xs
xsm
sm
md
lg

“อีอีซี” จับมือ อบจ.ระยอง-มหาวิทยาลัย ดึงแอปฯ ViaBus เชื่อมข้อมูลขนส่งสาธารณะ เดินทางสะดวก ปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีอีซีผนึก "อบจ.ระยอง ม.บูรพา และม.เกษตรฯ วิทยาเขตศรีราชา" ดึงแอปฯ ViaBus วางระบบเชื่อมข้อมูลขนส่งสาธารณะ สร้างต้นแบบยกระดับการเดินทางในพื้นที่อีอีซี นำร่องรถโดยสารในมหาวิทยาลัย ก่อนขยายให้ครอบคลุมมุ่งปฏิรูประบบขนส่งทันสมัย ปลอดภัย เชื่อมโยงไร้รอยต่อ

วันที่ 5 ส.ค. 2567 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนการใช้ระบบสารสนเทศสำหรับการขนส่งสาธารณะ ร่วมกับ ดร.ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา รองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง รองอธิการบดีวิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายอินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านระบบแอปพลิเคชันให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานดังกล่าว


นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้เป็นความร่วมมือ 5 ฝ่าย ระหว่างอีอีซี, อบจ.ระยอง, แอปพลิเคชัน ViaBus และมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่ง ถือเป็นความร่วมมือสำคัญเพื่อสร้างต้นแบบการใช้ระบบสารสนเทศสำหรับการขนส่งสาธารณะในพื้นที่อีอีซี โดยนำระบบแอปฯ ViaBus ที่พัฒนาโดยบริษัทเอกชนมาใช้ประโยชน์ในการติดตามรถโดยสารสาธารณะในแบบเรียลไทม์ ปัจจุบันมีการใช้งานอยู่กว่า 6 ล้านคนในพื้นที่กรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด โดยจะนำร่องให้บริการในรถโดยสารสวัสดิการของมหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงรถโดยสารสาธารณะของ อบจ.ระยอง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รองรับการวางแผนเดินทางของประชาชนในพื้นที่อีอีซีผ่านการใช้ระบบฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้ ความร่วมมือตาม MOU จะเป็นการร่วมกันผลักดันให้เกิดการใช้ระบบสารสนเทศ สำหรับระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่อีอีซี ให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายต่อไป โดยจะประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้ที่สนใจอื่นๆ เพื่อยกระดับโครงข่ายการเดินทาง ระบบคมนาคมในพื้นที่อีอีซี โดยทาง อบจ.ระยองจะมีการพัฒนาระบบรถโดยสารที่วิ่งระหว่างระยองกับชลบุรีให้มีเส้นทางครอบคลุม ซึ่งลักษณะการเดินทางตอนนี้คือไปทำงานกับไปมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งมีระบบทันสมัยสามารถตรวจสอบเส้นทางและวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า การที่จะปฏิรูประบบขนส่งในจังหวัดระยองอย่างเต็มรูปแบบนั้นมีข้อจำกัดหลายประเด็น ทั้งด้านงบประมาณ ด้านกฎหมาย และด้านผลกระทบต่อระบบเดิมที่มีอยู่ ทำให้ปัจจุบันประชาชนยังไม่นิยมใช้ระบบขนส่งมวลชน เพราะบริการยังไม่ดี ไม่สะดวก ดังนั้น การที่ระยองจะพัฒนาเป็น Smart City การเดินทางที่สะดวกเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องมีการพัฒนาทั้งระบบ ตั้งแต่ตัวรถซึ่งกำลังทดลองใช้รถโดยสารไฟฟ้า กำหนดเส้นทาง และมีระบบสารสนเทศ ไม่เสียเวลาในการรอรถ แอปฯ ViaBus จะทำให้ผู้ใช้บริการรู้ข้อมูลการเดินทาง ไม่ว่าจะไปทำงานหรือท่องเที่ยว เช่น จากสนามบินอู่ตะเภาไปเกาะเสม็ด ต้องต่อรถอะไรไปท่าเรือ ใช้เวลากี่นาที ต่อเรือที่ไหน ใช้เวลาเท่าไร จะบอกได้หมด เป้าหมายคือ เมื่อจะเดินทางในพื้นที่ระยอง สามารถมั่นใจว่ามีระบบขนส่งสาธารณะบริการได้อย่างไรบ้างล่วงหน้า ไม่ต้องใช้รถส่วนตัว

"หลังลงนามจะสามารถใช้แอปฯ ViaBus ได้สำหรับบริการรถโดยสารในมหาวิทยาลัยและเส้นทางนำร่อง รถนักเรียนก่อน ส่วนภาพรวมจะต้องรออีอีซี ทำแผนแม่บทระบบขนส่งในพื้นที่ จากนั้น อบจ.ระยอง จะทำเครือข่ายเส้นทางให้สอดคล้อง"

ทั้งนี้ เชื่อว่าการนำแอปพลิเคชัน ViaBus ไปประยุกต์ใช้ จะส่งประโยชน์ต่อคนระยอง ต่อ อบจ.ระยอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาโครงการ “รถสาธารณะไฟฟ้าวิ่งเลียบชายหาดแหลมเจริญ” ที่ อบจ.ระยอง กำลังดำเนินการอยู่ แอปพลิเคชัน ViaBus นี้จะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของโครงการ ที่จะสร้างความสะดวกให้แก่กลุ่มผู้ใช้บริการโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดสำหรับโครงการอื่นๆ ของ อบจ.ระยอง ต่อไปได้


รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ความร่วมกับอีอีซีนำแอปฯ ViaBus มาใช้ประโยชน์เป็นระบบเพิ่มเติมจากแอปฯ BBUTransit ที่มหาวิทยาลัยได้พัฒนาและใช้ติดตามรถสวัสดิการของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เพื่อขยายการอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มนิสิต บุคลากร ประชาชน และผู้รับบริการภายในมหาวิทยาลัยให้กว้างขวางมากขึ้น ทั้งนี้ จากเป้าหมายของมหาวิทยาลัยบูรพาที่ว่า “เราจะทำให้ ม.บูรพา ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่ง EEC” มหาวิทยาลัยบูรพาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับอีอีซีผ่านแอปฯ ViaBus ในครั้งนี้จะสามารถเป็นต้นแบบให้สามารถขยายผลการใช้ประโยชน์ไปยังพื้นที่อื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อีอีซีสามารถผลักดันการเชื่อมต่อโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งและยกระดับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ได้สำเร็จ ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีความทันสมัย ปลอดภัย อำนวยความสะดวก สามารถวางแผนการเดินทางของประชาชนในพื้นที่อีอีซีได้

รองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง รองอธิการบดีวิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แอปฯ ViaBus จะช่วยยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถสวัสดิการของวิทยาเขตศรีราชา ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เกิดประโยชน์ต่อนิสิต บุคลากร รวมถึงประชาชนและผู้มาติดต่อ เพื่อการวางแผนการเดินทางในพื้นที่วิทยาเขตได้เป็นอย่างดี จะสามารถเป็นต้นแบบ และพร้อมสนับสนุนขยายผลการใช้ประโยชน์ไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั้งในพื้นที่อีอีซี และในวิทยาเขตอื่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป

นายอินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นวัตกรรม ViaBus นั้นให้บริการด้านการติดตามและนำทางรถโดยสารแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางในระบบรถโดยสารได้ง่ายขึ้น เช่น ตำแหน่งรถ สถานี (ป้าย) เส้นทาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถตัดสินใจในการเดินทาง รวมถึงบริหารเวลาและวางแผนการเดินทางได้ดีขึ้น และไม่ใช่เพียงผู้โดยสารเท่านั้น นวัตกรรม ViaBus นี้ยังนำเทคโนโลยีระบบบริหารจัดการมาช่วยเหลือผู้ประกอบการเดินรถให้สามารถบริหารจัดการการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความอัตโนมัติและตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น