xs
xsm
sm
md
lg

สนข.เปิดแผน 17 โครงการลุย ยกระดับการเดินทาง ท่องเที่ยวและขนส่ง ชงครม. เคาะ พ.ร.บ.ตั่วร่วมฯ -พ.ร.บ. SEC ใน ปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนข. ลุย 17 โครงการขับเคลื่อนแผนงานคมนาคม ยกระดับการเดินทาง ท่องเที่ยวและขนส่ง ปีนี้ชงครม. เคาะ พ.ร.บ.ตั่วร่วมฯ หนุนรถไฟฟ้า 20 บาทเพิ่มการเดินทางระบบราง และพ.ร.บ. SEC เตรียมพรัอมประมูล"แลนด์บริดจ์"ปี 68

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วม
ต่อการพัฒนาระบบการขนส่งและจราจรของ สนข. ประจำปี 2567ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารด้านการขนส่งและจราจรของ สนข. เพื่อใช้เป็นกลไกในการสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชน ให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว และทันท่วงที โดย “ศึกษาดูงานการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และลงพื้นที่เยี่ยมชมสนามบินหัวหิน ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สนข. พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน จำนวน 60 คน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

นายปัญญากล่าวถึงผลการดำเนินงานสำคัญในปี 2567 และแผนการดำเนินงานในอนาคต สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม หลัก ดังนี้ งานที่อยู่ระหว่างการนำเสนอกระทรวงคมนาคม จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ 1. พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
โดยใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว ได้เสนอไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2568


2. พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SECเพื่อใช้ในการกำกับดูแล และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เชื่อมโยงกันทั้งในและนอกระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเพื่อการพิจารณาของ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) และคาดว่าร่าง พ.ร.บ. SEC จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในเดือนเมษายน 2568

3. แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (W-MAP) เพื่อพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ยกระดับการบูรณาการเดินทางกับรูปแบบอื่น เพิ่มการใช้ประโยชน์เพื่อการสัญจรและการท่องเที่ยว ระยะสั้น ปี พ.ศ. 2567– 2570 4 เส้นทาง และ ระยะยาว ปี พ.ศ. 2570 – 2572 3 เส้นทาง รวมระยะทางเพิ่มขึ้นทั้งหมด 112.9 กิโลเมตร

ขณะนี้โครงการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาขั้นร่างรายงานฉบับ สมบูรณ์ (Draft Final Report) ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานและร่างแผนพัฒนาระบบ การจราจรและขนส่ง ร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่ง อัจฉริยะ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ระบบเชื่อมโยงข้อมูลจาก ระบบ CCTV ระบบ GPS หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ระบบการวิเคราะห์ ประมวลผลและ แสดงผลข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการจราจรและขนส่งในพื้นที่/เส้นทางนำร่อง

4.แผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Feeder) พัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ - ราง - เรือ พร้อมปรับปรุงลักษณะกายภาพ และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้บริการได้อย่างสะดวก

5. แผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (พ.ศ. 2566 - 2580) โดยเร่งผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย EV ภาคคมนาคมพัฒนาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนใช้งานระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และลดมลพิษ

และ 6.แผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ โดยอาศัยแนวคิด Transit Oriented Development หรือ TOD เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ 177 สถานี ทั่วประเทศ สนข. และ ขบ. ได้มีความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ Feeder ไปสู่ การปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ผลักดันเป็นเส้นทางเพิ่มการเข้าถึง (Accessibility) สถานีรถไฟฟ้าของพื้นที่ รองรับการเดินทางตั้งแต่ต่อแรก (First Mile) ไปจน ต่อสุดท้าย (Last Mile) 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง LS2 จากถนนแจ้งวัฒนะซอย 14 ถึง หมู่บ้านเกษตรนิเวศน์ และ เส้นทาง BP2 จากสถานีบางพลัดถึงสถานีบางบาหรุ (ผ่าน ซอยจรัญ สนิทวงศ์ 75)


นอกจากนี้ มีงานที่อยู่ระหว่างการศึกษา จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ 1. การศึกษาจัดทำ Model การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้กรอบ GMS สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก คาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ คาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในปี 2568

2.การศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามันช่วงจังหวัดระนอง – จังหวัดสตูล (Andaman Riviera) ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568

3. การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองหลักในภูมิภาค เพื่อให้มีฐานข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะและข้อมูลการจราจรในเขตเมืองหลักในภูมิภาคที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

4. การศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเชื่อมโยงและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมรองรับ EEC เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากถนนไปสู่ทางรางและทางน้ำให้เพิ่มมากขึ้น

5. การศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline Data) และการประเมิน (Tracking) การลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะ

6.การศึกษาเพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลคมนาคมของประเทศไทย (Transport Data Center) เพื่อจัดทำศูนย์ข้อมูลคมนาคมของประเทศไทย (Transport Data Center) สำหรับเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศด้านคมนาคมแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายและแผนด้านคมนาคม รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายของผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม

7. การพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System : ITS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
การบริหารจัดการจราจรและขนส่ง ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

8. โครงการ Landbridge
ได้ดำเนินการศึกษาและวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร- ระนอง) ในรูปแบบ One Port Two Sides ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะนำเสนอ ครม. ในปีนี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการให้ สนข. ดำเนินการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน ทั้งนี้ ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2568 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2573


งานที่จะดำเนินการศึกษาในอนาคต จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1).การศึกษาเพื่อจัดทำกรอบ
การดำเนินงานและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อภาคคมนาคมอย่างยั่งยืน (ระยะที่ 1) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกรอบการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในภาคคมนาคม โดยมีแผนปฏิบัติการ แบ่งเป็น3 ระยะ และจัดทำข้อมูลระบบการรายงานและบริหารจัดการข้อมูลภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ และจัดทำแบบจำลอง

2. การพัฒนาระบบเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ กทม. และพื้นที่ต่อเนื่อง 3.การพัฒนารูปแบบการกำกับดูแลและการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม

นายปัญญา กล่าวว่า สนข.ยังมีงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนงานของกระทรวงคมนาคมมีความสมบูรณ์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สนข. ได้มีการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อรับความช่วยเหลือทางวิชาการในการพัฒนาระบบคมนาคม ประกอบด้วย 1.ประเทศญี่ปุ่น ความร่วมมือภายใต้ - บันทึกความร่วมมือ (MOC)ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร เพื่อศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส - สำโรง)

 2. ประเทศเยอรมนี ความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit: GIZ) (Technical Assistance: TA) ภายใต้ “E-Mobility Initiative for Thailand: Supporting Thailand’s Net Zero Commitments” สนับสนุนการพัฒนามาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายของภาคขนส่ง 

3. The Asian Development Bank (ADB) โครงการความช่วยเหลือด้านเทคนิค (Technical Assistance: TA) ภายใต้ “E-Mobility Initiative for Thailand: Supporting Thailand’s Net Zero Commitments” 

4. ประเทศออสเตรเลีย โครงการขยายความร่วมมือด้านคมนาคมผ่านหุ้นส่วนความร่วมมือ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและกระทรวงคมนาคม ประเทศไทย (Project on Expanding Transport Cooperation through Partnerships for Infrastructure and the Ministry of Transport : P4I - MOT) 5. ประเทศสหรัฐอเมริกา การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ(Technical Assistance : TA)ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา
(U.S. Trade and Development Agency : USTDA) แผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องอย่างบูรณาการของประเทศไทย


นายปัญญา กล่าวว่า สนข. พร้อมผลักดันขับเคลื่อนแผนงานด้านคมนาคมที่สำคัญต่าง ๆ
ไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม คือ ต้องพลิกโฉมระบบคมนาคมทั่วประเทศ มุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน และเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น