xs
xsm
sm
md
lg

กทท.เซ็นจ้าง CHEC กว่า 7.2 พันล้าน สร้างถนนและท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 คาดออก NTP ส่งมอบพื้นที่ภายใน 1 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทท.เซ็นสัญญาจ้าง "ซีเอชอีซี (ไทย)" ลุยก่อสร้างถนน-ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 วงเงินกว่า 7.2 พันล้านบาท เร่งออก NTP เริ่มงานใน 1 เดือน เผยภาพรวมถมทะเลล่าช้า 3.7% ขยับงาน Key Date 3 จบเดือน ก.ย. 67 ไม่กระทบส่งมอบพื้นที่ และเปิดท่าเรือ F ได้ปลายปี 70

วันที่ 31 ก.ค. 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กับ บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด (CHEC) กลุ่มบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 7,298 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 1,260 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจาก กทท.ให้เริ่มงาน (NTP)

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนที่รัฐบาลให้ความสำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 จะเป็นการเริ่มงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โครงข่ายและระบบการขนส่งต่อยอดจากการดำเนินงานส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นงานก่อสร้างทางทะเลที่อยู่ระหว่างเร่งรัดให้กิจการร่วมค้า CNNC ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด ซึ่งจะผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าสู่การลงทุนในภูมิภาคเอเชีย พร้อมรองรับปริมาณตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ กทท.กำกับ ควบคุม และดูแลการดำเนินงานในส่วนที่ 2 นี้ให้สำเร็จลุล่วงตามกรอบเวลา เพื่อให้มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้กิจการร่วมค้า GPC ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2568 และสามารถเปิดให้บริการท่าเรือ F ได้ภายในสิ้นปี 2570 และทำให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 4 ล้านทีอียูต่อปี รวมเป็น 15 ล้านทีอียูต่อปี จากปัจจุบัน ระยะที่ 1 และ 2 สามารถรองรับได้ 11 ล้านทีอียูต่อปี


นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า กทท.มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทซีเอชอีซี โดยคาดว่าจะออก NTP ได้ภายใน 1 เดือนและเริ่มก่อสร้างได้ภายใน 3 เดือน โดยเป็นพื้นที่ในส่วนของงานถมทะเลพื้นที่ 1 และ 2 ที่ดำเนินการเสร็จแล้ว ส่วนงานถมทะเลพื้นที่ 3 (Key Date 3) จะเสร็จและทยอยส่งมอบในระยะต่อไป ซึ่งจากผลงานของ บริษํท ซีเอชอีซีที่ผ่านมา ทำให้มั่นใจว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จตามระยะเวลาสัญญา ทั้งนี้ สัญญากำหนดบทปรับกรณีล่าช้าไว้ที่ 0.01% หรือวันละ 457,000 บาท

ซึ่งงานส่วนที่ 2 นี้ประกอบด้วยงานก่อสร้างหลักที่สำคัญ ได้แก่ งานระบบถนน งานอาคาร งานระบบสาธารณูปโภค งานท่าเทียบเรือชายฝั่ง และงานท่าเทียบเรือบริการ รวมถึงการวางระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าภายในประเทศ เพื่อรองรับการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงบริเวณหลังท่าเทียบเรือ ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรางที่สำคัญที่จะทำให้การขนส่งตู้สินค้าทางรางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนมาสู่ทางรางและทางน้ำ

รวมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีท่าเรือสมัยใหม่ที่มีศักยภาพสูงตลอดจนการเป็นท่าเรือที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบยกตู้สินค้าอัตโนมัติในลานกองตู้สินค้า ยานพาหนะแบบไร้คนขับ (Automated Guided Vehicle : AGV) ระบบการตรวจสอบและอ่านหมายเลขตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Optical Character Recognition : OCR) เพื่อสแกนข้อมูลบนตู้สินค้าโดยอัตโนมัติ ลดความผิดพลาดในการนำส่งข้อมูล เป็นต้น


@ ถมทะเลล่าช้า 3.7% ขยับงาน Key Date 3 จบเดือน ก.ย. 67

นายเกรียงไกรกล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีการแบ่งงานก่อสร้างหลักภายใต้ความรับผิดชอบของ กทท.ออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล ดำเนินงาน
โดยกิจการร่วมค้า CNNC ซึ่งขณะนี้งานถมทะเลในภาพรวมมีความคืบหน้า 37% ยังล่าช้ากว่าแผน 3.7% ตามเดิมกำหนดว่า กิจการร่วมค้า CNNC จะส่งมอบพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) ในเดือนมิถุนายน 2567 แต่มีการปรับออกไปเป็นเดือนกันยายน 2567 แต่ยังอยู่ในแผนงานที่กทท.จะส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญา กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2568

ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มีการลงนามในวันนี้ ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ วงเงิน 799.5 ล้านบาท และส่วนที่ 4 งานจัดหาเครื่องมือ พร้อมจัดหาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ งบประมาณ 2,257.84 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง TOR คาดว่าจะสามารถประกาศประกวดราคาได้ภายในต้นปี 2568


@ซีเอชอีซีมั่นใจงานฉลุย ประสบการณ์ผลงานในไทยเพียบ

ด้าน Mr. Jiang Houliang (นายเจียง โห่เลี่ยง) กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคบริษัท China Harbour Engineering Company กล่าวว่า บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในงานก่อสร้างท่าเรือทั่วโลก รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยความพร้อมและความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมระดับสากล เชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 ให้เป็นไปตามมาตรฐานและสำเร็จลุล่วงตามกรอบระยะเวลาตามสัญญาที่กำหนดได้อย่างแน่นอน

Mr. Wang Haiguang (นายหวัง ไห่กวง) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ก่อตั้งมา 30 ปีแล้ว ที่ผ่านมาได้ดำเนินการก่อสร้างงานในประเทศหลายโครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านบาท ยังไม่รวมงานส่วนที่ 2 ของท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และขณะนี้กำลังก่อสร้างทางด่วนพระราม 3- ดาวคะนอง-วงแหวนฯ สัญญา 2 อีกด้วย อีกทั้งมีประสบการณ์เคยก่อสร้างท่าเทียบเรือให้กับบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นท่าเทียบเรือที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย จึงไม่มีความกังวล และมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินงานท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 ให้เสร็จตามสัญญาแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น