กรมเจ้าท่าครบ 165 ปี “มนพร” ลุยปรับโฉมบริการยกเครื่องท่าเรือเจ้าพระยา 29 แห่ง ชงงบปี 68 เพิ่มขึ้นอีกกว่า 600 ล้านบาท เพิ่มอุปกรณ์ เครื่องมือดูแลด้านความปลอดภัย กำชับติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและมรสุม เข้มดูแลเรือท่องเที่ยวต้องปลอดภัย
วันที่ 5 ส.ค. 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 165 ปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงวางรากฐานการคมนาคมทางน้ำที่มั่นคง พร้อมทั้งมอบทุนส่งเสริมการศึกษาให้แก่บุตรสมาชิกสวัสดิการกรมเจ้าท่า และมอบโล่ยกย่องเชิดชูเกียรติคุณรางวัลคนต้นแบบ และหน่วยงานต้นแบบให้กับกรมเจ้าท่า โดยมีผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และกรมเจ้าท่า บุคลากร และเจ้าหน้าที่เข้าร่วม
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กล่าวว่า กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งยาวนานที่สุดของกระทรวงคมนาคม มีภารกิจครอบคลุม ทั้งการพัฒนาศักยภาพการขนส่งทางน้ำ การยกระดับมาตรฐาน ความปลอดภัยของการคมนาคมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี การพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ การผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวีให้มีคุณภาพ รวมทั้งการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำและชายฝั่งทะเล
ในช่วงที่ผ่านมากรมเจ้าท่ามีแผนการพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 29 แห่ง ให้เป็นสถานีเรือ (ระบบปิด) หรือท่าเรือโดยสารอัจฉริยะ (Smart Pier) ดำเนินการเสร็จแล้ว 15 แห่ง และจะเร่งเดินหน้าพัฒนาให้ครบตามแผน นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ ติดตั้ง CCTV ปรับปรุงห้องน้ำและไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยบริเวณท่าเรือโดยสารแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดได้มีการเปิดท่าเรือท่าเตียนโฉมใหม่ และเป็นจุดเช็กอินท่องเที่ยว และท่าเรือสาทร มีการนำร่องติดตั้งประตูเปิด-ปิดที่ท่าเรือสาทร โดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอีกด้วย
สำหรับปีงบประมาณ 2568 กรมเจ้าท่าได้รับงบประมาณเพิ่มจากปี 2567 ประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นด้านความปลอดภัย ทั้งด้านอัตรากำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือในการดูแล ตรวจตราและอำนวยความสะดวกทั้งลำน้ำและชายฝั่ง
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นฤดูฝน ได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์ฝนและติดตามการขึ้นลงของน้ำ เพื่อกำหนดตารางการเดินเรือที่เหมาะสมและมีความปลอดภัย กรณีมีคำเตือนลมมรสุม จะต้องดูแลการนำเรือออกจากฝั่งอย่างเข้มงวด หากมีคำสั่งห้ามจะต้องดูแลติดตามเพราะบางครั้งนักท่องเที่ยวอาจฝ่าฝืนคำเตือนไปบ้าง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ จะกระทบต่อการท่องเที่ยวได้
ปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติภารกิจร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำไม่เป็นเพียงการส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางน้ำ แต่ยังช่วย สนับสนุนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม การป้องกันภัยแล้งและอุทกภัย การส่งเสริมการท่องเที่ยว การเพิ่มรายได้และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ด้วยการเป็นองค์กรที่พร้อมด้วยความทันสมัยได้มาตรฐาน ผสานความยั่งยืน ซึ่งกรมเจ้าท่า ได้นำนโยบายของกระทรวงคมนาคม ภายใต้โครงการ "ราชรถยิ้ม" ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขยายผลสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการถ่ายทอดนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมสู่การปฏิบัติ อันจะช่วยยกระดับ ภาคการคมนาคมขนส่งทางน้ำของประเทศให้เกิดความสะดวก ประหยัด ปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และครอบคลุมทุกความต้องการของประชาชน สมดังคำว่า "คมนาคมทางน้ำ เพื่อความอุดมสุขของประชาชน"