xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมสั่งด่วน กทท.จับตาเรือขนสารพิษ สกัดลักลอบเทียบท่าแหลมฉบัง สายเรือยันไม่มีเส้นทางเข้าไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มนพร” สั่งด่วน “การท่าเรือฯ” เฝ้าติดตาม สกัดเรือขนตู้สารพิษลักลอบเทียบ “ท่าเรือแหลมฉบัง” กำชับความปลอดภัย-ความมั่นคง ยึดระเบียบและข้อกฎหมาย ด้าน กทท.ยกระดับเฝ้าระวัง ”แหลมฉบัง“ ด้านตัวแทนสายเรือยัน! ไม่มีเส้นทางการเดินเรือประจำในไทย

จากที่มีสื่อต่างประเทศรายงานข่าวระบุว่า มีเรือบรรทุกสารพิษ จำนวน 2 ลำ ขนสารพิษประเภทฝุ่นเกิดจากกระบวนการผลิตเหล็กด้วยเตาอิเล็กทริกอาร์กเฟอร์เนซ กว่า 100 ตู้ จากประเทศแอลเบเนีย มุ่งหน้าเข้าท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 นั้น

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งมอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะกำกับดูแลท่าเรือแหลมฉบัง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อตรวจสอบ และป้องกันการลักลอบนำสารพิษเข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทาง อีกทั้ง ได้กำชับให้ กทท.ดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัย และความมั่นคงของประเทศชาติ โดยยึดระเบียบ และกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่าเรือฯ ได้รับข้อสั่งการจาก รมช.คมนาคม พร้อมทั้งได้ติดตามกรณีเรือบรรทุกสารพิษที่มีปลายทางว่าจะเข้าเทียบท่าท่าเรือแหลมฉบังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร ฯลฯ

ทั้งนี้ ขณะนี้ได้รับการยืนยันจากตัวแทนสายเรือว่าเรือทั้ง 2 ลำเป็นเรือในเครือของ Maersk Campton ที่จดทะเบียนในธงอังกฤษ และไม่ได้เป็นของ Maersk แต่เป็นเรือที่ได้รับสัญญาเช่าในนาม Maersk เพื่อขนส่งสินค้า โดยไม่มีเส้นทางการเดินเรือประจำในประเทศไทย จึงไม่ได้มีกำหนดเข้าประเทศไทย และพบว่าเรือที่เป็นข่าวลำแรกอยู่ในบริเวณทะเลฝั่งทวีปแอฟริกา และเรืออีกลำอยู่ระหว่างเดินทางไปประเทศสิงคโปร์

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ได้สั่งการให้ท่าเรือแหลมฉบังเกาะติดสถานการณ์ พร้อมยกระดับการเฝ้าระวัง และประสานงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อความไม่ประมาท และป้องกันการลักลอบนำสารพิษเข้ามาในประเทศไทย โดยเป็นไปตามระเบียบ การท่าเรือฯ ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับสินค้าอันตรายของท่าเรือแหลมฉบัง พ.ศ. 2559 ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบเอกสารล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ก่อนเรือสินค้าเทียบท่า นอกจากนี้ยังมีการประสานร่วมกับสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังเพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบหากมีการนำเข้าตู้สินค้าดังกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น