xs
xsm
sm
md
lg

มอบแสงสว่าง สืบสานพระราชปณิธานในหลวงเพื่อปวงประชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ครั้งเมื่อทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ หนึ่งในนั้นคือ “ด้านพลังงาน” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของราษฎร พระองค์ยังคงทรงงานอยู่เบื้องหลัง เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการต่าง ๆ ของพระราชบิดาอย่างต่อเนื่อง จนผลิดอกออกผลงดงามให้กับปวงประชาราษฎร์

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ได้ร่วมกับกระทรวงพลังงานสานต่อพระราชปณิธาน จัดโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เบอร์ 5 ในพื้นที่โครงการหลวง ทั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จ.ตาก และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จ.เชียงใหม่ รวมถึงโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เบอร์ 5 วัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) จ.กระบี่ เพื่อสนับสนุนพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นแหล่งเรียนรู้การใช้พลังงานสะอาดให้แก่ชุมชน

• สืบสานงานโครงการหลวง สร้างรายได้ให้ชุมชน พัฒนาผลิตผลที่มีคุณภาพ

หากจะกล่าวถึงโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงก่อตั้งขึ้น หนึ่งในโครงการที่คนไทยรู้สึกใกล้ชิดคือ "โครงการหลวง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงให้ต่อเนื่องเป็นไปตามพระราชประสงค์ เพื่อพัฒนาให้ชุมชนโครงการหลวงเติบโตอย่างมีคุณภาพและอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนได้บริโภคผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย


ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จ.ตาก จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ 10 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงก่อตั้งโครงการหลวง นับเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งที่ 39 ของโครงการหลวงทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์เดิมที่ติดตั้งบริเวณอาคารสำนักงานไม่สามารถใช้งานได้ เพราะ Off Grid Inverter และแบตเตอรี่เสียหาย อีกทั้งแผงโซลาร์เซลล์เดิมรับแสงแดดไม่ได้เต็มที่ ถูกเงาบดบัง กฟผ. จึงดำเนินการติดตั้ง On Grid Inverter เพื่อใช้งานร่วมกับแผงโซลาร์เซลล์เดิม โดยการปรับโครงสร้างแผงโซลาร์เซลล์ให้สูงขึ้น และติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เบอร์ 5 เพิ่มเติมบนอาคารประชุมเศรษฐกิจพอเพียง และโรงคัดบรรจุผลิตผลทางการเกษตรบ้านจ่อคี กำลังผลิตรวม 16 กิโลวัตต์ พร้อมระบบ Inverter ผลิตไฟฟ้าได้ 23,000 หน่วยต่อปี ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 12 ตันต่อปี อันเป็นการสานต่อพระราชปณิธานอีกทางหนึ่ง


นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการวิจัยและพัฒนางานบนพื้นที่สูง โดยเป็นศูนย์กลางการวิจัย บุกเบิกองค์ความรู้ใหม่เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้งานโครงการหลวงเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กฟผ. จึงได้ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ กำลังผลิต 72 กิโลวัตต์ พร้อมระบบ Inverter ที่อาคารเมล็ดพันธุ์และแปรรูปสมุนไพร โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 107,200 หน่วยต่อปี คิดเป็น 12% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด สามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 536,000 บาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 56 ตันต่อปีด้วย




• สร้างแสงสว่างแห่งศรัทธา ส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้คงอยู่

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนานับตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงดำรงตนเป็นพุทธมามกะ ผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยพระราชศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา และทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูและจรรโลงพระพุทธศาสนามาโดยตลอด วัดที่ได้รับพระราชทานนามจากพระองค์ พร้อมทั้งให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ ม.ว.ก. ขึ้นประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถ คือ วัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) จ.กระบี่ ภายในวัดมีพระมหาธาตุเจดีย์ เฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ กฟผ. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการนำนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ จึงได้ติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เบอร์ 5 กำลังผลิต 72 กิโลวัตต์ พร้อมระบบ Inverter เพื่อใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ พระมหาธาตุเจดีย์ฯ อาคารเรียนพระสงฆ์ ศาลาการเปรียญ การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เบอร์ 5 จะช่วยให้วัดมหาธาตุวชิรมงคลสามารถประหยัดไฟฟ้าได้ปีละกว่า 1.1 แสนหน่วย หรือลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 5.5 แสนบาท คิดเป็น 28% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 57 ตันต่อปี




“วัดมหาธาตุวชิรมงคลมีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าสูง เนื่องจากมีพระสงฆ์จำนวนมาก การที่ กฟผ. ตั้งใจถวายระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เบอร์ 5 เป็นพระราชกุศล ถือเป็นการให้ความสว่างแก่พระสงฆ์ที่มาศึกษาเล่าเรียน และญาติโยมที่มาสวดมนต์ ทำให้เกิดความสว่างในชีวิตต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด” พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระเทพวชิรากร รองเจ้าคณะภาค 17 เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ กล่าวอนุโมทนาไว้


โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เบอร์ 5 ในพื้นที่โครงการหลวง และวัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) จ.กระบี่ พร้อมเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เพิ่มแสงสว่างเพื่อสาธารณประโยชน์ ร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย ในการสร้างประโยชน์สุขแก่พสกนิกรอย่างยั่งยืนสืบไป
กำลังโหลดความคิดเห็น