สนข.ชงแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ (W-MAP) เพิ่มเรือโดยสาร 8 เส้นทางกว่า 112 กม. ลงทุนกว่า 8.87 พันล้านบาท ปรับปรุงท่าเรือ สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เตรียมคิกออฟ 4 เส้นทาง คลองบางกอกน้อย ‘ประตูน้ำฉิมพลี-ศิริราช’คลองลาดพร้าว’สายไหม-พระโขนง’คลองแสนแสบ วิ่งถึงวัดบำเพ็ญเหนือ
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (W-MAP) ว่า สนข.ได้มีการศึกษาและสำรวจรายละเอียดเส้นทางการเดินเรือเพื่อเพิ่มเส้นทางการเดินทางทางน้ำ โดยมีการ ปรับปรุงแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พ.ศ. 2567-2575) เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนำเสนอกระทรวงคมนาคม เห็นชอบแล้ว และเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2567 ได้เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
โดยสนข.จะมีการรายงานความคืบหน้าการปรับปรุงแผนปฎิบัติการฯต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ( คจร.) ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมช่วงปลายเดือนม.ค.นี้ ซึ่งเป้าหมายของแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะ ที่เพิ่มทางเลือกในการเดินทางของประชาชน แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดทางถนน ซึ่งจะการขยายเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองแสนแสบที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ยาวขึ้น เพื่อรองรับในจุดที่ความต้องการเดินทาง และเพิ่มเส้นทางเดินเรือในคลองที่ยังไม่มีบริการ ซึ่งจะมีเส้นทางเดินเรือเพิ่มขึ้นอีก 112.9 กิโลเมตร (กม.)
แบ่งเป็นแผนระยะสั้น ปี พ.ศ. 2567-2570 ระยะทางเพิ่มขึ้น 56.2 กิโลเมตรจำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่
S1 : เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหมถึงพระโขนง ระยะทาง 25.7กม. จำนวน 23 ท่าเรือ เป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ และความต้องการเดินทาง โดยกายภาพคลองมีความกว้าง 40 เมตร ความลึก 2.5 เมตร ระยะทาง 25.7กม. โดยจะต้องมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ช่วงระหว่างประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ –คลองแสนแสบ ขุดลอก ปรับปรุงท่าเรือ ติดตั้งป้ายและพัฒนาพื้นที่ทางเข้า-ออก ท่าเรือ มีกทม.และกรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ วงเงินลงทุนประมาณ 1,793.84 ล้านบาท คาดเปิดบริการในปี 2570
S2 : เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบช่วงวัดศรีบุญเรืองถึงวัดบำเพ็ญเหนือ ระยะทาง 6.8 กม. จำนวน 13 ท่าเรือ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท ครอบครัวขนส่ง จำกัด ให้บริการเดินเรือ ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงวัดศรีบุญเรือง (เส้นทางเดิม) ระยะทาง 17.2 กม. จานวน 28 ท่าเรือ แต่ยังไม่ครอบคลุม จึงศึกษาขยายเส้นทางเดินเรือให้มีระยะทางยาวขึ้น
กายภาพคลอง มีความกว้าง 20 -35 เมตร ความลึก 2.5 เมตร ความยาว 24.0 กม. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ช่วงทางด่วนเฉลิมมหานคร -คลองตัน รวมถึงดำเนินการขุดลอก ปรับปรุงท่าเรือ ติดตั้งป้ายและพัฒนาพื้นที่ทางเข้า-ออก ท่าเรือ วงเงินลงทุนประมาณ 3,240.70 ล้านบาท คาดเปิดบริการในปี 2570
S3 : เส้นทางเดินเรือในคลองบางกอกน้อย ช่วงประตูน้ำฉิมพลีถึงศิริราช ระยะทาง 17.1กม. จำนวน 18 ท่าเรือ ซึ่งมีชุมชนหนาแน่นและมีความต้องการเดินทางไปยังศิริราช และบริเวณใกล้เคียง กายภาพคลอง มีความกว้างความกว้าง 40 เมตร ความลึก 2.5 เมตร ความยาว 17.1 กม. แผนปรับปรุงวงเงิน 397.53 ล้านบาท คาดเปิดบริการปี 2569
S4: เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากรช่วงท่า SCG ถึงท่าสวนสาธารณะ ปตท. 6.6 กม.จำนวน 7 ท่าเรือ เส้นทางนี้ จะรองรับด้านการท่องเที่ยวมากกว่า เนื่องจากมีการพัฒนาปรับปรุงทัศนีภาพคลองเปรมประชากร โดยกทม.อยู่ระหว่างเร่งรัดทำกำแพงกันคลื่น ไปแล้ว 80% กายภาพคลอง มีความกว้างความกว้าง 12 -30 เมตร ความลึก 2.5 –3.0 เมตร ความยาว 6.6กม.
แผนระยะยาว ปี พ.ศ. 2571 –2575 มีระยะทางเพิ่มขึ้น 56.7 กม. จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ L1 : ต่อขยายเส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร ช่วงท่าสวนสาธารณะ ปตท. ถึง วัดรังสิต ระยะทาง 13.7 กม. จำนวน 13 ท่าเรือ รองรับและเชื่อมต่อการเดินทาง และท่องเที่ยว จากจ.ปทุมธานีเข้ามาได้ คาดวงเงินลงทุนประมาณ 219.93 ล้านบาท เปิดบริการในปี 2569
L2: เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยาย ช่วงปากเกร็ดถึง ที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 15.0 กม. จำนวน 3 ท่าเรือ คาดวงเงินลงทุนประมาณ 1,793.48 ล้านบาท เปิดบริการในปี 2573
L3: เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์ ช่วงวัดชัยพฤกษมาลา ถึง ประตูน้ำมหาสวัสดิ์ ระยะทาง 28 กม. จำนวน 13 ท่าเรือ คาดวงเงินลงทุนประมาณ 56.80 ล้านบาท เปิดบริการในปี 2572
นอกจากนี้ยังมี การลงทุนในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมอีกประมาณ 1,316.05 ล้านบาท เพื่อยกระดับการให้บริการในภาพรวม เช่น กรมเจ้าท่าปรับปรุงท่าเทียบเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 29 แห่ง วงเงิน 1,144 ล้านบาท ขุดลอกคลองผดุงฯ ติดตั้งป้ายต่าง เป็นต้น รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 8,871.40 ล้านบาท