xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทย เผย Q2/67 กำไรวูบ 86% เหลือ 314 ล้านบาท ขาดทุนบาทอ่อน-ด้อยค่าเครื่องบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การบินไทย กำไรวูบ 86% ไตรมาส 2/67 ค่าใช้จ่ายพุ่ง-ขาดทุนแลกเปลี่ยน และด้อยค่าเครื่องยนต์ จ่อยื่นไฟลิ่งขายหุ้นเพิ่มทุน ออกจากแผนฟื้นฟู ไตรมาส 2 ปี68 ยันคลังถือหุ้นมากสุด ไม่เกิน 40% ปิดประตูกลับคืนรัฐวิสาหกิจ ปี 67-69 เช่าเครื่องบิน 16 ลำเสริมกลยุทธ์ขายNETWORK ระหว่างรอฝูงบินใหม่ 45 ลำ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 314 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 4,401 ล้านบาท และมีรายการพิเศษที่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนตัว และการด้อยค่าของเครื่องยนต์เครื่องบินแอร์บัส A380

โดยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 37,381 ล้านบาท แต่ลดลง 4.3% เมื่อเทียบจากไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่ปริมาณความต้องการเดินทางอยู่ในระดับต่ำที่สุดของปี

และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 38,056 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 32.1% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 5,925 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 ที่มีกำไร 8,576 ล้านบาท

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,796 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 809 ล้านบาท ภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 2 เป็นไปตามที่คาดไว้

โดยบริษัทฯ ได้กลับมาทำการบินสู่เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี และกรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทาง และพัฒนาความร่วมมือกับสายการบินคูเวตแอร์เวย์สในรูปแบบเที่ยวบินรหัสร่วม (Codeshare) เชื่อมต่อเครือข่ายไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและยุโรป ทำให้มีผู้โดยสารรวมในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 จำนวน 3.81 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 73.2%

@ ผ่าน 6 เดือน รายได้มาแล้ว 8.99 หมื่นล้าน คาดทั้งปีทำได้ตามเป้า 1.8 แสนล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 89,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 14.0% มีค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 72,935 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 27.3% มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 17,001 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 21.3% มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 9,403 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและการด้อยค่าสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 4,847 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,738 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 14,795 ล้านบาท และมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 18,402 ล้านบาท โดยมี EBITDA สูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ มีกำไรสุทธิต่ำกว่างบประมาณเล็กน้อย เนื่องจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น


@เตรียมยื่นไฟลิ่งขายหุ้นเพิ่มทุน ก.ย.67 ออกจากแผนฟื้นฟู Q2/68

นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี บริษัทฯ ได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 4,644 ล้านบาท จากหนี้ที่ครบกำหนดชำระทั้งปีจำนวน 13,022 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัทจะยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเดือน ก.ย.67 คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค.67 และยื่นออกจากแผนฟื้นฟูในไตรมาส 2/68 ตามเป้าหมาย

โดยเชื่อมั่นว่า จะดำเนินการได้ตามเงื่อนไขในการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ 1.กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา (EBITDA)หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน ในช่วง 12 เดือนให้เกิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในงวด 6 เดือน มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน อยู่ที่ 18,402 ล้านบาท และคาดว่าครึ่งปีหลังจะทำได้ดีกว่าครึ่งปีแรก

2. ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ซึ่งจาก ณ สิ้นเดือน มิ.ย.67 ยังติดลบ 40,430 ล้านบาท คาดว่าส่วนของทุนจะเป็นบวกจากผลประกอบการที่ฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งในครึ่งปีหลังเชื่อว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะติดลบน้อยลง ขณะเดียวกันบริษัทจะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟู คือ การแปลงหนี้เป็นทุน และออกหุ้นเพิ่มทุน

สำหรับการแปลงหนี้สัดส่วน 100% เป็นทุนในราคาแปลงหนี้เป็นทุน 2.5452 บาท/หุ้น ได้แก่กระทรวงการคลังที่จะแปลงหนี้ในสัดส่วน 24.50% ของมูลหนี้เป็นทุน 5,040 ล้านหุ้น เป็นเงิน 12,827 ล้านบาท และ เจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ แปลงหนี้สัดส่วน 24.50% ของมูลหนี้เป็นทุน รวมเป็น 9,822 ล้านหุ้น เป็นเงิน 25,000 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยตั้งพัก ก็มีสิทธิแปลงหนี้เป็นทุน 1,904 ล้านหุ้น

ส่วนออกหุ้นเพิ่มทุน ประมาณไม่น้อยกว่า 9,822 ล้านหุ้นที่จะขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม พนักงานการบินไทย นักลงทุนวงจำกัด (PP) ราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาท/หุ้น และหากยังมีส่วนที่เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุนไม่หมดก็จะมีจำนวนหุ้นเพิ่มทุนมากขึ้น

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า คาดว่าจากการแปลงหนี้เป็นทุนและออกหุ้นเพิ่มทุน บริษัทจะมีส่วนทุนเข้ามา ประมาณ 31,500 ล้านบาท และเมื่อรวมกับผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจะช่วยให้บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก

“ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 31 ธ.ค.2567 ในส่วนการขายหุ้นเพิ่มทุน แผนระบุว่าราคากำหนดไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาท/หุ้น ซึ่งประเมินแผลงหนี้เป็นทุน ขายหุ้นเพิ่มทุน รวมกับผลประกอบการในช่วงไตรมา 3และ4 ของปี 2567 จะทำให้ทุนกลับมาเป็นบวกอีกครั้งภายใน 31 ธ.ค.2567 แน่นอน ซึ่งต้องรอ งบผ่านผู้สอบบัญชีช่วงในปลายเดือน ก.พ. 2568 จึงจะสามารถยื่นศาลออกจากแผนได้ในไตรมาส 2 ปี 2568 ปี และยื่นขอเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในไตรมาส 2 ปี 2568”


@คลังถือหุ้นมากสุด ไม่เกิน 40% ปิดประตูกลับคืนรัฐวิสาหกิจ

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า หลังจากแปลงหนี้เป็นทุนและขายหุ้นเพิ่มทุนแล้ว ส่วนของกระทรวงการคลังกรณีใช้สิทธิ์เต็ม จะทำให้มีสัดส่วนถือหุ้น ประมาณ 33-40% นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าสถาบันการเงิน จะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 30% ซึ่งตามตัวเลขสัดส่วนหุ้นนี้ การบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ ยกเว้นกระทรวงการคลังจะไปซื้อหุ้นเพิ่ม หลังจากที่ การบินไทยเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ซึ่งต้องดูว่า สมควรทำแบบนั้นหรือไม่

@ปรับกลยุทธ์ขายตั๋วแบบ Network ช่วยเพิ่มผู้โดยสาร

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขายเป็นแบบ Network มากขึ้น จากเดิม ขายแบบ Point to Point ซึ่งทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้น แม้อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่นในไตรมาส 2 โดยการเดินทางแบบ Network ที่ทำให้ผู้โดยสารเชื่อมต่อการเดินทางได้สะดวก เช่น ลอนดอน- กรุงเทพ- ซิดนีย์ การใช้กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น อีกทั้งการเชื่อมต่อกับเส้นทางในประเทศที่มีเครื่องบินจากสายการบินไทยสมายล์รองรับอยู่แล้ว ทำให้ Cabin Factor ดีขึ้น และบริษัทจะไม่แข่งกับสายการบินโลว์คอสต์


นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/67 เป็นไปตามประมาณการ เพราะปีที่แล้วเป็นปีที่ผิดปกติ ธุรกิจการบินเพิ่งเริ่มฟื้นตัว เครื่องบินหรือซัพพลายในตลาดมีน้อยกว่าดีมานด์มาก ทำให้ผลประกอบการปีที่แล้วดีเกินคาดอย่างมาก แต่ในปีนี้ธุรกิจการบินเริ่มกลับเข้าสู่ปกติ แต่จำนวนเครื่องบินก็ยังไม่มากเท่าปีก่อนโควิด รวมถึงขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน จากเงินบาทอ่อนค่า โดยสิ้นมิ.ย.67 เงินบาทอยู่ที่ 37.01 บาท/ดอลลาร์ จากสิ้นปี 66 เงินบาทอยู่ที่ 34.30 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 6,400 ล้านบาท

“ไตรมาส 2/67 เป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) ซึ่งในอดีตการบินไทยขาดทุนในไตรมาส 2 แทบทุกปี แต่ในปี 2566 และปีนี้ สามารถทำกำไรได้”

โดย คาดว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะอยู่ในช่วง High Season ยกเว้นเดือน ก.ย.ที่เป็นช่วง Low Season และเงินบาทปัจจุบันก็กลับมาแข็งค่าขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก โอกาสขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนก็น้อยลง ไม่มีด้อยค่าสินทรัพย์แล้ว แต่ใช้คืนหนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง 7,000 ล้านบาทจากครึ่งแรกที่จ่ายไปแล้ว 4,600 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในประมาณการ ทั้งนี้ เชื่อว่าในปีนี้บริษัทจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้มีรายได้รวม 1.8 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทมีสภาพคล่องสูง โดยสิ้นเดือน มิ.ย.67 มีอยู่ 8.1 หมื่นล้านบาท บริษัทไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่มีปัญหาส่วนของทุนมากกว่าที่เกิดจากการขาดทุนสะสมต่อเนื่องซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้โครงสร้างทุนอ่อนแอ ดังนั้นเมื่อโครงสร้างทุนกลับมาแข็งแรงบริษัทจะเดินหน้าลงทุนในอนาคตได้


@ปี 67-69 เช่าเครื่องบิน 16 ลำ เสริมกลยุทธ์ขานNETWORK ระหว่างรอฝูงบินใหม่ 45 ลำ

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 77 ลำ มีอัตราการใช้เครื่องบินในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ย 13.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยช่วงปลายปี 67 จะรับมอบเพิ่มอีก 2 ลำ คือ เครื่องบินลำตัวกว้า แอร์บัส A 330 จะทำให้สิ้นปี 67 มีเครื่องบิน 79 ลำ ส่วนในปี 68 จะมีการเช่าเครื่องบินเพิ่ม โดยจะรับมอบเครื่องบินลำตัวกว้าง A330 จำนวน 1 ลำ และ ในปี 69 รับมอบอีก 2 ลำเป็น เครื่องบินลำตัวกว้างโบอิ้ง 787-9 และช่วงปี 68-69 จะรับมอบเครื่องบินลำตัวแคบ A 321 neo จำนวน 12 ลำจะรับมอบในปี 68-69

แผนเช่าเครื่องบินดังกล่าวเป็นการดำเนินงาน ในช่วงที่รอเครื่องบินใหม่เข้ามาที่บริษัทจัดหาเครื่องบินใหม่แบบลำตัวกว้าง 45 ลำ และยังมีออปชั่นซื้อเพิ่ม 35 ลำ (หาก ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกถดถอย การบินไทยก็จะยกเลิกออปชั่นที่จะซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 35 ลำได้ ) โดยจะทยอยรับมอบใน 10 ปี เริ่มปี 2570 โดยบริษัทจะดำเนินการเช่าเครื่องบินมือสอง และเครื่องบินใหม่ เพื่อมาทำการบินตามกลยุทธ์การขายเป็นแบบ Network มากขึ้น และในอนาคตจะมีฝูงบินประมาณ 140 -150 ลำ


นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ การบินไทย กล่าวว่า ในเดือน ก.ค. 67Cabin Factor ในเส้นทางยุโรป สูงถึง85% และคาดว่า
ส.ค.จะใกล้เคียงในก.ค. ขณะที่ออสเตรเลียCabin Factor ก็สูงถึง
80% ส่วนในประเทศ สูงถึง90% ส่วนเส้นทางจะกลับมาบิน
กรุงเทพ- มิลาน เริ่มบิน1 ก.ย.นี้ มียอดจองเกิน75% แล้ว และยอดจอง กรุงเทพ- ออสโล ยอดจอง91% ในส.ค.
สำหรับกรุงเทพ -บรัสเซลส์ จะกลับมาบิน1 ธ.ค.67

และ ยังมีอีก2 เมืองในยุโรป คือ โรม และมาดริด ที่ยังไม่ได้กลับไปบิน
ซึ่งต้องขอเวลาศึกษาก่อน และขณะนี้จำนวนเครื่องบินไม่พอ ส่วนเครื่องบินที่จะรับมอบในไตรมาส
4 ปีนี้อีก2 ลำ บริษัทจะนำไปเพิ่มความถี่ในเส้นทางอินเดีย
ได้แก่ นิวเดลี มุมไบ ละฮอร์การาจี เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น