xs
xsm
sm
md
lg

‘ดร.คงกระพัน’ นำทัพ ปตท.ขับเคลื่อนพลังงานสู่ความยั่งยืน รุกตลาดไฮโดรเจนและการกักเก็บคาร์บอน หนุนเป้าหมาย Net Zero

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนทนาแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับซีอีโอคนใหม่ของ ปตท. “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ถึงวิสัยทัศน์และแนวโน้มการลงทุนนับจากนี้ที่ ปตท.และบริษัทในเครือต้องก้าวต่อไปร่วมกัน พร้อมโตในตลาดนอกประเทศ ควบคู่กับการทำ Carbon Capture and Storage ในประเทศ นำพาองค์กรมุ่งสู่ Net Zero เพื่อการเติบโตยั่งยืนอย่างสมดุล

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ซึ่งรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. คนที่ 11 ให้สัมภาษณ์พิเศษผู้จัดการรายวัน 360 องศา ถึงวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินธุรกิจของ ปตท.ยุคต่อจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของพลังงานที่ไม่เพียงให้ความสำคัญต่อการเติบโต แต่ต้องมั่นคงและยั่งยืนอย่างสมดุล อยู่เคียงข้างกับสังคมไทย

วิสัยทัศน์ และความท้าทาย ปตท.ต้องปรับตัว และ Revisit

จากวันแรกที่ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง เข้ารับตำแหน่งซีอีโอของ ปตท.เมื่อ 13 พฤษภาคม จนถึงวันนี้ผ่านมา 3 เดือนเต็ม พร้อมกับวิสัยทัศน์ ‘ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน’ ซึ่งคำนี้มีความหมายอย่างยิ่งยวดต่อทิศทางของ ปตท.ยุคต่อจากนี้ ดร.คงกระพันอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก ปตท.เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นบทบาทหลักที่ได้รับ ดังนั้น เรื่องพลังงานก็ยังคงเป็นแกนหลักที่ต้องดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานมีความยากมากขึ้นทุกวัน ทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายนอก มีทั้งปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ภาวะโลกร้อน ทั่วโลกหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ แม้ว่าบริบทการเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติยังเหมือนเดิม แต่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เช่น การเปิดเสรีด้านพลังงาน ทำให้ระดับความยากในการทำธุรกิจแตกต่างกัน ปตท.จึงต้องปรับตัวให้เร็วและเหมาะสม เพื่อดำเนินธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขัน และที่สำคัญ ต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศด้วย


ขณะเดียวกัน สถานการณ์โลกที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปตท. จำเป็นต้องมี “ความคล่องตัว” (Agility) ทุกหน่วยธุรกิจมีการ Revisit อยู่เสมอ หมายความว่า ต้องกล้าตัดสินใจ ธุรกิจไหนที่ต้องรีบทำก็ต้องทำ หรือธุรกิจเดิมที่เคยดี แต่ตอนนี้ไม่ดีแล้ว ก็ต้องออก ทั้งธุรกิจเก่าและธุรกิจใหม่ เพราะโลกเปลี่ยน เราต้องปรับ โดย ปตท. มีเกณฑ์ในการมองผ่านเลนส์ 2 มิติ คือ

1. เป็นธุรกิจที่ดีหรือน่าลงทุนอยู่หรือไม่ ลงทุนแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่

2. ปตท.มีจุดแข็ง หรือ Right to Play ในการเข้าไปทำธุรกิจนี้หรือไม่ รวมถึงสภาพแวดล้อมในการแข่งขันเป็นอย่างไร

หากไม่เข้าเกณฑ์ทั้งสองประการนี้ เบื้องต้นอาจพิจารณาถอนคันเร่งในธุรกิจนั้น ควบคู่กับการหาพาร์ตเนอร์ที่ดี เพื่อดำเนินการออกจากธุรกิจนั้นในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับการทำธุรกิจที่ต้องให้ความสำคัญกับจุดแข็ง เพื่อสามารถเติบโตได้ในระยะยาว

“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปตท.ต้องปรับตัว มีความคล่องตัว และมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมมุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ซีอีโอ ปตท.กล่าว

ทั้งนี้ ทิศทางและกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. (PTT Group Direction and Strategy) จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ให้สำเร็จภายในปี ค.ศ. 2050

สำหรับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ของ ปตท.กลุ่มธุรกิจที่เป็น Hydrocarbon and Power ยังคงเป็นแกนสำคัญและเกี่ยวข้องกับความมั่งคงด้านพลังงาน ทั้งธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก ซึ่งกล่าวโดยสรุป ธุรกิจเหล่านี้ ปตท.ทำได้ดีและมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้นอีก มีความสามารถในการแข่งขัน (Competitive) มากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดคาร์บอน ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน

ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เป็น Non-Hydrocarbon ทั้ง EV, Logistics และ Life Science ต้องศึกษา เพื่อให้เห็นความชัดเจนสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเหมาะสมกับปัจจุบัน


‘Hydrogen’ และ ‘Carbon Capture and Storage’ ต่อยอดสร้างการเติบโต หนุนเป้าหมาย Net Zero

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า “ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD” ดร.คงกระพันย้ำว่า ปตท.พร้อมดำเนินธุรกิจบนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี

สำหรับการสร้างความชัดเจนในแนวทางความยั่งยืน มีการผสานการบริหารจัดการ Portfolio และ Net Zero เข้าด้วยกันทั้งกลุ่ม ปตท.เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Company ควบคู่กับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาวผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ 1. ปรับ Portfolio การลงทุนและปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความยืดหยุ่น สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ 2. ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้พลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด 3. ชดเชยคาร์บอน ด้วยเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และการปลูกป่า


ทั้งนี้ ปตท.ได้วางแผนที่จะลงทุนในธุรกิจที่พร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุ Net Zero ตามเป้าหมาย ผ่าน 2 ธุรกิจ คือ ไฮโดรเจน (Hydrogen) สำหรับภาคอุตสาหกรรม และการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage ซึ่งต้องทำควบคู่กัน

การลงทุนใน 2 ธุรกิจนี้ ดร.คงกระพันชี้ให้เห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1. เป็นการช่วยให้องค์กรลดคาร์บอนได้ 2. ช่วยประเทศให้สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักๆ ในประเทศต่างมีการปล่อยคาร์บอน หากไม่มีการทำ Carbon Capture and Storage ก็ยากที่จะบรรลุ Net Zero ได้ และ 3. เป็นโอกาสที่จะเกิดเป็นธุรกิจใหม่เกี่ยวกับไฮโดรเจน และ Carbon Capture and Storage ต่อไปในอนาคต

โดยทั้งสองธุรกิจ กลุ่ม ปตท.จะมีการแบ่งบทบาทในการดูแลแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

เรื่องแรก “ไฮโดรเจน” สำหรับภาคอุตสาหกรรม ในที่นี้หมายถึงการผสมไฮโดรเจนเข้าไปในเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่ง ปตท.สผ. (บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)) จะทำหน้าที่เป็น “ต้นทาง” ในการจัดหาและไปลงทุนเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทในต่างประเทศที่เป็นแหล่งผลิต โดยในช่วงแรกอาจเริ่มจากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “เติบโตในระดับโลก” เพื่อศึกษาเทคโนโลยีและอาจนำไปขายให้กับประเทศที่มีความต้องการใช้

ขณะเดียวกัน ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทแม่ จะรับหน้าที่ในการบริหารภาพรวมทั้งหมด โดย ปตท.จะอยู่ตรงกลาง หรือ “กลางทาง” ลงทุนด้าน Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐาน และ Facility ต่างๆ ทั้งท่าเรือ ถังบรรจุ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับไฮโดรเจน

ส่วนปลายทางก็คือ บริษัทลูกทั้งหมดที่สามารถนำไปใช้ เช่น GPSC (บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)) จะเป็นผู้นำเอาไฮโดรเจนไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อทดแทนเชื้อเพลิง Fossil ดังนั้น GPSC จะผลิตไฟฟ้าสีเขียวมากขึ้น และ Decarbonize ขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่บริษัทในกลุ่ม ปตท.ที่รับไฟฟ้าจาก GPSC จะได้เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Scope 2)


ส่วนเรื่องที่ 2 “Carbon Capture and Storage” ปตท.สผ.ที่เคยเป็นต้นทางในเรื่องไฮโดรเจน จะกลับข้างไปอยู่ปลายทาง โดยต้นทางคือบริษัทลูกทั้งหมด ซึ่งทำอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็น GC, GPSC, IRPC และ Thaioil ที่ต้องดักจับคาร์บอนตั้งแต่กระบวนการขั้นตอนการผลิต ส่วนกลางทาง คือ ปตท.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง ทั้งถังบรรจุ และท่อ เพื่อรองรับการส่งคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้น ปตท.สผ. จะรับไปทำการกักเก็บในหลุมซึ่งเป็นชั้นหินใต้ทะเลต่อไป

ดร.คงกระพันกล่าวย้ำว่า การใช้ไฮโดรเจน และการทำ Carbon Capture and Storage สามารถช่วยลดคาร์บอนได้จริงในระดับประเทศ และประมาณการว่าโครงการ Carbon Capture and Storage ขนาดใหญ่น่าจะสำเร็จได้ในปี ค.ศ. 2033 หรือ 2034 เนื่องด้วยข้อจำกัดของกฎหมาย และเทคโนโลยี ในขณะที่ไฮโดรเจนมีการใช้อยู่แล้วในกลุ่ม ปตท. เพียงแต่ในช่วง 2-3 ปีแรกอาจจะยังไม่มีการนำเข้ามา โดยจะต้องพิจารณาถึงแผนการลงทุน รูปแบบการบริหารงาน รวมถึงความต้องการใช้ ซึ่งสิ่งสำคัญของเรื่อง ไฮโดรเจน และ Carbon Capture and Storage คือการทำงานร่วมกับภาครัฐ ในการพิจารณาถึงความเหมาะสมของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนโยบายสนับสนุนการลงทุนขนาดใหญ่ที่ช่วยลดคาร์บอนในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

และนี่ก็คือวิสัยทัศน์ใหม่ที่ ปตท.พร้อมจะก้าวต่อไป เพื่อเป้าหมาย ‘แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลก อย่างยั่งยืน’
กำลังโหลดความคิดเห็น