xs
xsm
sm
md
lg

บวท.สร้างเส้นทางบินคู่ขนาน "ไทย-ลาว-จีน" 8 เดือนเที่ยวบินจีนโตกว่า 200% "แก้คอขวดห้วงอากาศรองรับเพิ่มเท่าตัว"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากนโยบายรัฐบาลในการยกระดับศักยภาพด้านการบินของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเดินหน้าพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เป็นหน่วยงานหลักที่สำคัญ ได้เดินหน้าพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการการเดินอากาศอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจราจรทางอากาศ ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด เพื่อรองรับเที่ยวบินเติบโต

“สุรพงษ์  ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแล บวท. ​กล่าวว่า นโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 2 ล้านเที่ยวบินในปี 2581 ซึ่ง บวท.ได้มีการดำเนินแผนงานปรับปรุงเส้นทางบินสำหรับทุกทิศทางการบินเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยเส้นทางบินที่จัดทำใหม่เป็นเส้นทางบินคู่ขนาน ซึ่งอาศัยเทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการจราจรทางอากาศและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน ช่วยลดระยะทางการบิน ซึ่งจะเป็นการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

โดยคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66-ก.ย. 67)​ รวมประมาณ 860,470 เที่ยวบิน แบ่งเป็น ระหว่างประเทศ 436,237 เที่ยวบิน ภายในประเทศ 333,185 เที่ยวบิน และบินผ่านน่านฟ้า 91,048 เที่ยวบิน ซึ่งในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66- พ.ค. 67) ที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณเที่ยวบินรวม 556,864 เที่ยวบิน แบ่งเป็น ระหว่างประเทศ 280,720 เที่ยวบิน ภายในประเทศ 216,537 เที่ยวบิน และบินผ่านน่านฟ้า 59,607 เที่ยวบิน


ซึ่งสัดส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ 5 อันดับสูงสุดจากปริมาณเที่ยวบินทั้งหมด ได้แก่ 1. จีน มีสัดส่วน 20% เพิ่มขึ้นถึง 126% อันดับ 2 คือ สิงคโปร์ สัดส่วน ​8% เพิ่มขึ้นจากเดิม 15% 3. มาเลเซีย สัดส่วน 7% เพิ่มขึ้น 16% 4. อินเดีย สัดส่วน 6.6 % เพิ่มขึ้น 18% และ 5. เวียดนาม สัดส่วน 6.2% ลดลง 8%

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนมีการเติบโตมากขึ้น และภายหลังที่รัฐบาลไทยและจีนได้เห็นชอบข้อตกลงทวิภาคีในการยกเลิกข้อกำหนดด้านวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินไทย-จีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566-พ.ค. 2567 (รวม 8 เดือน) มีปริมาณเที่ยวบินไทย-จีน รวม 55,433 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 213% และคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินไทย-จีน รวม 86,150 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้นทั้งปี 126%

ตัวเลขทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุว่า ช่วง 6 เดือนแรกปี 67 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยประมาณ 3.4 -3.5 ล้านคน คาดทั้งปีอาจจะมีถึง 8 ล้านคน


@เปิดเส้นทางบินคู่ขนานไทย-จีน ปักหมุดเมืองเฉิงตูอัตราโตสูงสุดกว่า 200%

ปัจจุบันสนามบินในประเทศไทยที่มีเที่ยวบินเข้าจากจีน ประกอบด้วย ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย และกระบี่ โดยมีทั้งเที่ยวบินขนส่งสินค้าและเที่ยวบินรับ-ส่งผู้โดยสาร ยกเว้นที่ดอนเมือง และสมุย มีตารางการบินล่วงหน้าสำหรับเที่ยวบินรับ-ส่งผู้โดยสารเท่านั้น ซึ่งขณะนี้หลายสายการบินได้กลับมาให้บริการในเส้นทางบินไทย-จีน อีกทั้งมีการขอเพิ่มเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ เช่น เฉิงตู

ซึ่งเฉพาะเมืองเฉิงตูมีเที่ยวบินไป-กลับ ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุย ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีเที่ยวบินไป-กลับเฉิงตู รวม 5,896 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 437% และคาดการณ์ตลอดทั้งปี 2567 จะมีเที่ยวบินไป-กลับ เฉิงตูรวม 8,850 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 265% (ปี 2566 มีปริมาณเที่ยวบิน 2,426 เที่ยวบิน)

และเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว บวท.จึงจัดสร้างเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการการจราจรทางอากาศ อีกทั้งปรับปรุงระบบเทคโนโลยี ปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ และแนวทางบริหารจัดการ ให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

ที่ผ่านมา บวท.ได้หารือกับทางจีนและลาว เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ที่จะไปยังสนามบินหลัก คือ เชียงใหม่ และเชียงราย รวมทั้งเส้นทางบินแยกย่อยไปยังสนามบินต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงการเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศเพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น เฉิงตู เทียนฟู คุนหมิง กุ้ยหยาง ฉงชิ่ง ซีอาน

ในการสร้างเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน (Parallel Route) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาคอขวด เส้นทางการบินเข้า-ออกระหว่างประเทศไทยกับจีนที่เกิดขึ้นบริเวณประเทศลาวที่จะเข้ามายังประเทศไทย ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ และเพิ่มศักยภาพการให้บริการการเดินอากาศให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริหารห้วงอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 67 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานการประชุมความคืบหน้าความร่วมมือในการรองรับเที่ยวบินเพิ่มระหว่างไทย-จีน ร่วมกับอธิบดีสำนักบริหารการจราจรทางอากาศภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ (SW ATMB) กรมการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CAAC) ผู้แทนจากสมาคมเศรษฐกิจไทยจีน และรองประธานอาวุโสหอการค้าไทย-ฉงชิ่ง เลขาธิการกรรมาธิการสมาคมการลงทุนแห่งนานาชาติ กงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน


ด้านนายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า บวท.ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน และ สปป.ลาว ในการสร้างเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน (Parallel Route) ซึ่งอยู่ภายใต้แผนขยายขีดความสามารถรองรับปริมาณเที่ยวบิน ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา บวท. และหน่วยงานการบินของจีนได้นำเสนอหลักการสร้างเส้นทางบินคู่ขนาน และร่วมกันจัดทำแผนดำเนินการจนแล้วเสร็จ พร้อมประกาศความสำเร็จบนเวทีการประชุมความร่วมมือของสำนักงานสาขาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ICAO APAC) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 ก.ค. ณ เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มทดสอบพร้อมให้บริการในปี 2568 ซึ่งการทำการบินคู่ขนานจะทำให้รองรับปริมาณเที่ยวบินระหว่างไทย-จีน จากปัจจุบัน 100,000 เที่ยวบิน/ปี เพิ่มขึ้นเป็น 200,000 เที่ยวบิน/ปี ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ทุกเที่ยวบินที่เข้ามาในน่านฟ้าไทย ลดระยะเวลาบินและการบินวนรอ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพในปี 2569

“ก่อนเกิดโควิด มีเที่ยวบินไทย-จีนสูงถึง 80,000 เที่ยวบินต่อปี ทำให้เกิดความแออัด บางครั้งต้องบินวนรอนาน ส่งผลให้สายการบินมีต้นทุนเพิ่ม สิ้นเปลืองพลังงาน จึงเห็นว่าหลังโควิดหากเที่ยวบินกลับไปเหมือนเดิมก็จะเกิดปัญหาเหมือนเดิม ทุกฝ่ายจึงร่วมมือกันเตรียมรองรับ โดยการสร้างเส้นทางบินคู่ขนานเพื่อลดการดีเลย์และเพิ่มการเชื่อมโยงของเส้นทางบินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อทุกฝ่าย”

นายณพศิษฏ์กล่าวว่า เส้นทางบินระหว่าง ไทย-จีน ปัจจุบัน มี 4 เส้นทางหลัก ได้แก่ 1. เส้นทางผ่านมาเก๊า และฮ่องกง 2 เส้นทางผ่านเกาะไหหลำ เข้าด้านฝั่งตะวันออกของจีน 2. เส้นทางผ่าน สปป.ลาว เวียดนาม เข้าสู่ตอนกลางของจีน และ 4. เส้นทางไทย-สปป.ลาว เข้ายูนนาน ด้านตะวันตกของจีน ซึ่งเส้นทางนี้มีปริมาณเที่ยวบินสูงถึง 60% ของปริมาณเที่ยวบินไทย-จีนทั้งหมด และเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมีการพัฒนาเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนานขึ้น


@“เมืองเฉิงตู” มณฑลเสฉวน ตลาดนักท่องเที่ยวศักยภาพสูงของไทย

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ประธานคณะกรรมการ บวท. กล่าวว่า ปริมาณเที่ยวบินระหว่างไทย-จีนในช่วงที่ผ่านมา เติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งการบินมีความปลอดภัย ดีเลย์น้อย แสดงถึงการบริหารจราจรทางอากาศมีประสิทธิภาพ ส่วนเมืองเฉิงตูง ในมณฑลนั้นพบว่าปี 2566 ตัวเลขจราจรทางอากาศไปไทยเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว ซึ่งพบว่าสาเหตุที่คนจีน เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ถึงชอบไปเที่ยวเมืองไทยเพราะที่นี่ไม่ค่อยมีทะเลสวยๆ และใช้เวลาบินไม่ถึง 3 ชั่วโมงก็เจอทะเลสวยๆ นอกจากนี้ วัฒนธรรมการกินอาหารรสจัด ที่คล้ายๆ กันอีกด้วย เช่น หม้อไฟหม่าล่า ที่เป็นที่นิยมในประเทศไทยขณะนี้ และยังชอบชอปปิ้ง ทำให้ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญลำดับต้นๆ

การเดินทางเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มศักยภาพรองรับการจราจรทางอากาศ เพราะขีดรองรับที่ 100,000 เที่ยวบิน/ปี อาจจะไม่พอก็ได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า จัดสร้างเส้นทางบินคู่ขนาน เพื่อรับเป็น 200,000 เที่ยวบิน/ปี

มณฑลเสฉวนมีประชากร 86 ล้านคน จึงเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยอาศัยอยู่ในเมืองเฉิงตูถึง 20 ล้านคน ประกอบกับเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากเฉิงตูมาไทยเป็นอันดับที่ 2 ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด ขณะที่เมืองเฉิงตูมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในรอบ 10 ปี แหล่งท่องเที่ยวมากมาย ประชาชนมีกำลังซื้อสูง ซึ่งคนเสฉวนเป็นนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงเป็นอันดับ 2 เวลาเดินทางไปไทย (ประมาณ 7,300 หยวน หรือเกือบ 37,000 บาทต่อคน รองจากชิงเต่า 8,000 หยวน)


สอดคล้องกับข้อมูลจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู เผยว่า ไทย และจีนมีความสัมพันธ์กันมานับร้อยปี ปัจจุบันจีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย 10 ปีติดต่อกัน และเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของไทย ในปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวมเกือบ 105,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และที่รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand 8 ด้านนั้น กว่าครึ่งมีความเกี่ยวข้องกับจีน ได้แก่

1. ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub) โดยนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งที่ไปเยือนไทย 2. ศูนย์กลางการเกษตรและอาหาร (Agriculture & Food Hub) จีนเป็นประเทศที่ไทยส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์การเกษตรอันดับ 1 ของไทย 3. ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) มีบริษัท รถยนต์ไฟฟ้าจีนได้ไปลงทุนในไทยอย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุดบริษัท BYD เพิ่งฉลองการผลิตรถครบ 8 ล้านคัน

4. ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub) ไทยพร้อมจะร่วมมือกับจีนในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของจีน ประกอบกับการสร้างรถไฟจีน-ลาวที่มีการวิ่งแล้ว และไทยกำลังสร้างรถไฟไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และเฟส 2 นครราชสีมา-หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อ ล่าสุดจีนเพิ่งร่วมหารือถึงโครงการแลนด์บริดจ์อีกด้วย และ 5. ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) การเชื่อมโยงระหว่างไทย-จีนโดยเฉพาะการบินของทั้งสองประเทศเป็นที่ประจักษ์เป็นอย่างยิ่งที่นครเฉิงตู โดยมีสายการบินเกือบ 10 สายการบิน รวมทั้งการบินไทย บินตรงระหว่าง กทม.-นครเฉิงตูทุกวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น