บี.กริม แอลเอ็นจีใน้ครือ บี.กริม เพาเวอร์ นำเข้าLNGล็อตแรก 6.5หมื่นตันจำหน่ายให้โรงไฟฟ้าSPPในเครือฯ
บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด (BGLNG) บริษัทย่อยที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100% ประสบความสำเร็จนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) เรือลำแรก เมื่อ 25 ส.ค. 2567 นับเป็นเอกชนไทยรายแรกที่นำเข้า LNG เพื่อมาจำหน่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP)
ทั้งนี้BGLNG ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ด้วยปริมาณนำเข้า LNG ที่ไม่เกิน 1.20 ล้านตันต่อปี สำหรับค้าส่งไปยังโรงไฟฟ้าในเครือของ บี.กริม เพาเวอร์ รวม 19 แห่ง โดยระยะแรก BGLNG ตั้งเป้าจำหน่ายก๊าซฯ ให้แก่โรงไฟฟ้าที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น และร่วมทุน เพื่อผลิตไฟฟ้าจำหน่ายแก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม
สำหรับเที่ยวเรือ LNG ลำแรกนี้ BGLNG ได้จัดซื้อจากบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ปริมาณนำเข้าประมาณ 65,000 ตัน โดยส่งมอบและจัดเก็บรวมถึงแปรสภาพก๊าซฯ ที่สถานี LNG มาบตาพุด แห่งที่ 1 (LMPT1) ของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) และจัดส่งก๊าซฯ ผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงไฟฟ้าที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น ทั้งบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน รวม 10 แห่ง ประกอบด้วย 1. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด 2. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 จำกัด 3. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 3 จำกัด 4. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 4 จำกัด 5. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 5 จำกัด 6. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด 7. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ดับบลิวเอชเอ) 1 จำกัด 8. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 1 จำกัด 9. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 2 จำกัด และ 10. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 3 จำกัด
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในระยะถัดไป BGLNG มีแผนขยายการจำหน่าย LNG ไปยังโรงไฟฟ้าที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น และโรงไฟฟ้าอื่นๆตลอดจนขยายไปยังกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการเปิดแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติตามนโยบายภาครัฐ โดยมั่นใจว่าจากการเปิดเสรีตลาดพลังงานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการก๊าซธรรมชาติรายใหม่มีการแข่งขันทางด้านราคามากขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนภาคพลังงานในประเทศไทยให้เพิ่มยิ่งขึ้นเช่นกัน และในระยะยาวถือเป็นการลดต้นทุนพลังงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์โดยรวมของเศรษฐกิจไทย
นอกจากการจัดหา LNG แล้ว บี.กริม ยังเดินหน้าขยายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 25% ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการมอบพลังงานที่สะอาด ราคาที่แข่งขันได้ ให้กับชุมชนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายระยะยาว ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลกและบรรลุเป้าหมาย องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)
นายแอนดรูว์ เคิร์ก รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจ LNG และเชื้อเพลิงยั่งยืน บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด (BGLNG) กล่าวว่า BGLNG ได้เริ่มดำเนินการนำเข้า LNG ในช่วงเวลาที่สำคัญของภาคพลังงานประเทศไทย โดยตั้งเป้าขยายธุรกิจเพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งยังตอบสนองนโยบายการเปิดเสรีของตลาดพลังงาน รวมถึงเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ
สำหรับทิศทางในอนาคต บริษัทมีแผนขยายธุรกิจ LNG และก๊าซธรรมชาติเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่กำลังมองหาผู้ให้บริการรายใหม่ นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพลังงานของประเทศ ด้วยการพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต เช่น การให้บริการขนส่ง LNG ทางรถบรรทุก หรือทางเรือ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าและสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด กล่าวว่า บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการสถานีแอลเอ็นจี มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จของบริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด ที่สามารถดำเนินการนำเข้า LNG เที่ยวแรกได้สำเร็จ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญของภาคเอกชน ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ จากความสำเร็จครั้งนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่ยังเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของ PTTLNG ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศอย่างยั่งยืน