บอร์ด รฟท.เคาะรวมรถไฟสีแดง 2 สาย “ตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช” เป็นโครงการเดียวกัน มัดรวมก่อสร้างสัญญาเดียว 1.51 หมื่นล้านบาท แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ลดค่าที่ปรึกษา เร่งชง ครม.คาด ก.ย. เปิดประมูล พร้อมปัดฝุ่นสายสีแดงเข้ม "วงเวียนใหญ่-มหาชัย" เคาะจ้างที่ปรึกษา 135 ล้าน ออกแบบรายละเอียด
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ครั้งที่ 9 /2567 เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบรวมโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดงอ่อน) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีสะพานพระราม 6 สถานีบางกรวย -การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถานีบ้านฉิมพลี) และโครงการสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เข้าด้วยกันเป็นโครงการเดียว ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา และเปิดประกวดราคาสัญญาเดียว ตามที่ รฟท.เสนอ เนื่องจากเห็นว่า 2 โครงการมีผลดีต่อการส่งมอบพื้นที่และการก่อสร้างในจุดทับซ้อนกันที่สถานีตลิ่งชัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง และงานระบบต่างๆ รวมถึงให้ดำเนินงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จพร้อมกัน
ซึ่งการรวม 2 เส้นทางเป็นโครงการเดียว ทำให้มูลค่าโครงการรวมเดิม 15,286.27 ล้านบาท เหลือ 15,176.21 ล้านบาท หรือกรอบวงเงินโครงการลดลง 110.06 ล้านบาท เนื่องจากเมื่อเป็นสัญญาเดียว ผู้รับจ้างรายเดียว ทำให้ลดงานที่ซ้ำซ้อนลง รวมถึงลดค่าจ้างที่ปรึกษาก็ลดลงไปด้วย โดยหลังจากนี้เสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะได้รับอนุมัติเดือน ส.ค. 2567 จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคา 3 ส่วน คือ ประกวดราคาหาผู้รับจ้าง ประกวดราคาที่ปรึกษาควบคุมงาน (CSC) และประกวดราคาที่ปรึกษาอิสระ (ICE) ดำเนินการช่วงระหว่าง เดือน ก.ย. 2567 ถึงเดือน เม.ย. 2568 (8 เดือน) เริ่มก่อสร้างเดือน พ.ค. 2568 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 36 เดือน คาดว่าเปิดให้บริการเดือน พ.ค. 2571
สำหรับโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทางรวม 14.8 กิโลเมตร (กม.) มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-กฟผ. สถานีบ้านฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา มีการปรับกรอบวงเงินมาแล้วจากเดิม ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2562 วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท เป็นวงเงิน 10,670.27 ล้านบาท ซึ่งเตรียมเสนอ ครม.เมื่อเดือน มี.ค. 2567 แต่มีการถอนเรื่องกลับมาปรับปรุงใหม่
ส่วนสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทางรวม 5.7 กม. มี 3 สถานี ได้แก่ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน สถานีจรัญสนิทวงศ์ และสถานีธนบุรี-ศิริราช มีการปรับกรอบวงเงินจากเดิม ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท เป็นวงเงิน 4,616 ล้านบาท ซึ่งเตรียมเสนอ ครม.เมื่อเดือน ก.พ. 2567 แต่มีการถอนเรื่องกลับมาปรับปรุงใหม่
โดยเมื่อรวมทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการเดียวกัน ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทางรวม 20.5 กม. วงเงินโครงการ 15,176.21 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 14.78 ล้านบาท 2. ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน (CSC) วงเงิน 392.13 ล้านบาท (ลดลง 2.75 ล้านบาท) 3. ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) วงเงิน 39.55 ล้านบาท (ลดลง 7.35 ล้านบาท) 4. ค่างานโยธาและระบบราง วงเงิน 10,774.72 ล้านบาท (ลดลง 99.96 ล้านบาท) 5. ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 3,955.03 ล้านบาท ส่วนตู้รถไฟฟ้าจะอยู่ในงาน PPP สายสีแดง
@ปัดฝุ่นสีแดงเข้ม "วงเวียนใหญ่-มหาชัย" เคาะจ้างที่ปรึกษาทบทวน&ออกแบบ
นอกจากนี้ บอร์ด รฟท.ยังอนุมัติจ้างกิจการค้าร่วม (Consortium) ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด มีผู้เข้าร่วมค้า 4 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท เทสโก้ จำกัด (Lead Firm) 2. บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด 3. บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และ 4. บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด) เป็นที่ปรึกษา ทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย กรอบวงเงินสัญญาจ้าง 135,622,500 บาท ระยะเวลาศึกษา 450 วัน โดยบอร์ดให้ รฟท.หารือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก่อนพิจารณาอนุมัติจ้างที่ปรึกษา
ก่อนหน้านี้ สนข.มีความเห็นว่าหาก รฟท.จะดำเนินการโครงการสายสีแดงเข้ม ก็ต้องศึกษาทบทวนใหม่ เพราะเห็นว่าช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย เขตทางรถไฟแคบ วัดจากกึ่งกลางทางรถไฟออกไปข้างละ ประมาณ 20 เมตรเท่านั้น ทำให้ต้องก่อสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับ และอาจมีเวนคืนบ้างบริเวณที่เป็นสถานี ซึ่ง รฟท.หารือและตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย มีความจำเป็นต้องดำเนินการเพราะมีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก โดยก่อสร้างเป็นรถไฟสายสีแดง ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่า ดังนั้นจะยืนยันกับ สนข.ในการดำเนินการเส้นทางนี้
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เคยมีความเห็นอาจจะยกเลิกเส้นทางช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ เนื่องจากไม่ผ่านการพิจารณา EIA และการปรับรูปแบบก่อสร้างเป็นใต้ดินอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยามีค่าก่อสร้างสูงมาก ซึ่งเรื่องนี้ รฟท.หารือกรมรางเนื่องจากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟสายสีแดง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า ดังนั้นจึงต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันให้ชัดเจน
รายงานข่าวแจ้งว่า จากผลการศึกษาเดิมเมื่อปี 2549 โครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ระยะทางรวม 36.56 กิโลเมตร โครงสร้างยกระดับ มูลค่าประมาณ 53,064 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 3.40 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 4,934 ล้านบาท 2. ช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย ระยะทาง 33.16 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 48,129 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาและออกแบบรายละเอียดระบบรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกลเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (มหาชัย-ปากท่อ) เมื่อปี พ.ศ. 2550 แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1. ช่วงมหาชัย-บ้านแหลม ระยะทาง 0.85 กิโลเมตร 2. ช่วงบ้านแหลม-แม่กลอง ระยะทาง 33.73 กิโลเมตร และ 3. ช่วงแม่กลอง-ปากท่อ ระยะทาง 30.50 กิโลเมตร โดยมีมูลค่าโครงการทั้ง 3 ช่วงรวมประมาณ 38,182 ล้านบาท