รฟม.พร้อมเซ็นสัญญา "สายสีส้ม" หลัง ครม.เห็นชอบผลคัดเลือกฯ เผย BEM เสนอผลตอบแทน 1 หมื่นล้านบาท เจรจาเพิ่มลดค่าโดยสาร 10 ปีแรก ช่วยลดภาระประชาชนคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของ รฟม. โดยมี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการคัดเลือกนั้น
สำหรับผลการคัดเลือกเอกชนสรุปว่า BEM เป็นผู้เสนอผลประโยชน์สุทธิต่อรัฐต่ำที่สุด โดยขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาพร้อมดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นวงเงินรวม 95,432.04 ล้านบาท และเสนอผลตอบแทนให้ รฟม.เป็นวงเงินรวม 10,000 ล้านบาทตลอดอายุสัญญาร่วมลงทุน นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเจรจากับ BEM จนได้ผลการเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชน โดย BEM เสนอที่จะลดอัตราค่าโดยสารเป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ กว่า 13,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ รฟม.จะได้มีหนังสือแจ้งให้ BEM มาลงนามในสัญญาร่วมลงทุน โดยมีกำหนดที่จะลงนามสัญญาในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 และภายหลังจากกระบวนการลงนามสัญญาแล้วเสร็จ รฟม.จะได้มีหนังสือเพื่อแจ้งให้ BEM เริ่มงานก่อสร้าง
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น รฟม.มีแผนที่จะเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกก่อน ในเดือนพฤษภาคม 2571 และเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตก ในเดือนพฤศจิกายน 2573 ต่อไป อย่างไรก็ตาม รฟม.จะได้กำกับและเร่งรัดกระบวนการก่อสร้าง รวมถึงเจรจากับ BEM ให้สามารถเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ได้ก่อนกำหนดภายในต้นปี 2571
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)