ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการผลิตสื่อบันเทิงของไทยกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 2024 การละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นถึง 61% เทียบกับ 39% ในปี 2023 ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก จากรายงาน "Streaming Piracy Overview Final - 29.05.24” ที่จัดทำโดย Coalition Against Piracy (CAP) พันธมิตรเพื่อการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ และ Synamedia บริษัทผู้เชี่ยวชาญการให้บริการด้านโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยเนื้อหาและการจัดการวิดีโอ พบว่าความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายของไทยโดยเฉพาะพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 20 ที่ให้อำนาจในการปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น มีความล่าช้าและไม่สามารถบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเข้าถึงและเผยแพร่เนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ในปี 2024 คาดว่าจะสร้างความเสียหายทางการเงินสูงถึง 10,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมภาพยนตร์และสื่อบันเทิงซึ่งมีรายได้ประมาณ 50,000 ล้านบาทในปี 2023 อาจต้องชะลอการเติบโตเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์
ถึงแม้จะมีเครื่องมือทางกฎหมายในการปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่การบังคับใช้ยังคงมีปัญหา ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ i-moviehd.com ยังคงเข้าถึงได้ในบางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แม้จะมีคำสั่งศาล
การละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงเป็นภัยร้ายที่มองไม่เห็นต่อเศรษฐกิจมหภาค และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในไทยอย่างหนัก ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตานานาชาติ
แม้ว่ามาตรา 26 ของพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์จะกำหนดโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท และปรับรายวันไม่เกินวันละ 5,000 บาท หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่การบังคับใช้ยังไม่เข้มงวดเพียงพอ
อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้การปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ คือการย้ายระบบออกอากาศไปยังเครือข่าย Cloud หรือผู้ให้บริการในต่างประเทศ เช่น ลาวและสิงคโปร์ ซึ่งทำให้ยากต่อการดำเนินคดีและจับกุม
การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสื่อบันเทิงของไทยจากการละเมิดลิขสิทธิ์และเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในสายตานานาชาติ
หากประเทศไทยมีความตั้งใจในการบังคับใช้กฏหมาย ก็มีโอกาสที่จะปิดกั้นเว็บไซต์เหล่านั้นได้ เพราะมีตัวอย่างความสำเร็จของการปิดกั้นเว็บไซต์ในต่างประเทศ ที่ส่งผลให้อัตราเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ลดลง
ในประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีการบังคับใช้มาตรการปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การเข้าถึงเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันก็เพิ่มการบริโภคเนื้อหาที่ถูกกฎหมายได้อย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น:
•สิงคโปร์ : มีการปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 500 เว็บไซต์ในปี 2023 ส่งผลให้การบริโภคเนื้อหาถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น 12%
•ฟิลิปปินส์ : มีการปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 300 เว็บไซต์ในปี 2023 ส่งผลให้รายได้จากการสมัครสมาชิกบริการสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้น 15%
•มาเลเซีย : มีการปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 400 เว็บไซต์ในปี 2023 ส่งผลให้การเข้าถึงเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ลดลง 25%
อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ
หากทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ที่มีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายในการปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ มีความจริงใจที่จะดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง และรวดเร็ว ก็น่าจะมีผลให้การปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว สามารถคุ้มครองอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งยังเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าตามข้อบังคับของ WTO ที่ไทยเป็นประเทศสมาชิกอยู่ด้วย