หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งหมดต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย แต่คณะรัฐมนตรีนั้นยังให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่ง ครม.รักษาการสามารถทำอะไรได้บ้างในกรณีที่นายกฯ ถูกให้พ้นจากตำแหน่งนั้นมีความแตกต่างจากกรณีการยุบสภาอย่างไร แน่นอน… สถานการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลกระทบต่อโครงการต่างๆ ที่รอบรรจุวาระการประชุม ครม.ในช่วงที่ผ่านมา มีอันต้องส่งคืนกระทรวงฯ หรือหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อมาตั้งต้นเรื่องกันใหม่ทั้งหมด
กระทรวงคมนาคม นับเป็นกระทรวงเกรดเอ มีงบประมาณรายจ่ายและงบลงทุนปีละกว่า 4 แสนล้านบาท มีโครงการที่ต้องนำเสนอ ครม.ขออนุมัติเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อน โดยพบว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านี้มีการนำเสนอโครงการไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อรอบรรจุวาระการประชุม ครม. จำนวน 8 โครงการ ได้แก่
1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอนทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost เป็นเส้นทางแรก ซึ่งเป็นไปตามการศึกษาที่พบว่ามีความคุ้มค่าที่เอกชนจะลงทุน 100%
2. โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาท การลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนค่าเวนคืนที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธาและการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) รัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ จะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว
3. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงินลงทุน 6,473.98 ล้านบาท เสนอ ครม.เพื่อขอทบทวนมติ ครม.และปรับกรอบวงเงิน หลังจากก่อนหน้านี้ รฟท.สรุปการศึกษาและเสนอ ครม.ไปแล้ว แต่มีการดึงเรื่องกลับมาปรับแก้ไขใหม่เพื่อความรอบคอบ มีการปรับวงเงินโครงการ จาก 6,468.69 ล้านบาท เป็น 6,473.98 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5.29 ล้านบาท เนื่องจากคำนวณปรับราคากลาง (Factor F) มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จาก 5% เป็น 7%
4. การรถไฟฯ ขออนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติม วงเงิน 197.38 ล้านบาทสำหรับงานเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 135 กม.
5. กรมทางหลวง (ทล.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (งบกลาง ปี 67) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 600.35 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K)
6. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขออนุมัติกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 30,025.66 ล้านบาท
7. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เสนอพิจารณากำหนดแนวทางโครงการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือเอ 0 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)
8. การมอบหมายให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มอบความรับผิดชอบการบริหารท่าอากาศยานตากให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
@“สุริยะ” มั่นใจงานไม่สะดุด ข้อมูลครบถ้วน พร้อมดันเสนอ ครม.ใหม่เดินหน้า
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีการนำเสนอโครงการไปที่เลขาฯ ครม.เพื่อรอบรรจุวาระการประชุม ซึ่งกรณีที่นายกรัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งไปไม่ใช่การยุบสภา ครม. และ รมต.ยังสามารทำหน้าที่ได้ตามปกติ ซึ่งตนเห็นว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้รับโปรดเกล้าฯ จะเร่งเดินหน้าทำงานได้ทันที ดังนั้นเชื่อว่างานต่างๆ จะไม่สะดุดหรือล่าช้าแน่นอน
ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงานต่างๆ จะต้องดำเนินการเป็นไปตามความเหมาะสม ซึ่งกรณีที่ ระเบียบกำหนดให้นำโครงการกลับคืนมาที่หน่วยงาน หรือกระทรวงก่อน ตนเห็นว่า ไม่ใช่ปัญหา เพราะโครงการที่เคยนำเสนอครม.ไปนั้น ทุกโครงการมีความพร้อมรวมถึงผ่านขั้นตอนการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว พร้อมเร่งเรัดให้ดำเนินการต่อเนื่อง จึงไม่น่าจะเสียเวลาเพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก
ด้านนายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า ครม.รักษาการทำได้หมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าพูดกันในทางทฤษฎี ยุบสภาก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติเขาไม่ยุบหรอก จะยุบทำไม แต่ถ้าโยกย้ายหรืออนุมัติงบอย่างนั้นทำได้ทั้งหมด มันไม่เหมือนกับเวลายุบสภา เพราะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ แต่งตั้งก็ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการพ้นตำแหน่งในลักษณะแบบนี้ทำได้หมด
กรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลง ผลกระทบเกี่ยวกับแผนงานและโครงการต่างๆ ที่ค้างในการบรรจุวาระการพิจารณาของ ครม.มีแน่นอน ซึ่งตามขั้นตอนแผนงานและโครงการต่างๆ จะต้องถูกตีกลับไปที่หน่วยงานต้นสังกัดทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่โครงการที่ได้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็จะต้องถูกตีกลับไปที่หน่วยงานต้นสังกัดเช่นกัน
"เพียงแต่ว่าแผนงานใด โครงการไหนที่เคยรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้วนั้นก็ให้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ พิจารณาเองว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติเลยหรือไม่ หรือจะเอาโครงการไปทบทวน ไปรับฟังความเห็นอีกรอบ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละกระทรวง"
@ ก่อนสิ้นปี 67 เตรียมดันบิ๊กโปรเจกต์อีกชุดใหญ่
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมยังมีโครงการที่อยู่ในแผนงานเตรียมเสนอ ครม.ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ได้แก่
1. โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ซึ่งบอร์ด รฟท.ให้ความเห็นชอบเมื่อ วันที่ 25 ก.ค. 2567
หลังจากนี้เป็นขั้นตอนนำเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม.พิจารณาอนุมัติ คาดว่าจะได้รับอนุมัติเดือน ม.ค. 2568 เปิดประกวดราคาผู้รับจ้างระหว่างเดือน ก.พ. 68 ถึง ต.ค. 2568 (ระยะเวลา 9 เดือน) เริ่มก่อสร้างโครงการฯ เดือน พ.ย. 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ย. 2574
2. โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดงอ่อน) ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทางรวม 20.5 กม. วงเงินโครงการ 15,176.21 ล้านบาท ผ่านบอร์ด รฟท.เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 หลังจากได้พิจารณา รวมเส้นทางช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีสะพานพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถานีบ้านฉิมพลี) และโครงการสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เข้าด้วยกันเป็นโครงการเดียวกัน และเปิดประกวดราคาสัญญาเดียว เนื่องจากจะส่งผลดีต่อการส่งมอบพื้นที่และการก่อสร้างในจุดทับซ้อนกันที่สถานีตลิ่งชัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง และงานระบบต่างๆ รวมถึงให้ดำเนินงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จพร้อมกัน
การรวม 2 เส้นทางเป็นโครงการเดียว ทำให้มูลค่าโครงการรวมเดิม 15,286.27 ล้านบาท เหลือ 15,176.21 ล้านบาท หรือกรอบวงเงินโครงการลดลง 110.06 ล้านบาท เพราะสามารถลดงานที่ซ้ำซ้อนลง รวมถึงลดค่าจ้างที่ปรึกษาลงไปด้วย ตั้งเป้าก่อสร้างเดือน พ.ค. 2568 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 36 เดือน คาดว่าเปิดให้บริการเดือน พ.ค. 2571
3. โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,312 กม. วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 298,047 ล้านบาท ประกอบด้วย
- โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143.23 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,103.11 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,900.89 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 30,422 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วง สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 66,270 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วง เด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 68,222 ล้านบาท
4. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ซึ่งตามแผนงานหลัง ครม.เห็นชอบยังมีกระบวนการอีกหลายขั้นตอน คือ ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ พ.ศ. และจะนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภาภายในเดือน ก.พ. 2568 เป้าหมายจะเร่งรัด พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ต.ค. 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะขยายใช้กับรถไฟฟ้าทุกสายต่อไป
5. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ (M8) ซึ่งจะดำเนินการในระยะแรกก่อน คือช่วงนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กม. รวมวงเงินลงทุน 43,227.16 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 29,156 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,783.29 ล้านบาท ค่าเวนคืน12,287.87 ล้านบาท
ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างสรุปข้อมูลโครงการ รายละเอียดวงเงินโครงการ รูปแบบก่อสร้าง คาดว่าจะทบทวนการศึกษาเสร็จในปี 2567 โดยกรมทางหลวงจะลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง ดังนั้นจึงไม่ต้องเสนอไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ส่วนงานระบบ O&M จะสรุปการศึกษาการร่วมลงทุนเอกชน และเสนอ สคร.และบอร์ด PPP อนุมัติในลำดับต่อไป
6. โครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 หรือ Double Deck ซึ่งขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ในการลงทุน Double Deck และลดอัตราค่าทางด่วนเหลือ 50 บาท ตามนโยบายเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างรอการตรวจสอบร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมจากสำนักงานอัยการสูงสุด และการชี้แจงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อ สผ. หลังสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเสร็จพร้อมเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม.ต่อไป
7. โครงการระบบด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ในระยะที่ 1 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) หรือตอน N2 เดิม ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท
8. โครงการทางด่วน สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต หรือโครงการอุโมงค์ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงินโครงการประมาณ 16,190 ล้านบาท เป็นการเสนอปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินโครงการ จากเดิมที่ ครม.อนุมัติให้ลงทุนแบบ PPP-Net Cost แต่เปิดประมูลแล้วไม่มีเอกชนยื่นซอง จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบ กทพ.ลงทุนงานก่อสร้างโยธาเอง
ต้องยอมรับว่าในรอบ1 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลและ ครม. “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” โครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของกระทรวงคมนาคมมีการผลักดันออกมาน้อยมาก จะมีเพียงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงินลงทุน 29,748 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างประกวดราคา ส่วนโครงการอื่นถูกนำกลับมาศึกษาทบทวนกันใหม่ รอบนี้เปลี่ยนตัวนายกฯ เป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ต้องรอดูว่าจะขับเคลื่อนการลงทุนอย่างไร!