xs
xsm
sm
md
lg

“มนพร” เดินหน้าแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนที่ 2 มั่นใจเปิดบริการได้ปี 70

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 67 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานสักขีพยานการลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กับบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารที่ทำการ กทท.

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ กทท.ได้ลงนามสัญญาในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนที่รัฐบาลให้ความสำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จึงถือเป็นความคืบหน้าที่ดีในการผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าสู่การลงทุนในภูมิภาคเอเชีย พร้อมรองรับปริมาณตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยจะเป็นการเริ่มงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โครงข่ายและระบบการขนส่ง ต่อยอดจากการดำเนินงานส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นงานก่อสร้างทางทะเลที่อยู่ระหว่างเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด

นางมนพรกล่าวต่อว่า จากนี้จะได้กำชับให้ กทท.กำกับ ควบคุม และดูแลการดำเนินงานในส่วนที่ 2 นี้ ให้สำเร็จตามกรอบเวลา เพื่อให้มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2568 และสามารถเปิดให้บริการท่าเรือ F ได้ภายในสิ้นปี 2570 ซึ่งจะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 4 ล้านทีอียูต่อปี รวมเป็น 15 ล้านทีอียูต่อปี จากเดิมที่ระยะที่ 1 และ 2 สามารถรองรับได้ 11 ล้านทีอียูต่อปี


นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่าเรือมีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งที่ต่อเนื่อง พร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าทางเรือ การขนส่งสินค้าทางรถไฟ และสินค้าประเภทต่างๆ การดำเนินงานประกอบด้วยงานก่อสร้างหลักที่สำคัญ ได้แก่ งานระบบถนน งานอาคาร งานระบบสาธารณูปโภค งานท่าเทียบเรือชายฝั่ง และงานท่าเทียบเรือบริการ รวมถึงการวางระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าภายในประเทศด้วยการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงบริเวณหลังท่าเทียบเรือ ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่สำคัญที่จะทำให้การขนส่งตู้สินค้าทางรางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนมาสู่ทางรางและทางน้ำ

รวมทั้งการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีท่าเรือสมัยใหม่ที่มีศักยภาพสูงตลอดจนการเป็นท่าเรือที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบยกตู้สินค้าอัตโนมัติในลานกองตู้สินค้า ยานพาหนะแบบไร้คนขับ (Automated Guided Vehicle : AGV) ระบบการตรวจสอบและอ่านหมายเลขตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Optical Character Recognition : OCR) เพื่อสแกนข้อมูลบนตู้สินค้าโดยอัตโนมัติ ลดความผิดพลาดในการนำส่งข้อมูล เป็นต้น โดยบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งใน 90 กว่าสาขาทั่วโลกของ บริษัท China Harbour Engineering Company จะต้องปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 1,260 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจาก กทท. ให้เริ่มงาน

ด้าน Mr. Jiang Houliang กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคบริษัท China Harbour Engineering Company กล่าวว่า บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในงานก่อสร้างท่าเรือทั่วโลก รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยความพร้อมและความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมระดับสากล เชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และสำเร็จลุล่วงตามกรอบระยะเวลาตามสัญญาที่กำหนดได้อย่างแน่นอน


Mr. Wang Haiguang กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้บริษัทฯ ครบรอบการก่อตั้งเป็นปีที่ 30 ครั้งหนึ่งได้เคยก่อสร้างท่าเทียบเรือให้กับบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นท่าเทียบเรือที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย และในปีนี้นับเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งที่ได้ร่วมดำเนินการโครงการฯ ที่เป็นเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญของประเทศไทย

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีการแบ่งงานก่อสร้างหลักภายใต้ความรับผิดชอบของ กทท.ออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล ดำเนินงานโดยกิจการร่วมค้า CNNC ซึ่งขณะนี้งานถมทะเลในภาพรวมมีความคืบหน้า 36% ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มีการลงนามในวันนี้ ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหาเครื่องมือ พร้อมจัดหาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยงานส่วนที่ 3 และ 4 อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง TOR คาดว่าจะสามารถประกาศประกวดราคาได้ภายในต้นปี 2568

สำหรับการลงนามฯ ในครั้งนี้ มีนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร หัวหน้าคณะผู้สังเกตการณ์โครงการข้อตกลงคุณธรรมงานจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง คณะผู้แทนคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คณะกรรมการ กทท. ผู้บริหาร กทท. ผู้บริหารบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น