xs
xsm
sm
md
lg

กทท.เร่งเคลียร์ปมถมทะเล "แหลมฉบังเฟส 3" ตั้งทีมสำรวจการทรุดตัว ถก GPC ส่งมอบพื้นที่สัมปทาน พ.ย. 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทท.ตั้งคณะทำงานฯ เคลียร์ปมถมทะเล หลังพบสเปกความหนาแน่นทรายถมไม่ตรงกับเงื่อนไขส่งมอบพื้นที่ สัมปทาน GPC จ่องบบาน 600 ล้านบาท สุ่มสำรวจความหนาแน่นทราย เน้นเรื่องการทรุดตัว เชื่อเอกชนยอมรับ พร้อมส่งมอบ พ.ย. 68

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า จากที่มีประเด็นงานถมทะเลของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่มีข้อกำหนดทางเทคนิคของทรายถมที่ไม่ตรงกัน ระหว่างสัญญางานถมทะเล ที่ กทท.ว่าจ้าง กลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง กับสเปกที่ต้องส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC  ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีทีแทงค์เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับสัมปทานพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งอาจทำให้ผู้รับสัมปทานไม่ยอมรับในการส่งมอบพื้นที่นั้น

ล่าสุด นายชยธรรม พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองงานด้านวิศวกรรมโยธา ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ รศ.ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานบอร์ด สถาบันขนส่งทางราง และ นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นบอร์ด กทท. ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น กรมทางหลวง และมหาวิทยาลัยชั้นนำ เป็นต้น เพื่อร่วมทดสอบความหนาแน่นของทรายถม ในพื้นที่งานถมทะเลของโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่ายังมีความจำเป็นในการปรับปรุงคุณภาพงานถมทะเล ด้วยเทคนิค Pre-loading หรือไม่ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ดังนั้นควรทดสอบให้แน่ใจก่อน หากพบว่าค่าความหนาแน่นของทรายถมสอดคล้อง และคู่สัญญา คือกลุ่ม GPC ยอมรับ ก็ไม่ต้องดำเนินการ แต่หากมีพื้นที่ที่ค่าความหนาแน่นของทรายไม่เป็นไปตามที่ตกลงกับกลุ่ม GPC กทท.ต้องดำเนินการปรับปรุงเพิ่มความหนาแน่นของทรายถม


นายเกรียงไกรกล่าวว่า ประเด็นตอนนี้คือ การออกแบบข้อกำหนดทางเทคนิคของสัญญาการถมทะเลของกลุ่ม CNNC นั้น เป็นการกำหนดค่าทรุดตัวที่ยอมให้ไม่เกิน 20 เซนติเมตร ตลอดระยะเวลา 30 ปี ส่วนสัญญาสัมปทานกับกลุ่ม GPC กำหนดเป็นค่าความหนาแน่นสัมพัทธ์ไม่น้อยกว่า 70% เมื่อฐานในข้อกำหนดไม่เหมือนกัน จึงต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมเข้ามาทดสอบและพิสูจน์คุณภาพงานถมทะเล โดยผลสุดท้ายที่ออกมาคือ ทรายถมต้องไม่ทรุดตัว ซึ่งทางกลุ่ม GPC ต้องเข้ามาร่วมทดสอบด้วย หากไม่มั่นใจหรือไม่ยอมรับในผลที่ออกมา กทท.ก็ต้องปรับปรุงแก้ไข

“ตอนนี้ยังมีเวลาอีกประมาณ 14 เดือนก่อนถึงกำหนดส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่ม GPC ในเดือน พ.ย. 2568 ขณะที่หากต้องการมีการปรับปรุงคุณภาพงานถมทะเลด้วยเทคนิค Pre-loading นั้นจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 เดือน ดังนั้น เวลาที่เหลือยังเพียงพอที่จะดำเนินการ ตอนนี้ต้องพิจารณาหาข้อสรุปก่อนว่าจำเป็นต้องทำ Pre-loading หรือไม่ และทำในพื้นที่ไหนบ้างซึ่งต้องรอผลการทดสอบ”


ขณะนี้คณะทำงาน ที่ประธานบอร์ด กทท.ตั้งขึ้นได้เริ่มสุ่มทดสอบบางพื้นที่ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC ส่งมอบ ทั้ง Key Date 1 และ Key Date 2 และอยู่ระหว่างรอผล เบื้องต้นไม่น่ามีปัญหาเรื่องความหนาแน่นของทรายถม เพราะพื้นที่อยู่บนบกและบริเวณชายฝั่ง ต่างจากพื้นที่ Key Date 3 ที่อยู่ในทะเล ดังนั้น หลังจาก CNNC ส่งมอบพื้นที่งานถมทะเล Key Date 3 ในเดือน ก.ย. 2567 คณะทำงานที่มีผู้เชี่ยวชาญจะเร่งทดสอบให้เสร็จ ภายใน 2 เดือน คาดว่าจะได้ผลสรุปที่ชัดเจน


@หาทางออกปมสเปกทรายถมไม่ตรงกัน แก้งบบานอีก 600 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ประเด็นค่าความหนาแน่นสัมพัทธ์ของทรายถมที่ไม่ตรงกัน กทท.ประเมินว่า หากมีการปรับปรุงคุณภาพงานถมทะเลด้วยเทคนิค Pre-loading เพื่อให้กลุ่ม GPC ยอมรับการส่งมอบพื้นที่ได้ตามสัญญานั้น คาดว่าจะใช้ค่าก่อสร้างเพิ่มในการปรับปรุงค่าความหนาแน่นทรายถมประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งมีปัญหาว่าจะใช้เงินจากส่วนไหนเพราะเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดในการออกแบบ ไม่เกี่ยวกับเอกชน จึงต้องหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้กลุ่ม GPC ยอมรับ




กำลังโหลดความคิดเห็น