xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.ตรึงค่าไฟฟ้างวดก.ย-ธ.ค.67ที่ 4.18บาท ลุ้นค่าไฟงวดต้นปี68ส่อลงตามราคาก๊าซฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกพ.คงค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2567 อยู่ที่ 4.18 บาท โดยกฟผ.และปตท.ช่วยยืดการรับชำระค่า AF Gas ส่วนกฟผ.ได้รับชำระคืนหนี้ต้นทุนเชื้อเพลิง 3,200 ล้านบาท คงเหลือหนี้ค้างอีก 95,000 ล้านบาท แย้มค่าไฟฟ้างวดถัดไปอาจมีข่าวดี หลังแนวโน้มค่าก๊าซฯลดลง

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกพ.เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 มีมติตรึงค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2567 อยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย หรือค่าเอฟทีอยู่ที่ 39.72 สตางค์ ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ยังคงเรียกเก็บในอัตรา 3.99 บาท/หน่วยตามเดิม โดยจะมีการชำระคืนหนี้ต้นทุนเชื้อเพลิงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ประมาณ 3,200 ล้านบาท ซึ่งมีหนี้คงค้างที่เหลือของกฟผ.อีก 95,000ล้านบาทจะมีการทยอยคืนต่อไป ส่วนหนี้คงค้างส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ (AF Gas) ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ประมาณ 15,000 ล้านบาท จยืดเวลาออกไปเช่นกัน เบ็ดเสร็จมีหนี้คงค้างรวมรวม 1.1 แสนล้านบาท


อย่างไรก็ดี แนวโน้มค่าไฟฟ้างวดถัดไปเดือนม.ค.-เม.ย.2568 อาจจะเห็นค่าไฟฟ้าทรงตัวเท่าเดิมที่ 4.18บาท/หน่วยหรือถูกลง เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)มีแนวโน้มลดลงหลังพ้นช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าในช่วงปลายปีนี้ราคาLNGเฉลี่ยอยู่ที่ 13 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู รวมทั้งคงติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างใกล้ชิดว่าจะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันและก๊าซฯหรือไม่ ส่วนจะตรึงค่าไฟฟ้าเท่าเดิมได้ตลอดทั้งปี2568 หรือไม่ขึ้นกับหลายปัจจัยทั้งต้นทุนราคาก๊าซฯ การชำระหนี้คืนให้ กฟผ. และปตท. เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเครดิตเรตติ้งกฟผ.ด้วย


นายนายพูลพัฒน์ กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2567 ได้เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้ากลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 รอบ2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาด

โดยมีการทบทวนและปรับหลักการสำหรับผู้ยื่นคำเสนอที่ผ่านหลักเกณฑ์ในรอบแรกที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการพิจารณารับซื้อเป็นลำดับแรกในปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับโควตาส่วนที่เหลือจากการเปิดรับซื้อข้างต้น ให้เป็นการเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไป

ทั้งนี้กกพ.ได้มีการยกร่างระเบียบกกพ.รับซื้อไฟฟ้าฯ โดยจะให้สิทธิผู้ที่ได้ยื่นฟ้องศาลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573รอบแรก 5พันเมกะวัตต์สามารถยื่นประมูลรอบ2ได้ รวมทั้งมีสิทธิได้รับการพิจารณาก่อนหากโครงการนั้นผ่านหลักเกณฑ์ต่างๆแล้วแต่ไม่ได้รับคัดเลือก

กกพ.คาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนฯ รอบ2 อีก 3,668.5 เมกะวัตต์ และประเดาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายในปลายปี 2567


ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมกกพ.ครั้งที่ 28/2567 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย - ธ.ค. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12 – 26 กรกฎาคม 2567 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการภายในปลายเดือนกรกฎาคม 2567

โดยกกพ.เสนอแนวทาง 3 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ทำให้ค่าเอฟที
ขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วย โดยชำระคืนภาระต้นทุนการจัดหาไฟฟ้าคงค้างที่ กฟผ. กู้เงินมาภายในงวดเดียวจำนวน 98,495 ล้านบาทและชำระต้นทุนการจัดหาก๊าซคงค้างของกฟผ.และปตท. จำนวน 15,083.79 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01บาทต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น44 %จากระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน

กรณีที่ 2: กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวด ประกาศค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 113.78 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุนการจัดหาไฟฟ้าคงค้างกฟผ.ภายใน 3 งวดๆ ละจำนวน 32,832 ล้านบาท และชำระต้นทุนการจัดหาก๊าซคงค้างของกฟผ.และปตท.จำนวน 15,083.79 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 18 %จากงวดปัจจุบัน

กรณีที่ 3: กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ประกาศค่าเอฟทีขายปลีก เท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย ทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้างค่าไฟฟ้ากฟผ. ออกเป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 16,416 ล้านบาทและชำระต้นทุนการจัดหาก๊าซคงค้างของกฟผ.และปตท. ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 11 %จากงวดปัจจุบัน


ผลจากการทำความคิดเห็นของประชาชนพบว่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยการขึ้นค่าไฟฟ้าและให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้าเท่าเดิม มีบางส่วนเห็นว่ายอมให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นมาที่ 6.01บาทหน่วย เพื่อให้มีการชำระคืนหนี้กฟผ.และปตท.ทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น