xs
xsm
sm
md
lg

"สุริยะ" ชวนญี่ปุ่นลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย และช่วยเหลือด้านซ่อมบำรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” หารือเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นชวน ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางที่เตรียมเสนอ ครม. และร่วมกันพัฒนาระบบขนส่งมวลชนนำทางอัตโนมัติ (AGT) สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล สายสีเทา และสายสีเงิน

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ณ ห้องรับรอง กระทรวงคมนาคม และได้มีการหารือถึงความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยกับหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า
ได้เชิญชวนญี่ปุ่นพิจารณาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. บางซื่อ - พญาไท - มักกะสัน - หัวหมาก และบางซื่อ - ห้วยลำโพง 2. รังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และ 3. ศิริราช - ตลิ่งชัน - ศาลายา ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

และมีการหารือในประเด็นที่จะขอรับความช่วยเหลือด้านการซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดงจากญี่ปุ่น โดยให้ความสนใจกับกลุ่มบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย อีกทั้งจากการนำเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนนำทางอัตโนมัติ (AGT) มาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งมีความสำเร็จในการดำเนินงาน จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการต่อยอดเทคโนโลยีนี้ไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล สายสีเทา และสายสีเงิน


นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับญี่ปุ่นในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะบางซื่อ ระหว่างองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (UR) กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการได้เน้นย้ำถึงความสำคัญการพัฒนาโครงการที่ผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสถานีขนส่ง (TOD) ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน

ความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) กับกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ภายใต้ความตกลงระหว่างกระทรวงคมนาคมไทย-ญี่ปุ่นด้านการจัดการจราจรและเทคโนโลยีทางถนน ที่ผ่านมาได้มีการหารือและการเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ ระบบ SCADA (ระบบตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-Time) และโครงการก่อสร้างอุโมงค์และสะพาน โดยกระทรวงคมนาคมจะให้การสนับสนุนการศึกษาดูงานระหว่างกันอย่างต่อเนื่องต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น