xs
xsm
sm
md
lg

’แลนด์บริดจ์’เกิดแน่’ดูไบ พอร์ต -จีน-อเมริกา’รุกหนัก สนข.ชี้ปมช่องแคบมะละกา-ขั้วอำนาจขัดแย้งปัจจัยหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนข.มั่นใจ ”แลนด์บริดจ์” เกิดแน่ ปัจจัยหนุน ”ช่องแคบมะละกาเต็ม-ความขัดแย้งขั้วอำนาจของโลก” โอกาสเปิดเส้นทางขนส่งใหม่ เผยบิ๊กเนม ”ดูไบ พอร์ต -จีน-อเมริกา” เริ่มเดินเกม ย้ำเฟสแรกลงทุน 5 แสนล้าน พร้อมดัน 4 จังหวัดใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษ หนุนเพิ่มปริมาณขนส่งในประเทศ ดันพ.ร.บ. SEC เข้าครม. ต.ค.นี้ จ้างที่ปรึกษาทำ RFP ประมูลไม่เกินต้นปี 69

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือโครงการแลนด์บริดจ์ว่า สนข.ได้ศึกษาข้อมูลภาพรวมและการลงทุนโครงการและจากที่ได้โรดโชว์รับฟังความเห็นจากนักลงทุนจากหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าได้รับความสนใจของนักลงทุนอย่างมาก เช่น Dubai Port World (DP World) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทและผู้บริหารธุรกิจโลจิสติกส์และ Supply Chain ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ผู้บริหารระดับสูงมาดูพื้นที่เอง รวมไปถึงนักลงทุนจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 นายรอเบิร์ต เอฟ โกเด็ก เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ลงพื้นที่แลนด์บริดจ์ด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นการลงพื้นที่เป็นครั้งที่ 2 แล้ว สำหรับประเทศอเมริกา แสดงให้เห็นถึงความสนใจ ดังนั้นสนข.ในฐานะผู้ศึกษาโครงการฯ จึงมั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดแน่นอน

โดย อีกสาเหตุที่สนับสนุนทำให้เชื่อมั่น คือ ความจำเป็นที่ต้องมีท่าเรือในฝั่งอันดามัน เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งขั้วอำนาจของโลก ขณะที่การขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ที่บริหารดูแลโดยสิงคโปร์ มีอเมริการ่วมด้วยนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ทุกๆ ประเทศต้องการความมั่นใจในการเดินเรือขนส่งสินค้าและทำธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางความขัดแย้งของขั้วอำนาจ

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ พบว่า มี 2 กลุ่มที่สนใจมาก คือ ดูไบ พอร์ต เวิลด์ เนื่องจากมีกองเรือขนาดใหญ่ แต่กลับไม่มีท่าเรือของตัวเองที่ช่องแคบมะละกาเลย แถบนี้มีท่าเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ของไทยเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผ่านช่องแคบมะละกา ต้องใช้ท่าเรือคนอื่น ประเมินได้ว่าสาเหตุที่ ดูไบ พอร์ต เวิลด์ อยากได้โครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อมีท่าเรือของตัวเอง เพื่อตอบโจทย์สายเรือและการบริหารจัดการทางธุรกิจ ซึ่งล่าสุด หลังจาก สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกลุ่ม DP World เข้าหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ได้มีการคณะทำงานร่วมกับไทย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนฯ ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมหารือนัดแรก

ส่วนนักลงทุนจีน แลนด์บริดจ์จะมีประโยชน์เพราะจะมีพื้นที่การขนส่ง นำเข้า ส่งออก ลงสู่ด้านใต้ ซึ่งจีนมีการลงทุนด้านรถไฟลงมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนรายใหญ่ จากอเมริกา, ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ส่วนนักลงทุนรายอื่นที่อาจจะเป็นบริษัทเล็กกว่านั้น มีความเป็นไปได้ที่จะจับมือร่วมกันเพื่อเข้ามาลงทุนได้


@อีก 10ปี ช่องแคบมะละกาเต็ม โอกาส”แลนด์บริดจ์”ทางเลือกเดินเรือใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันสิงคโปร์และมาเลเซียมีการลงทุนพัฒนาท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับเรือและตู้สินค้า จะทำให้แลนด์บริดจ์ยิ่งแข่งขันลำบากหรือไม่ นายปัญญากล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือไม่ใช่ประเด็น เพราะปัจจุบันท่าเรือของสิงคโปร์และมาเลเซียไม่ได้มีปัญหาการขยายท่าเรือเพื่อรองรับการเติบโตของสินค้าตามปกติ แต่ปัญหาอยู่ที่ช่องแคบมะละกา จากการศึกษาพบว่า อีก 10 ปี ช่องแคบมะละกาจะเต็ม เกิดความหนาแน่นต้องเข้าคิวรอนาน สายเดินเรือจะเสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แม้จะมีท่าเรือใหญ่ขึ้นแต่เรือผ่านช่องแคบได้เท่าเดิมก็เป็นปัญหาอยู่ดี

“ขอย้ำว่าการพัฒนาแลนด์บริดจ์ของไทย ไม่ใช่การแข่งขันกับท่าเรือสิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ปัญหาอยู่ที่ช่องแคบมะละกา และปัญหาความเชื่อมั่นของสายเรือต่างๆ ที่จะผ่านตรงนั้น หากประเด็นความขัดแย้งขั้วอำนาจหนักขึ้นแล้วกำหนดเรือที่จะผ่านได้ ผ่านไม่ได้ จะกระทบธุรกิจ สายเรือต้องหาทางออกไว้ จึงมองมาที่แลนด์บริดจ์ ขณะที่แบ่งการลงทุนเป็น 3 เฟส ตามดีมานด์ เฟสแรก 5 แสนล้านบาท มีท่าเรือ มอเตอร์เวย์ รถไฟ และพื้นที่หลังท่า ซึ่งความเห็นนักลงทุนรายใหญ่ มองว่าตัวเลขสมเหตุสมผล แต่การลงทุนจะคุ้มค่า ต้องมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 จังหวัดโดยรอบที่จะเป็นโอกาสของนักลงทุนที่สามารถยื่นขอสิทธิประโยชน์ ได้เป็นตัวช่วยเสริมให้แลนด์บริดจ์มีศักยภาพมากขึ้น”นายปัญญากล่าว

@ดันประกาศพ.ร.บ. SEC คลอดกฎหมาย 69 มาตรา

ทั้งนี้ สนข.ได้เดินหน้าผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนแลนด์บริดจ์ จะมีการกำหนดพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เหมือนอีอีซี ปัจจุบันได้เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อมอบอำนาจให้สนข.เป็นผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ. SEC โดยกพศ.จะประชุมปลายเดือนส.ค. 2567 นี้ หลังจากสนข.ได้รับมอบหมาย ขั้นตอนจะนำร่างพ.ร.บ.SEC รับฟังความคิดเห็นฯ ประมาณ 1 เดือน จากนั้นนำความเห็นมาปรับปรุงประกอบ และสรุปนำเสนอครม. ภายในเดือนต.ค.-พ.ย. 2567 เข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายต่อไป คาดว่าร่าง พ.ร.บ. SEC จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในเดือนเม.ย. 2568


@เร่ง”ทล.และรฟท.”ออกแบบรายละเอียด”มอเตอร์เวย์-รถไฟ”เสร็จก.ย. 68

สำหรับความคืบหน้าการศึกษานั้น สนข.ศึกษาแนวคิดภาพรวมเสร็จแล้ว สรุปรูปแบบโครงการ คือมีท่าเรือ 2 ฝั่ง มีมอเตอร์เวย์ และรถไฟ เชื่อมท่าเรือ โดย สนข.ได้ศึกษาและออกแบบท่าเรือ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ส่วนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กรมทางหลวง จะเป็นผู้ศึกษาออกแบบ รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินการแล้ว ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เป็นผู้ศึกษาออกแบบ รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทางรถไฟ ทั้งมอเตอร์เวย์และรถไฟ จะศึกษาออกแบบเสร็จในเดือนก.ย.ปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับไทม์ไลน์ในการขับเคลื่อนทั้งโครงการ ที่คาดว่าจะเปิดประกวดราคาช่วงปลายปี 2568 หรือไม่เกินต้นปี 2569

@ก.ย.นี้เซ็นจ้างที่ปรึกษาทำ RFP ปักธงประมูลไม่เกินต้นปี 69

ขณะนี้สนข.กำลังดำเนินการจ้างที่ปรึกษา โครงการจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ (RFP) ประกอบด้วย จัดทำร่างเอกสารประกวดข้อเสนอ เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือก และร่างสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงการจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารอื่นที่จำเป็น วงเงินงบประมาณ 45.9590 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 840 วัน คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างได้ในเดือนกันยายน 2567


กำลังโหลดความคิดเห็น