xs
xsm
sm
md
lg

“พีระพันธุ์”จ่อร่างกฎหมายใหม่ ดึงอำนาจกำหนดเพดานภาษีน้ำมันคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พีระพันธุ์”เร่งเดินหน้าปรับโครงสร้างราคาพลังงาน จ่อร่างกฎหมายใหม่เพื่อดึงอำนาจกำหนดเพดานภาษีน้ำมันคืนหวังแก้ปัญหากองทุนน้ำมันติดลบแสนล้านบาทและดูแลราคาพลังงานให้เหมาะสม “ปตท.”ยอมรับตรึงค่าไฟ4.18บาทต่อหน่วย โดยยืดการรับชำระค่าAF GASกระทบงบการเงินเล็กน้อย

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการปรับโครงสร้างราคาพลังงานว่า ขณะนี้ตนได้ร่างกฎหมายใหม่เพื่อทดแทนพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 เพื่อดูแลราคาน้ำมัน เป็นการแก้ไขโครงสร้างราคาพลังงานในระยะยาวซึ่งจะพยายามให้มีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้

ก่อนหน้าที่จะมีการออกพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กระทรวงพลังงานจะมีคณะทำงานดูแลกำหนดเพดานภาษีน้ำมันและดูแลการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เมื่อพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีผลบังคับใช้ อำนาจในการกำหนดเพดานภาษีน้ำมัน ได้ถูกตัดไป ทำให้กระทรวงพลังงานคงเหลือเพียงอำนาจดูแลกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น

ดังนั้นกฎหมายใหม่ที่จะออกมาใช้นั้น จะดึงอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันกลับคืนมา โดยจะเสนอแต่งการตั้งคณะกรรมการขึ้นมามีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเป็นประธานเพื่อกำหนดเพดานภาษีน้ำมัน โดยคลังยังเป็นผู้จัดเก็บภาษีน้ำมันสรรพสามิตอยู่เหมือนเดิมเพียงแต่ไม่ให้เก็บภาษีเกินเพดานที่กำหนด ขณะเดียวกันก็บริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อแก้ปัญหากองทุนน้ำมันฯติดลบแสนล้านบาทในขณะนี้

ปัจจุบันภาษีที่เรียกเก็บจากน้ำมันเชื้อเพลิงมีความซ้ำซ้อน โดยประเทศเพื่อนบ้านที่มีการจัดเก็บภาษีน้ำมันเรียกว่า ภาษีสรรพสามิตมีเพียง 3ประเทศ คือไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยไทยมีกรมสรรพสามิตเก็บภาษีน้ำมัน 5.99บาท/ลิตรรวมภาษีท้องถิ่นเป็น 6.50บาท/ลิตร ขณะที่สิงคโปร์จัดเก็บ 5.50บาท/ลิตรและเวียดนาม 1.70บาท/ลิตร ดังนั้นราคาน้ำมันที่ประชาชนจ่ายไปลิตรละ30-40 บาท เป็นแค่ค่าเนื้อน้ำมันประมาณ 21บาท/ลิตร ดังนั้นการดูแลราคาน้ำมันจึงไม่ได้อยู่แค่กระทรวงพลังงานเท่านั้น

อีกทั้งในอดีตการเติมเอทานอลและไบโอดีเซล(บี100)ในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และดีเซลเพื่อให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นในราคาถูกลง แต่ปัจจุบันบี100และเอทานอลมีราคาแพงกว่าราคาเนื้อน้ำมัน ดังนั้นการนำมาผสมทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยมีราคาแพงขึ้นอีก

ทั้งนี้มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบการกำหนดเพาดานราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน33บาท/ลิตรจนถึงสิ้นตุลาคม 2567 และตรึงอัตราค่าไฟฟ้างวดกันยายน-ธันวาคม2567 ที่ 4.18บาท/หน่วยนั้น เป็นการดูแลราคาพลังงานให้กับประชาชนเพื่อลดค่าครองชีพ โดยมีมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบมจ.ปตท. โดยปตท.ยินดีที่จะยังไม่รับชำระต้นทุนการจัดหาก๊าซคงค้าง(AF GAS)ในงวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2567 ส่วนกฟผ.จะรับรายได้เพียง 0.05 บาทต่อหน่วย

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวการช่วยแบ่งเบาภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนโดยการยืดการรับชำระค่าต้นทุนการจัดหาก๊าซฯคงค้าง(AF GAS)ออกไป4เดือนนั้น ตะส่งผลกระทบต่องบการเงินปตท.บ้างแต่ไม่มากเมื่อเทียบกับกฟผ.

ส่วนความคืบหน้าในการปรับแผนธุรกิจปตท.คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการบริษัทในเดือนสิงหาคมนี้ โดยปตท.อยากทำอะไรให้ประเทศไทยแข็งแรง ขณะที่ปตท.เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ได้มุ่งกำไรระยะสั้น วันนี้ประชาชนมีปัญหาค่าครองชีพ การยืดการชำระค่าAF GASของกฟผ.และปตท. ไปเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าเท่าเดิมที่ 4.18บาท/หน่วยก็เป็นหนทางหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น