xs
xsm
sm
md
lg

"สุริยะ"เคลียร์ไอเดีย"ทักษิณ"ไม่ใช่ยึดสัมปทานรถไฟฟ้า-ไม่รังแกเอกชน ซื้อคืนแถมจ้างเดินรถจนครบสัมปทาน ประชาชนจ่าย 20 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สุริยะ"แจงไอเดีย"ทักษิณ"ซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า หลังกระทบหุ้นเอกชน ยันไม่ใช่การยึดคืน แต่เป็นการเปลี่ยนรูปแบบจากสัมปทานเป็นการจ้างเดินรถต่อจนครบอายุสัญญาเดิมเอกชนไม่กระทบ ประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายแน่นอน คลังเตรียมแผนตั้งกองทุน สั่งสนข.ศึกษา เก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์เข้าพื้นที่ชั้นในกทม.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ Vision for Thailand เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา เรื่องยึดคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ว่า ที่มีข่าวสื่อออกไปอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทำนองว่ารัฐบาลมีนโยบายจะไปยึดสัมปทานรถไฟฟ้าคืน ไปรังแกเอกชน และทำให้ผู้เกี่ยวข้องผู้รับสัมปทาน ได้รับผลกระทบและมีความกังวล รวมถึงส่งผลไปถึง ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยข้อเท็จจริงในการสื่อสารของ ท่านทักษิณ ที่พูดในวันนั้น ไม่ได้หมายความแบบที่มีข่าวสื่อออกไป แต่ข้อเท็จจริงคือ รัฐบาลอยากให้ประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้รับการบริการ รถไฟฟ้าในราคาที่ถูก และสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงคมนาคมในการดำเนินโครงการค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย

โดยกระทรวงการคลังจะมีการจัดตั้งกองทุนฯขึ้นมาดำเนินการ เพื่อซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากบริษัทเอกชนที่รับสัมปทาน อยู่ในปัจจุบัน เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสายสีชมพูสีเหลืองและสีส้ม ที่ยังมีอายุสัมปทานเหลืออีกกว่า 20 ปี ยกเว้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังเหลืออายุอีกประมาณ 5 ปีเท่านั้น ก็จะจ้างเท่าที่อายุสัมปทานเหลืออยู่ โดยเมื่อรัฐซื้อคืนสัมปทานกลับมาแล้ว จะปรับรูปแบบสัญญา จากสัมปทาน PPP Net Cost เป็นการจ้างเดินรถ หรือ PPP Gross Cost โดยจะจ้างเอกชนรายเดิมที่ยังไม่หมดสัมปทานเดินรถต่อไป จนหมดสัญญาเดิม ดังนั้นเอกชนจะไม่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงในการเดินรถจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบสัญญาจ้างดังกล่าว

"เป้าหมายของเรื่องนี้คือ ต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด มั่นใจว่าประชาชนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในราคาไม่เกิน 20 บาทตลอดสายแน่นอน ส่วนเอกชนรายเดิมยังเป็นผู้เดินรถต่อไป เพราะจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาจ้างเดินรถ เอกชนจะไม่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยง ผมขอยืนยันว่า ไม่มีเรื่องยึดคืนสัมปทานจากเอกชนแน่นอน เพราะหากรัฐบาลทำแบบนั้นต่อไปเอกชนที่ไหนจะกล้ามาลงทุน

ส่วนการเจรจาซื้อคืน และจ้างเดินรถแบบใหม่นี้ จะมีระยะเวลาจ้างตามอายุสัญญาที่เอกชนเหลือแต่ละโครงการ"


นายสุริยะกล่าวว่าโครงการรถไฟฟ้าที่ผ่านมารัฐเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างโครงสร้างานโยธาซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70- 80%ของมูลค่าโครงการอีก 20-30%ที่เป็นค่าระบบและรถไฟฟ้าให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและให้สัมปทานเดินรถและดูแลรักษาไปอีก 30ปีกลายเป็นรัฐลงทุนมากแต่เสียโอกาสในการกำหนดค่าโดยสารถูกๆเพื่อประชาชนซึ่งการปรับเป็นจ้างเดินรถ จะดีกว่าคล้ายสายสีม่วงที่จ้างเอกชนเดินรถหรือ PPP Gross Cost ตอนนี้ใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายได้ทุกสาย และทำให้มีประชาชนหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมากตามเป้าหมายที่ส่งเสริมการใช้ระบบรางเพื่อลดฝุ่นPM 2.5 และประหยัดพลังงานด้วย

นายสุริยะกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สัญญาสัมปทาน ระหว่าง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จะครบกำหนดในปี 2572 ว่า หลักการคือ สายสีเขียวหากได้ข้อสรุปเรื่องการจ้าง BTS จะได้รับจ้างเดินรถต่อไปจนครบสัญญาปี 2572 หลังหมดสัญญาแล้วก็จะเป็นการประมูลหาผู้รับจ้างเดินรถรายใหม่ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร

นายสุริยะกล่าวว่า ขอให้รอรัฐบาลแถลงนโยบายต่อ รัฐสภาเรียบร้อยก่อน เรื่องการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจะมีการ
แนวทางดำเนินการ เท่าที่มีการปรึกษากับกระทรวงการคลัง มีแนวทาง การตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อระดมเงินรวบรวม สำหรับเข้าซื้อกิจการรถไฟฟ้าที่เอกชนยังบริหารภายใต้สัญญาสัมปทาน ส่วนจะเอาเงินจากไหนเข้ามา คงต้องปรึกษากระทรวงการคลัง และกองทุนนี้จะแยกกับกองทุนที่จะเอาไปอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมพ.ศ...ด้วย


นายสุริยะกล่าวว่ากระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)ภายใต้กรอบกฎหมายพร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ไปดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge)เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าวและนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดส่งเข้ากองทุนฯที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้นรวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรจิดขัดอีกด้วย

"แนวคิดCongestion chargeเป็นการกำหนดเขตที่จะเก็บค่าธรรมเนียมจราจรหนาแน่นประเทศอื่นมีการเก็บจริงๆและส่วนตัวได้ไปดูโมเดลนี้ที่ประเทศอังกฤษมาแล้วจึงคิดว่าในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บเมื่อมีระบบขนส่งครบบริบูรณ์แล้วเช่นย่านถนนรัชดาภิเษกถ้าตรงนั้นมีรถไฟฟ้าครอบคลุมแล้วอาจจะต้องเก็บหรือแถวถนนสุขุมวิทก็อาจจะต้องเก็บเพราะจะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้"นายสุริยะกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การซื้อคืนระบบรถไฟฟ้าจะใช้เวลาศึกษาเท่าไหร่ จะชัดเจนเมื่อใด และถ้าทำจริงต้องทุกสีทุกสายเลยไหม นายสุริยะกล่าวว่า ต้องขอดูก่อน เบื้องต้นอาจจะร่วมกันกับกระทรวงการคลัง แต่เบื้องต้น ขอให้รอรัฐบาลแถลงนโยบายก่อน ส่วนจะต้องรอให้รถไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จทุกสายก่อนหรือเปล่านั้น คิดว่า ตอนนี้บางจุดมีรถไฟฟ้าผ่านครบแล้ว เพราะฉะนั้น จะต้องไปจ้างที่ปรึกษาว่า สมควรทำตรงจุดไหนก่อน เก็บเท่าไร เรื่องนี้ ยังไม่เคยศึกษามาก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น