xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนน้ำมันฯยันจ่ายหนี้เงินกู้ 1.05แสนล.ใน5ปี เริ่มคืนเงินต้นพ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วิศักดิ์”ชี้กองทุนน้ำมันฯเริ่มมีเงินไหลเข้าวันละ88.15ล้านบาท ลั่นมีเงินจ่ายหนี้เงินต้นในเดือนพ.ย.นี้ราว 1พันกว่าล้านบาท ระบุหากราคาน้ำมันโลกไม่เปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ไม่ลุกลาม มั่นใจจ่ายหนี้เงินกู้ครบ 105,333ล้านบาทได้ตามกำหนดภายใน5ปี ขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันล่าสุดติดลบ 1.11 แสนล้านบาท วอนรัฐขยับเพดานราคาดีเซลกว่า33บาท/ลิตรหรือลดการเก็บภาษีสรรพสามิตลง เพื่อให้กองทุนน้ำมันลดการอุดหนุนดีเซล

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง( สนกช. )เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯมีเงินไหลเข้าเป็นบวกเฉลี่ย 88.15ล้านบาทต่อวันหรือเดือนละ 2,733ล้านบาทเริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2567 โดยกองทุนน้ำมันฯชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ 40สตางค์ต่อลิตร หรือคิดเป็น 829ล้านบาทต่อเดือน หากสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจโลกและปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่รุนแรงจนกระทบต่อราคาน้ำมัน เชื่อมั่นว่ากองทุนน้ำมันฯจะสามารถทยอยชำระหนี้เงินกู้ 105,333ล้านบาทได้ครบตามกำหนด 5ปีนี้หรือในปี 2571-2572

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันฯมีเงินพร้อมชำระคืนหนี้เงินต้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 ราว 1พันกว่าล้านบาทและดอกเบี้ย150-200 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งในกลางปี2568 เป็นต้นไป กองทุนน้ำมันฯจะต้องชำระคืนหนี้เงินต้นสูงขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ จำเป็นที่กองทุนน้ำมันต้องลดการชดเชยน้ำมันดีเซลลงให้น้อยที่สุดโดยที่ประชาชนได้รับผลกระทบไม่มากจนเกินไป และยังสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ที่ผ่านมากองทุนฯมีการหารือกับกระทรวงพลังงานและกระทรวงคลังเกี่ยวกับการออกมาตรการต่างๆเพื่อบรรเทาภาระกองทุนน้ำมันฯ เช่นการขยับเพดานราคาดีเซลเกิน33บาทต่อลิตร การลดภาษีสรรพสามิตลง เป็นต้น

สำหรับทิศทางราคาน้ำมันในปลายปี2567 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งจะหารือกับภาครัฐเพื่อหามาตรการรับมือฯเพื่อไม่ให้กระทบกองทุนน้ำมัน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันดีเซลล่วงหน้า ช่วงตุลาคม2567-มีนาคม2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 80 และ100ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลตามลำดับ เป็นผลจากเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯมีสัญญาณถดถอยทำให้การใช้น้ำมันลดลง

“ในปี2565 เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเคยพุ่งถึง120ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล กองทุนน้ำมันต้องชดเชยราคาน้ำมันดีเซลในประเทศให้อยู่ที่ 30บาทต่อลิตร โดยเคยชดเชยสูงสุดถึง14บาทต่อลิตร กิงทุนน้ำมันฯเวลานั้นติดลบราว 130,000ล้านบาท จนต้องปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นเป็น35บาทต่อลิตรและแก้ไขกรอบวงเงินกู้เป็น150,000ล้านบาทโดยออกเป็นพ.ร.ก.ที่มีคลังค้ำประกันการชำระเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันฯเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินปล่อยกู้กองทุนน้ำมันฯวงเงิน กู้105,333ล้านบาท ทั้งนี้ เราไม่ต้องการให้กองทุนน้ำมันต้องชดเชยดีเซลสูงถึง14บาทต่อลิตรเหมือนในอดีต”

นายวิศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ จะมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯว่าจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องใดบ้าง เช่นการขยายกรอบวงเงินกู้จากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 2หมื่นล้านบาท และการเก็บเงินกองทุนฯไม่เกิน 4หมื่นล้านบาท ว่าควรเป็นเท่าไร รวมถึงการอุดหนุนน้ำมันดีเซลเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น โดยมีธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ประเมินผลก่อนส่งเรื่องไปบอร์ดฯต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันคนใหม่แทนตนที่จะหมดวาระในวันที่ 16 สิงหาคม2567 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนหลักเกณฑ์ หลังจากนั้นจะเปิดรับสมัครเป็นเวลา 1เดือน คาดว่าจะได้ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันฯคนใหม่ในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ โดยผู้อำนวยการฯคนต่อไปเร่งฟื้นฟูสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ให้กระเตื้องขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าน้ำมัน ตลอดจนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้


นายวิศักดิ์ กล่าวว่าตลอดช่วงระยะเวลา4ปีที่เข้ามารับตำแหน่งในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2563 สถานการณ์พลังงานในขณะนั้นอยู่ในภาวะชะลอตัวจากวิกฤต เริ่มตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การบริโภคพลังงานลดลง ซึ่งในขณะนั้นฐานะกองทุนน้ำมันฯ เป็นบวกประมาณ 30,000 ล้านบาท เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายการบริโภคน้ำมันกลับมามีอัตราเติบโตทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น กองทุนน้ำมันฯ เริ่มชดเชยก๊าซ LPG ตรึงอยู่ที่ 318บาท/ถังขนาด 15 กก. เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ภาคครัวเรือน ในต้นปี 2565 เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูง ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเวลานั้นติดลบราว 130,000 ล้านบาท และมีการขยายกรอบกองทุนน้ำมันฯ จากเดิมวงเงินกู้ยืมได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท โดยออกเป็นพ.ร.ก.ขยายวงเงินการกู้ยืมโดยมีคลังค้ำประกันเงินกู้ในวงเงินกู้ 105,333 ล้านบาท

ในช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มผ่อนคลาย กองทุนน้ำมันฯ ได้มีการทยอยลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงเหลือ 32 บาท/ลิตรในช่วงเดือนพฤษภาคม และเริ่มมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จนทำให้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลงเหลือประมาณ 49,000 ล้านบาท แต่เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหาร ได้มีการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ขณะที่มาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่เคยเข้ามาเป็นกลไกช่วยพยุงราคาดีเซลอีกทางหนึ่งได้หมดอายุลง ทำให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นกลไกหลักเดียวในการพยุงราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ดี มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ได้มีมาตรการการตรึงราคาน้ำมันดีเซล กำหนดเพดานเป็นไม่เกิน 33 บาท/ลิตรไว้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ส่วนราคาก๊าซ LPG ตรึงไว้ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 ได้ขยายมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร เป็นรอบที่สอง ออกไปอีก 3 เดือน ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2567 โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ แต่อัตราการชดเชยต้องไม่เกิน 2 บาท/ลิตร

โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ติดลบ 111,663 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 64,066 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 47,597 ล้านบาท ในส่วนของประมาณการสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดมีรายรับประมาณวันละ 88.15 ล้านบาท แบ่งเป็นรายรับประเภทน้ำมันวันละ 81.76 ล้านบาท และรายรับก๊าซ LPG วันละ 6.39 ล้าน แต่กองทุนน้ำมันยังมีการชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 0.40บาท/ลิตร คิดเป็นรายจ่ายประมาณวันละ 26.73 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น