ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจับมือ 9 พันธมิตรด้านการบินลงนาม MOU ระบบ A-CDM ให้สามารถสนับสนุนการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแบบ Real time ปรับปรุงกระบวนการเข้า-ออก (Turnaround) ของเที่ยวบิน ยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการท่าอากาศยาน
วันนี้ (19 สิงหาคม 2567) นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือ (MOU) ด้านระบบการจัดการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจร่วมกัน (Airport Collaborative Decision Making:A-CDM) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ร่วมกับบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (AOC) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพ เวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด บริษัท ลุฟท์ฮันซ่า เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด และรัฐวิสาหกิจการบินลาว ณ ห้องจัดเลี้ยง 1 ชั้น 5 อาคารสำนักงาน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สำหรับระบบ A-CDM เป็นหลักการในการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในท่าอากาศยาน โดยให้ความสำคัญต่อการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรของท่าอากาศยานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แนะนำให้ท่าอากาศยานที่มีปริมาณการจราจรทางอากาศเกิน 100,000 เที่ยวบินต่อปีนำหลักการ A-CDM มาใช้
ทั้งนี้ ทอท.ได้ทำการพัฒนาและออกแบบระบบสารสนเทศ A-CDM Portal เพื่อให้สามารถสนับสนุนการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแบบ Real time นำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงกระบวนการเข้า-ออก (Turnaround) ของเที่ยวบิน ทำให้สามารถบริหารจัดการข้อมูล สถานะ และเวลาในแต่ละเที่ยวบินได้อย่างแม่นยำและทันเวลา ส่งผลให้การวางแผนและการตัดสินใจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความตรงเวลาของเที่ยวบิน ลดความล่าช้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการและการบริหารจัดการทรัพยากรท่าอากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นภายใต้แนวคิด “Best Plan Best Serve” โดย ทสภ.ได้เริ่มใช้ระบบ A-CDM อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การลงนามใน MOU เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาการบริหารจัดการการจราจร
ทางอากาศตามแผนการเดินอากาศสากล (Global Air Navigation Plan: GANP) เพิ่มประสิทธิภาพด้านการปฏิบัติการท่าอากาศยาน รวมถึงการพัฒนาระบบการบินพลเรือนของภูมิภาคให้สอดคล้องกับการพัฒนาในระดับสากล พร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของประเทศในระยะยาวต่อไป