xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! สนามบินภูเก็ตส่อฉาว ให้เอกชนติดสติกเกอร์เฉลิมพระเกียรติฯ ก่อนประมูลและไม่มีสัญญาจ้าง "ชาญชัย" ชี้วิธีเจาะจงส่อล็อกตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พนักงาน ทอท.สุดทน เปิดข้อมูล 'ผู้บริหารสนามบินภูเก็ต' จ้างพิมพ์สติกเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ งบกว่า 11 ล้านบาทส่อผิดระเบียบ ให้เอกชนเข้าทำงานก่อนเปิดซองราคา-ประกาศผลประมูลและยังไม่มีสัญญาจ้าง แถมใช้วิธีเฉพาะเจาะจงทั้งที่งานไม่เร่ง รู้วาระงานล่วงหน้า ล่าสุด "ชาญชัย" พูดในเวทีเสวนา “ปลดล็อกวิกฤตงบประมาณ” ประมูลเจาะจง ทำงานก่อนเซ็นสัญญาผิดเต็มๆ
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้พนักงานของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต มีความวิตกกังวลในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยวิธีพิเศษ เพื่อดำเนินการพิมพ์สติกเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ อาจมีความไม่โปร่งใสและขัดระเบียบพัสดุในหลายประเด็น โดยพบว่าจากที่ฝ่ายการท่าอากาศยาน ท่าอากาศยานภูเก็ต ได้เปิดประมูลโครงการ จัดจ้างพิมพ์สติกเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วงเงินงบประมาณ และกำหนดเป็นราคากลาง ที่ 11,800,000 บาท โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งท่าอากาศยานภูเก็ตได้เผยแพร่ประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2567 ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยมีนายพีระ อากาศไชย ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ปฏิบัติงานแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นผู้ลงนามในประเทศ

ต่อมาวันที่ 19 ก.ค. 2567 จึงได้มีประกาศผู้ชนะการเสนอราคา งานจ้างพิมพ์สติกเกอร์ฯ ดังกล่าว โดยผู้ได้รับการคัดเลือกคือ บริษัท ภูเขา แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด (สำนักงานใหญ่) (ส่งออก, ขายส่ง, ขายปลีก, ให้บริการ, ผู้ผลิต) โดยเสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 11,778,600 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่นๆ ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งปวง


รายงานข่าวแจ้งว่า การจัดซื้อและดำเนินการโครงการนี้มีประเด็นที่พนักงานผิดสังเกตว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ เนื่องจากกำหนดเปิดซองข้อเสนอแบบเจาะจงในวันที่ 19 ก.ค. 2567 และประกาศผู้ชนะวันที่ 19 ก.ค. 2567 แต่กลับพบมีรายงานเป็นเอกสารว่า ในวันที่ 17 ก.ค. 2567 ช่วงเวลา 20.30 น. ถึงเวลา 06.30 น.ของวันที่ 18 ก.ค. 2567 ได้มีการดำเนินงานติดตั้งแผ่นสติกเกอร์ที่บริเวณแนวกระจกด้านนอกโถงผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่ ท่าอากาศยานภูเก็ตกำกับดูแลเอกชนที่เข้าดำเนินการด้วยนั้น ถือเป็นการดำเนินการก่อนที่จะมีการเปิดซองข้อเสนอ และก่อนประกาศผลประมูล เข้าข่ายผิดระเบียบ ขั้นตอน


“สนามบินภูเก็ตเปิดประมูล แต่ยังไม่เปิดซองราคาและยังไม่ประกาศผล ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาจ้างใดๆ แต่ให้เอกชนเข้าทำงานก่อนแบบนี้เรียกว่าผิดระเบียบ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ให้เอกชนคนนอกเข้าไปในพื้นที่ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามสนามบิน หรือ Airside อีกด้วย ทั้งๆ ที่ไม่มีสัญญาจ้างอย่างถูกต้อง กรณีอ้างว่างานเร่งรีบ ยิ่งฟังไม่ขึ้น เพราะเรื่องนี้ ทอท.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ต้องทราบวาระงานล่วงหน้า การทำแบบรวบรัด จนทำผิดขั้นตอน ระเบียบเช่นนี้ มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ และอยากให้หน่วยงานกลางเข้ามาตรวจสอบพฤติกรรม ซึ่งพนักงานเชื่อว่าน่าจะมีการทำแบบนี้มาหลายหนแล้ว” พนักงาน ทอท.รายหนึ่งกล่าว


@“ชาญชัย” ชี้ผิดเต็มๆ ทำงานก่อนประมูล เข้าข่ายเจาะจงล็อกบริษัท

รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวในการเสวนา “ปลดล็อกวิกฤตงบประมาณ” ในกลุ่มที่ 1 ข้อเสนอการปรับกระบวนการและวิธีการงบประมาณปี 2569 ซึ่งนายชาญชัยได้ตั้งข้อสังเกต กรณีการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง เพื่อดำเนินการพิมพ์สติกเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ ของท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงินประมาณ 11.7 ล้านบาท ในการเสวนาด้วย พร้อมทั้งมีการเปิดเอกสารรายงานของท่าอากาศยานภูเก็ตว่า สืบราคาจากบริษัทเดียวและเป็นบริษัทได้คัดเลือก

ประเด็นสำคัญคือ สนามบินภูเก็ตได้ให้บริษัทดังกล่าวเข้าติดตั้งสติกเกอร์ในวันที่ 17 ก.ค. 2567 ตอนกลางคืน ก่อนที่จะมีการเปิดซองและประกาศผลผู้ชนะประมูลในวันที่ 19 ก.ค. 2567 เป็นการดำเนินการโดยยังไม่มีสัญญาจ้าง บุคคลภายนอกเข้าพื้นที่หวงห้ามโดยไม่มีสัญญาได้อย่างไร






กำลังโหลดความคิดเห็น