด เพื่อกำหนดแผนลงทุน 5 ปีนี้(2568-72)ที่จะแล้วเสร็จในปลายปี2567 ซึ่งจะเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าธุรกิจไหนที่ปตท.ยังให้ความสำคัญและเร่งเดินหน้าการลงทุนในอนาคต หรือธุรกิจที่เคยเป็นธุรกิจดาวรุ่งแต่สุดท้ายไปต่อไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดทั้งตลาดการแข่งขันที่รุนแรง และปตท.ไม่มีความได้เปรียบอย่างแท้จริง
จากปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนไปสิ่งที่ช่วยให้ธุรกิจของปตท.มีความแข็งแกร่งและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในอนาคต หนีไม่พ้นการหาพันธมิตร(พาร์ทเนอร์)ใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆเขามาเสริมเขี้ยวเล็บ แทนที่ปตท.จะสู้เพียงลำพัง ดังนั้นซีอีโอ ปตท.คนใหม่ เปิดใจว่าปตท.เปิดกว้างให้พาร์ทเนอร์ใหม่ที่มีศักยภาพในการนำพาบริษัทลูกปตท.ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง เข้ามาถือหุ้นในโครงการต่างๆทั้งที่ลงทุนไปแล้วหรือจะลงทุนในอนาคต หากพาร์ทเนอร์ต้องการถือหุ้นในบรรดาบริษัทflagship ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นโดยตรง ปตท.ก็ยินดีที่ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงโดยปตท.ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่
ทั้งนี้ ปตท.มีแผนจะหาพาร์ทเนอร์ในธุรกิจ Downstream โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ซึ่งเป็นธุรกิจขาลง ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 จนถึงปัจจุบันธุรกิจปิโตรเคมียังไม่เห็นสัญญาณการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
การเฟ้นหาพันธมิตรใหม่จะต้องช่วยเสริมแกร่งให้กับธุรกิจลูก และเป็นการสร้าง Synergy ร่วมกัน โดยพันธมิตรใหม่ต้องมีความเชี่ยวชาญไม่ใช่แค่มีเงินเพียงอย่างเดียว เพราะปตท.เองก็มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และไม่ได้ดึงพาร์ทเนอร์เพราะขาดเงินทุน อีกทั้งยังช่วยเสริมความเชี่ยวชาญของบุคลากรในองค์กร ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ ทำใหปตท.ตัวเบาลง ช่วยให้ปตท.นำเงินไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆได้
ปัจจุบันบริษัทในกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่นของปตท. ประกอบด้วย บมจ. ไทยออยล์ (TOP) ปตท.ถือหุ้นอยู่ 45.03% บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ปตท.ถือหุ้น 45.18 % และบมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) ปตท.ถือหุ้น 45.05 % ซึ่งหากปตท.มีการตัดขายหุ้นบริษัทดังกล่าวออกไปบ้าง บริษัทเหล่านี้ยังเป็นFlagship และปตท.ถือหุ้นใหญ่เหมือนเดิม
ปตท.เน้นทำกำไรในต่างประเทศ
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวย้ำว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “ ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน ” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD” ปตท.ให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ในฐานะเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ และปตท.จะเติบโตอย่างแข็งแรงคู่ไปกับสังคมไทย
ดังนั้น การเติบโตของปตท.จึงมุ่งเน้นโตในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจในประเทศไทยจะไม่โต แต่เติบโตพอประมาณ และมีกำไรพอเหมาะ แต่หากต้องการกำไรเยอะ ๆ เราก็ต้องไปทำที่ต่างประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทย่อยของปตท.ได้มีการขยายการลงทุนในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)หรือปตท.สผ. ( PTTEP )ที่มีการร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P)ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลางทั้งโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งนำส่งกำไรให้ปตท.เป็นกอบเป็นกำ นอกจากนี้ PTTGC ทุ่มเงินลงทุน1.48แสนล้านบาท เข้าซื้อกิจการบริษัท Allnex Holding GmbH ผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกในธุรกิจผลิตภัณฑ์ Coating Resins ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสารเคลือบและสารเติมแต่งสำหรับใช้กับวัสดุทุกประเภท เช่น ไม้ เหล็ก พลาสติก ปัจจุบันAllnex มีEBITDAดีกว่าแผนที่ตั้งไว้ แม้ว่าธุรกิจปิโตรเคมีการฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก
ขณะที่ความท้าทายในโลกทุกวันนี้มาจากปัจจัยมากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics ) การเปลี่ยนผ่านพลังงาน( Energy Transition ) ภาวะโลกร้อน ซึ่งทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบและผลักดันการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อบริบทเปลี่ยนไป ปตท.ต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ และยังเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติอยู่ แม้ว่าภาครัฐเดินหน้าเปิดเสรีให้เอกชนเข้ามาแข่งขันในธุรกิจที่ปตท.เคยครองตลาดอยู่อย่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติ แต่ปตท.ก็มีความพร้อมในการแข่งขันกับเอกชน
รวมถึงการเปิดกว้างในการดึงพาร์ทเนอร์เข้ามาเสริมทัพในธุรกิจที่ไม่มีความเชี่ยวชาญพอ หรือบางธุรกิจที่ปตท.ต้องการลดบทบาทลง หากพบว่าธุรกิจไม่น่าสนใจ ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไปทำให้การแข่งขันรุนแรง การเฟ้นหาพันธมิตรใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกัน ปตท.ก็ต้องมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างการเติบโตด้วย
จับตา!ปีนี้ชัดเจนธุรกิจใดไม่ได้ไปต่อ
ดังนั้นในปี 2567 เป็นปีที่ปตท. Refocus โดยเน้นธุรกิจไฮโดรคาร์บอน ( Hydrocarbon) ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งเป็น Core Business ที่ปตท.ทำได้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยธุรกิจก๊าซธรรมชาติยังมีความต้องการใช้ต่อเนื่องไปอีก20ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันปตท.จะลดสินทรัพย์ที่ไม่สร้างผลกำไร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนฯอยู่คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้
ส่วนธุรกิจ Upstream and Power จะต้องเร่งขยายแหล่งสำรวจและผลิต ร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมถึงการผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้ามี Mandate ให้เสริมสร้าง Reliability และ Decarbonize ให้กับกลุ่ม ปตท. ขณะเดียวกันมีการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศโดยเฉพาะอินเดีย โดยเข้าลงทุนถือหุ้น41.6%ใน Avaada ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดีย ปัจจุบันAvaada มีการเติบโตต่อเนื่องและมีกำไรค่อนข้างดี ขณะนี้GPSCอยู่ระหว่างพิจารณานำบริษัทAvaadaเข้าตลาดหุ้นหรือลดการถือหุ้นลงบางส่วนเพื่อนำเงินมาใช้ขยายธุรกิจต่อไป
สำหรับธุรกิจ Downstream นั้น จะต้องปรับตัว และสร้างความแข็งแรงร่วมกับพาร์ทเนอร์แสวงหาโอกาสในการสร้าง Synergy ร่วมกัน ซึ่งพบว่านักลงทุนจีนและตะวันออกกลางต้องการลงทุนและทำตลาดในอาเซียน ยอมรับว่าขณะนี้เรามีการเจรจากับพันธมิตรที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นแล้ว
ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกภายใต้การนำของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) (OR) นั้นจะต้องมุ่งหน้าเป็น Mobility Partner ของคนไทย ปรับพอร์ตการลงทุนให้มี Substance และ Asset Light รวมถึงการรักษาการเป็นผู้นำตลาด โดยในกลางปีนี้ OR มีส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกน้ำมันอันด้บ1อยู่ แต่มาร์เก็ตแชร์ก็ปรับลดลงราว3-4%จากในอดีต ทำให้ORต้องเร่งกู้คืนส่วนแบ่งตลาดที่หายไปกลับคืนมา ส่วนธุรกิจLifestyle ที่ORได้เข้าถือหุ้นหลากหลายธุรกิจ หากพบว่าไม่ก่อให้เกิดกำไรก็จะถอนการลงทุนไป
ส่วนธุรกิจ Non-Hydrocarbon ปตท.มีแนวทางการลงทุน ดังนี้ คือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV ปตท. จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจบรรจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging) ซึ่งจะต้องมีการควบรวมแบรนด์ต่างๆ ภายใต้กลุ่ม ปตท. และใช้ OR Ecosystem คือ สถานีบริการพีทีที สเตชั่นที่มีอยู่กว่า2พันแห่งทั่วประเทศมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ส่วนโรงประกอบรถอีวีที่ร่วมทุนกับFoxconn ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อหาทางออก หลังจากสภาพการแข่งขันตลาดรถอีวีรุนแรงมาก โดนค่ายรถอีวีจากจีนหลายรายมาตั้งงานผลิตในไทยเอง สำหรับธุรกิจ Logistics ปตท. จะเน้นไปเฉพาะธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ Core Business ของ ปตท. และมี Captive Demand อยู่แล้ว โดยมีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแรง
ส่วนธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต( Life Science )ที่มีแกนนำคือบริษัท อินโนบิก(เอเซีย) จำกัดที่ปตท. ถือหุ้น100% จะต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน (Self-funding) เนื่องจากเป็นธุรกิจที่แตกต่างอย่างมากกับที่ปตท.ดำเนินการอยู่ แต่มีผลประกอบการดี จำเป็นต้องหาพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญเข้ามาเสริม หลังจากนั้นก็จะนำอินโนบิกเข้าตลาดหุ้น เพื่อระดมทุนในการขยายธุรกิจต่อไป
แม้ว่าปตท.มีการทบทวนธุรกิจต่างๆในกลุ่มปตท.ว่าจะเดินหน้าต่อหรือถอยออกมา แต่มีธุรกิจหนึ่งที่ปตท.จะมุ่งไปนั้นคือธุรกิจไฮโดรเจน แม้ว่าขณะนี้ต้นทุนการผลิตจะสูงกว่าพลังงานอื่นๆ แต่เป็นพลังงานอนาคตที่ทั่วโลกให้ความสใจและยังช่วยผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์(Net Zero)ในปี2065 ซึ่งขณะนี้PTTEPได้ร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ทำโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนในโอมาน ส่วนในประเทศไทย ปตท.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งถังบรรจุ ท่าเรือเพื่อรองรับไฮโดรเจนนำเข้าในรูปแอมโมเนีย แล้วนำมาแปรสภาพกลับไปเป็นไฮโดรเจนอีกรอบเพื่อป้อนให้กับบริษัทในเครือปตท.อย่างGPSC ที่จะใช้ไฮโดรเจนผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติป้อนให้โรงไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ส่วนการตั้งโครงการผลิตไฮโดรเจนในไทยนั้นต้องรอเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้มีต้นทุนต่ำกว่านี้ เบื้องต้นหากมีการลงทุนจะเป็นบลูไฮโดรเจนก่อน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเกิดได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
นอกจากนี้ PTTEP ดำเนินศึกษาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS) โดยนำคาร์บอนไปฝังกลับในหลุมปิโตรเลียมที่ไม่ได้ผลิตก๊าซฯแหล้วในแหล่อาทิตย์ โดยโครงการCCS เป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. ซึ่งประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนรวม 500ล้านตันต่อปี และกลุ่มปตท.มีการปล่อยคาร์บอนราว 40ล้านตันต่อปี
ครึ่งปีแรก กลุ่มปตท.โกยกำไร 1.23แสนล้านบาท โตขึ้น37.85%
สำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกปี 2567ของปตท.และอีก 6 บมจ.ในเครือฯ พบว่ามีผลการดำเนินเติบโตขึ้น โดย บมจ.ปตท. (PTT) มีกำไรสุทธิ 64,437ล้านบาท โตขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 34.4% , บมจ.ไทยออยล์ (TOP) มีกำไรสุทธิ 11,410 ล้านบาท โตขึ้น 101.2% บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) มีกำไรสุทธิ 6,260ล้านบาท โตขึ้น 9.2% บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) มีกำไรสุทธิ 1,240ล้านบาท เติบโต 123% , บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) มีกำไรสุทธิ 2,293ล้านบาท ขยายตัว 61% และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) มีกำไรสุทธิ 812ล้านบาท โตขึ้น 142% ขณะที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มีกำไรสุทธิ 1,177ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2.5% แต่หากคิดเป็นเงินสกุลบาท พบว่าPTTEPมีกำไรสุทธิครึ่งแรกปีนี้ 42,660ล้านบาท โตขึ้น 5.80%
ทั้งนี้ ปตท.และบริษัทย่อยทั้ง 6บมจ. มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกปี 2567 รวมทั้งสิ้น 123,112ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 93,659 ล้านบาท เติบโตขึ้น 37.85% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่าบริษัทที่ทำไรสูงสุดหนีไม่พ้น ปตท. รองลงมาคือ PTTEP และTOP ตามลำดับ
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการของปตท.ในไตรมาส3/2567 และครึ่งปีหลัง 2567 นั้นธุรกิจE&P คาดว่าปริมาณการจำหน่ายจะดีขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯของแหล่งเอราวัณ(G1/61) ขณะที่ราคา LNG ตลาดจร(Spot) ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าช่วงฤดูหนาวทำให้มีการใช้เพิ่ม ส่งผลให้ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯปรับเพิ่มขึ้นได้ ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นคาดว่ามาร์จินจะดีขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันในช่วงDriving Season และฤดูหนาว ส่วนปิโตรเคมีสเปรดมาร์จินยังแคบ ธุรกิจน้ำมัน คาดว่ามียอดขายน้ำมันจะเติบโตขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ดี แผนการลดสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น เปิดทางพันธมิตรเข้ามาถือหุ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หากบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เชื่อว่าจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับปตท.