xs
xsm
sm
md
lg

“คีรี”เปิดใจ ”สายสีส้ม” สู้เต็มที่แล้ว น้อมรับคำพิพากษา ยันพร้อมประมูลโครงการ รฟม.ในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คีรี”เปิดใจครั้งแรก”คดีสายสีส้ม” ที่ผ่านมาต่อสู้และทำเต็มที่แล้วเพื่อผู้ถือหุ้นเพราะรถไฟฟ้าคือธุรกิจหลัก สู้ไม่ได้คือไม่ได้ น้อมรับคำพิพากษา วันนี้ถือว่าจบไปแล้ว ยังพร้อมร่วมประมูลโครงการของรฟม. ในอนาคต

หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ยกฟ้องในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นคดีทางปกครองคดีสุดท้าย และนำไปสู่ มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)​ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ไปเมื่อวันที่18 กรกฎาคม 2567 แล้วนั้น

วันนี้ (30 ก.ค.67) นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา รถไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลักของบริษัท จึงได้เข้าร่วมประมูลในสิ่งที่รฟม.กำหนด TOR ออกมา แต่อยู่ดีๆ ก็มีการเปลี่ยนและเลิกประมูล และมีการประมูลครั้งที่ 2 ซึ่งเหตุผลจริงๆแล้วเราไม่สามารถเข้าประมูลได้ เพราะ TOR ที่ออกมาครั้งนี้ไม่เอื้อให้เราเข้าประมูลเลย ทำให้บริษัทไม่ได้ยื่นประมูลครั้งที่2 ซึ่งครั้งที่ 2 กลายเป็นมีคู่เทียบประมูล 2 บริษัท คือบมจ.อิตาเลียนไทยฯ แทนที่จะเป็น บีทีเอส

ฉะนั้นในส่วนของตนนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท เพราะโครงการรถไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลักของเรา แต่เหตุใดไม่ยื่นประมูล ทำให้ต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่า ทำไมไม่ประมูลธุรกิจหลัก ซึ่งก็ได้มีการต่อสู้มาตลอด จะทำอย่างไรให้ถูกต้อง ก็ถือว่า ถึงวันนี้ ผมได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ ในการบริหารบริษัทและทำเต็มที่ให้กับผู้ถือหุ้น

เมื่อศาลได้พิจารณาและตัดสินมาแบบนี้แล้ว ก็ต้องน้อมรับ ว่ามีผู้ประมูลได้แล้วก็จบเรื่องของผมแล้ว คือ เขาประมูลได้ เราประมูลไม่ได้เพราะ TOR เป็นแบบนี้และศาลก็พิจารณาแล้ว กระบวนการต่างๆ ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว ก็ต้องยอมรับความจริงว่า รฟม.เดินทางแบบนี้ เสนอครม. เซ็นสัญญาไปแล้ว ถือว่า จบภารกิจผมสำหรับผู้ถือหุ้นแล้ว ผมทำสุดความสามารถแล้ว แต่สุดท้าย จะดีสำหรับประชาชนหรือไม่ วันนี้ถือว่าจบไปแล้ว เรายอมรับ

“เรื่องนี้เป็นคณะบริหารเก่าของรฟม. ซึ่งข้อเสนอของบริษัทสำหรับสายสีส้ม ก็เสนอเชื่อมต่อกับ โครงข่าย สีเหลือง สีชมพู ต้องดูเรื่องความสะดวกของประชาชนเป็นหลัก ประชาชนสะดวกหรือไม่ ผู้โดยสารที่ใช้บริการอยู่ทุกวันนี้ จะเป็นคำตอบได้ดี และในอนาคตหากรฟม.มีโครงการใหม่ๆ บริษัทสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลแน่นอน”


กำลังโหลดความคิดเห็น