ผลกระทบเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ อีอีซีเลื่อนไทม์ไลน์ แก้สัญญาร่วมทุนฯ ซี.พี.”ไฮสปีดเชื่อม3 สนามบิน”ตั้งครม.อิ๊ง1 “ เรียบร้อย ลุ้นบอร์ดอีอีซีเร่งประชุม เชื่อ ซี.พี.ไม่ยื่นเงื่อนไขเจรจาใหม่
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงทั้งคณะ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 นั้น ทำให้ทำให้แผนงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ต้องขยับไทม์ไลน์ออกไป ซึ่งขณะนี้ มีประเด็นการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ กับ บริษัทเอเชียเอรา วัน จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) คู่สัญญาผู้รับสัมปทานฯ โดยจะมีการสรุปและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดกพอ.) ซึ่งเดิม กพอ.กำหนดว่า จะมีการประชุมช่วงกลางเดือนส.ค. 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการการแก้ไขปรับปรุงสัญญา
ดังนั้นกำหนดแผนงานเรื่องเห็นชอบแก้ไขสัญญาร่วมทุน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องเลื่อนออกไปก่อนจนกว่ามีการตั้งคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยเป็นทางการ และมีการกำหนดประธานบอร์ดอีอีซี ซึ่งขั้นตอนของการแก้สัญญาร่วมลงทุน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลังบอร์ดอีอีซี เห็นชอบ จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการ จากนั้นจะส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯที่แก้ไข เมื่อตรวจร่างสัญญาฯ แล้วเสร็จ จะต้องนำกลับมาเสนอบอร์ดกพอ.อนุมัติอีกครั้ง และเสนอครม.เห็นชอบเพื่อลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯต่อไป
“เรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทาน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องรอให้มีรัฐบาลเป็นนทางการพิจารณาอนุมัติ เนื่องจากมีการพิจารณาประเด็นนี้มีผลผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี”
กรณีที่อาจต้องใช้เวลารอบอร์ดอีอีซีนานนั้นจะส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญที่ได้สรุปการเจรจากับ บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) และทำให้ต้องมีการเจรจาเงื่อนไขกัจนอาจจะต้องมีการเจรจากันใหม่หรือไม่ นั้น นายจุฬากล่าวว่า ในช่วงนี้เชื่อว่า ทางเอกชนไม่น่าจะเปลี่ยนหรือเพิ่มเงื่อนไขอะไรใหม่ เนื่องจาก เพิ่งได้มีข้อสรุปกันไป อย่างไรก็ตาม อีอีซีเองก็ไม่ได้วางใจ มีการประเมินกรณีที่ ที่เอกชนอาจเสนอขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของโครงการใหม่ไว้ด้วย เพราะกรณีมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทางซี.พี.อาจต้องประเมินทิศทางและนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่า จะเอาอย่างไรกับโครงการนี้ และหากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและข้อเสนอเข้ามาจริง ก็อาจใช้เวลาในการพิจารณากันใหม่อีก
ส่วนไทม์ไลน์โครงการจะขยับออกไปจะมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ระยะเวลาการตั้ง ครม.ชุดใหม่ ว่าจะใช้เวลาแค่ไหม
เดิมอีอีซีคาดหมายว่า ขั้นตอนที่ต้องเสนอครม.อนุมัติ 2 ครั้ง โดยครั้งแรก ขอความเห็นชอบหลักการแก้ไขสัญญาฯ และครั้งที่2 ขอความเห็นชอบการลงนามแก้ไขสัญญาฯ หลังอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง คาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จและลงนามแก้ไขสัญญาได้ในปลายปี 2567 และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะสามารถส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) เริ่มก่อสร้างในปลายปี 2567 ไม่เกินต้นปี 2568