กพท. ระบุเครื่องบินลำตกที่บางปะกง ตรวจสภาพล่าสุด 30 ก.ค. 2567 ไม่พบข้อบกพร่อง เร่งประสาน Thai Flying Service กำชับแนวทางดูแล-ชดเชยผู้โดยสาร พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์การสอบสวนหาสาเหตุอุบัติเหตุ
นี้ (22 ส.ค.2567) เจ้าหน้าที่กู้ภัย กว่า 300 คน นำเครื่องสูบน้ำออกจากบ่อเลี้ยงปลาเก่า และนำรถแบคโฮขุดดินเลน บริเวณบ่อเลี้ยงปลาเก่า ในพื้นที่หมู่ 6 ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเร่งค้นหาร่างผู้ที่อยู่ในเครื่องบิน ทั้ง 9 คน ที่ประสบอุบัติเหตุ เครื่องบินเล็ก c208 เที่ยวบินที่ TFT209 ตก หลังนำเครื่องขึ้นบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปท่าอากาศยานตราด เพียง 10 นาที
จากอุบัติเหตุ เครื่องบินเล็ก c208 เที่ยวบินที่ TFT209 ตกที่ อ.บางปะกง เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2567 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. เปิดเผยว่า
ได้ติดต่อประสานบริษัท ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส จำกัด ถึงแนวทางในการดูแล และเยียวยาผู้โดยสาร แล้ว โดยเบื้องต้น Thai Flying Service กำลังประสานบริษัทประกัน เพื่อหาข้อสรุปการเยียวยาและชดเชย ซึ่งทางบริษัทได้ทำประกันครอบคลุมผู้โดยสาร นักบิน สัมภาระ และบุคคลที่สาม โดยกรมธรรม์ดังกล่าวมีอายุถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 ซึ่งครอบคลุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
โดยบริษัท ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส จำกัด ยังมีอากาศยานที่สามารถนำมาให้บริการได้ โดยปัจจุบันมีเที่ยวบิน ไปและกลับ กรุงเทพ-เกาะไม้ซี้ (สนามบินตราด) ทั้งหมด 4 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังตรวจสอบและเตรียมความพร้อมทั้งอากาศยานและนักบินก่อนที่จะกลับมาดำเนินการต่อ สำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดให้บริการ สามารถประสานกับผู้จัดการท่องเที่ยวเพื่อช่วยจัดการให้เดินทางโดยวิธีอื่น เช่น เดินทางไปลงสนามบินตราดและจัดรถ-เรือ รับส่ง ไปยังที่พักบนเกาะได้
ในด้านการกำกับดูแล CAAT ซึ่งเป็นผู้ออกใบรับรองสมควรเดินอากาศ (Certification of Airworthiness - C of A) จะต้องเข้าทำการตรวจสภาพอากาศยานว่าอยู่ในสภาพและมีอุปกรณ์ที่เป็นไปตามมาตรฐาน และมีการตรวจเอกสารในการบำรุงรักษาอากาศยานว่าได้รับการบำรุงรักษาตามมาตรฐานหรือไม่อย่างไร สำหรับอากาศยานที่เกิดเหตุได้รับใบรับรองสมควรดินอากาศ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 และจะหมดอายุวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 โดยบริษัท ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส จำกัด เป็นสายการบินที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร จึงต้องมีระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยด้วย ซึ่ง CAAT จะต้องเข้าไปตรวจสอบระบบของสายการบินก่อนให้ใบรับรองมาตรฐาน (Air Operator Certificate - AOC) และสายการบินมีหน้าที่ในการรายงานประวัติการบำรุงรักษา (Maintenance Review Document ) ให้ CAAT ทราบทุก ๆ 6 เดือน ซึ่ง ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส ได้รายงานเข้ามาล่าสุดเมื่อ 17 มิถุนายน 2567 ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ
นอกจากนี้ CAAT จะมีการตรวจตราสายการบิน (Base Audit) และการตรวจ ณ ลานจอดอากาศยาน(Ramp Inspection) เป็นประจำทุกปี สำหรับบริษัท ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส CAAT ได้ทำการตรวจสถานีหลัก (Base Audit) ปี 2024 ระหว่าง 23 - 26 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา และทำการตรวจ ณ ลานจอดอากาศยานประจำปี (Ramp Inspection) ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2567 ซึ่งยังไม่พบข้อบกพร่องเกี่ยวกับอากาศยาน
ทั้งนี้ CAAT ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์การสืบสวน โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (กสอ.) เพื่อหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ต่อไป