xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทย คุยพันธมิตร พร้อมลงทุน MRO อู่ตะเภา ชี้ดีมานด์ในมือพร้อมบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การบินไทยไม่ถอย คุยพันธมิตรพร้อมเดินหน้าลงทุน MRO อู่ตะเภา รอ"อีอีซี "ยืนยันชัดเจน ถอนสิทธิ์ - ประมูลอย่างไร ถามกลับหากอีอีซีไม่มีศูนย์ซ่อมการบินไทย แล้วผู้ประกอบการรายไหนจะมีขีดความสามารถดึงดีมานต์ใช้บริการ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยพร้อมเดินหน้าลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งได้เตรียมแผนไว้แล้ว ซึ่งการบินไทยมีศูนย์ซ่อมที่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา แต่ต่อมา ทาง อีอีซี ขอให้การบินไทยย้ายออก เพื่อเปิดพื้นที่ในการก่อสร้างรันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภา และเมื่อปี 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติการบินไทยให้การลงทุน MRO ที่อู่ตะเภา โดยไดรับจัดสรรพื้นที่ 210 ไร่

ส่วนกรณีที่ อีอีซี เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาให้ทบทวนมติครม.ที่ให้สิทธิ์ การบินไทย ดำเนินโครงการ MRO อู่ตะเภา เนื่องจากการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้วและจะเปิดประมูลนักลงทุนเข้ามาลง MRO นั้น นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด หรือเงื่อนไขใดๆ แต่การบินไทย ยืนยันการลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อม MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา และหากข้อสรุปทาง อีอีซี จะเปิดประมูลการบินไทยก็มีความพร้อมในการเข้าไปลงทุน

“การบินไทยมีความพร้อม เพราะมีดีมานด์เครื่องบินที่พร้อมเข้าซ่อมบำรุงได้ เฉพาะการบินไทยมีจำนวนเครื่องบินอยู่มาก และในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีจำนวนเครื่องบินประมาณ 130-150 ลำแล้วยังมีสายการบินอื่นในประเทศอีก”

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทย กล่าวว่า บริษัทพร้อมลงทุน MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา โดยได้ทำการศึกษามาตลอด และยังไม่ได้รับแจ้งกรณีอีอีซี จะเสนอยกเลิกสิทธิ์การบินในการเข้าไปดำเนินการโครงการ จากประเด็นที่ปัจจุบัน การบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว อย่างไรก็ดี หากอีอีซีเปิดประมูลการบินไทยพร้อมเข้าร่วมแต่ก็ต้องขอดูเงื่อนไขก่อน

“ต้องคิดว่า การบินไทยเป็นผู้ประกอบการของประเทศไทย แล้วไม่มีศูนย์ซ่อมเครื่องบิน แปลว่า จะต้องส่งเครื่องบินที่มีไปซ่อมที่ต่างประเทศ ไม่น่าจะเหมาะสม เพราะเงินตราจะไหลออกนอกประเทศ ถ้าในพื้นที่อีอีซีไม่มีศูนย์ซ่อมของการบินไทย ผู้ประกอบการรายไหนจะมีขีดความสามารถในการดึงดีมานต์เครื่องบินเข้ามาซ่อมได้มากขนาดนี้ได้ทันที เพราะธุรกิจ MRO นอกจากการซ่อมเครื่องของสายการบินเองเป็นหลัก และการซ่อมบำรุงเครื่องบินของลูกค้า ธุรกิจจึงไปได้ และแล้วอีกมุมหนึ่ง ที่อีอีซีจะเปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการนั้น ก็ต้องดูเงื่อนไขก่อนว่าจะมีข้อกำหนดอย่างไรบ้างดังนั้นวันนี้จึงยังตอบอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นอะไรเลย”

นายชายกล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่ออีอีซีขอพื้นที่การบินไทยเพื่อไปทำรันเวย์ใหม่ การบินไทยดำเนินการรื้อโรงซ่อมเครื่องบิน (แฮงก้า) ออก ขายเป็นเศษเหล็ก ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยกันมาตลอดและวันนี้ โอกาสเปิดในการลงทุน ก็ควรเป็นการบินไทยหรือไม่ ที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งจากการหารือกับ อีอีซี ล่าสุดมี 2 แนวทาง ได้แก่ 1. การดำเนินการในลักษณะการเช่าพื้นที่ และ 2.สิทธิที่การบินไทยเคยได้รับจากมติครม.ในการให้เข้าไปลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างการตีความ เนื่องจากการบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้วการบินไทย

นอกจากนี้มีการพูดคุยกับ พันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ โดยในการลงทุนไม่ได้เป็นปัญหากับการเงินที่เป็นเงื่อนไขในแผนฟื้นฟู เพราะเป็นการทยอยลงทุน อีกทั้งในการทำศูนย์ซ่อม จะมีหลายกิจกรรม และมีพันธมิตรหลายรายเข้ามาร่วมกัน ที่ผ่านมาอาจจะมองว่ามีแอร์บัสที่หารือกันไว้ แต่ความเป็นจริงไม่ได้มีแค่นั้นยังมีผู้ประกอบการรายอื่นอีกที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อะไหล่ เก้าอี้ พ่นสี เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น