xs
xsm
sm
md
lg

รัฐถมกว่าแสนล้านผุด "รถไฟทางคู่" เฟสแรก 7 เส้นทาง จ่อลงอีก 2 แสนล้านลุยเฟส 2 เพิ่มรางแต่จัดหารถยังนิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อ 7 ปีที่แล้ว สมัยรัฐบาล คสช.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาโปรเจกต์รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน หรือรถไฟทางคู่เฟส 1 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร (กม.) อย่างจริงจัง โดยสามารถเปิดประมูลและผลักดันให้ลงนามสัญญากับผู้รับเหมา ใช้เงินลงทุนก่อสร้างและลงทุนงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม จำนวน 124,073.74 ล้านบาท และมีการคาดหมายว่าจะก่อสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการได้ภายใน 5 ปี

ตลอดเวลาที่ผ่านมาโครงการประสบปัญหามากมายทำให้เกิดความล่าช้า ถึงปัจจุบันการก่อสร้างทยอยแล้วเสร็จไปแล้ว 5 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. สร้างเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ตามด้วย ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. ก่อสร้างเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 และช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. ก่อสร้างเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2566

และล่าสุดเส้นทางช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. งานก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดเดินรถไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ทำให้รถไฟทางคู่ในเส้นทางสายใต้ตั้งแต่นครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทางรวมทั้งสิ้น 420 กม. เปิดวิ่งเป็นทางคู่ได้ตลอดสายยาวที่สุดเป็นเส้นทางแรก


ส่วนสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงินลงทุน 29,968 ล้านบาท มีจำนวน 20 สถานี เริ่มต้นก่อสร้างที่สถานีมาบกะเบา อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผ่านพื้นที่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน สิ้นสุดโครงการที่สถานีชุมทางถนนจิระ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

แบ่งงานก่อสร้าง 3 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กม. จำนวน 7 สถานี มูลค่า 7,560 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง ก่อสร้างคืบหน้า 96.36% ล่าช้ากว่าแผนงาน 3.64%

งานสัญญาที่ 1 นั้นติดปัญหาช่วงบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) บ้านท่ามะนาว อำเภอปากช่อง ความยาว 900 เมตร ปัจจุบันในส่วนที่เป็นโครงสร้างยกระดับข้ามทางรถไฟ ความยาว 400 เมตร แล้วเสร็จ ส่วนที่เหลือเป็นถนนทางราบ (At-grade) อีกประมาณ 500 เมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ การก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) บริเวณถนนเทศบาล 9 อำเภอปากช่อง ความยาว 300 เมตร ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วร้อยละ 77 ของมูลค่างาน ที่เหลืออยู่ระหว่างเวนคืนที่ดินของเอกชน ซึ่ง รฟท.อยู่ระหว่างขออนุมัติงบประมาณเวนคืนเพิ่มเติมอีก 197.38 ล้านบาท เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ความเห็นชอบ รฟท.จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนธันวาคม 2568

สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์ ระยะทางรวม 8 กม. โดยมีจำนวน 3 อุโมงค์ มูลค่า 9,290 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าไอทีดี-อาร์ที หรือ ITD-RT (มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ร่วมกับ บจ.ไรท์ทันเน็ลลิ่ง) เป็นผู้รับจ้าง ก่อสร้างคืบหน้า 95.36% ล่าช้ากว่าแผนงาน 4.64% เนื่องจากอยู่ระหว่างการเวนคืนพื้นที่จากประชาชน

ในส่วนการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างปากอุโมงค์ลำตะคอง (อุโมงค์ 3) ฝั่งมุ่งหน้าสถานีคลองไผ่ ระยะทาง 237 เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางนั้น ขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างเสนองานเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนงานภายในปี 2567


@เร่งเคลียร์แบบ ยกข้ามสะพานสีมาธานี ลุ้นประมูลสัญญา 2 ต้นปี 68

สำหรับสัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 69 กม. จำนวน 12 สถานี มี CY 1 แห่ง
มูลค่า 7,061 ล้านบาท อยู่ระหว่างการแก้ไขรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ช่วงสถานีโคกกรวด-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 16 กม. และปรับกรอบวงเงินเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา งานสัญญาที่ 3-5 เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่องบประมาณสูงสุด โดยคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567 คาดเปิดประมูลก่อสร้าง และแล้วเสร็จในปี 2570

@สายเหนือ "ลพบุรี-ปากน้ำโพ" เสร็จในปีนี้

ส่วนสายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงินโครงการ 18,699 ล้านบาท แบ่งก่อสร้าง 2 สัญญา ภาพรวมงานโยธามีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2567 นี้ ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม ระยะทาง 32 กม. มูลค่าโครงการ 10,050 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า UN-SH (ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ร่วมกับ บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด) เป็นผู้รับจ้าง งานคืบหน้า 92.82% ล่าช้ากว่าแผน 6.32 %

และสัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. มูลค่าโครงการ 8,649 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง งานคืบหน้า 85.12% ล่าช้ากว่าแผน 13.37%

@ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ช้ากว่าแผนเกือบ 50%

สำหรับงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม สายเหนือ ระยะทางรวม 148 กม. วงเงิน 2,988.57 ล้านบาท คืบหน้า 58.350% ล่าช้ากว่าแผน 41.060%

งานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม สายตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางรวม 132 กม. วงเงิน 2,549.89 ล้านบาท คืบหน้า 35.080% ล่าช้ากว่าแผน 64.920%

งานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม สายใต้ ระยะทางรวม 420 กม. คืบหน้า 58.489% ล่าช้ากว่าแผน 41.489%

เมื่อเส้นทางก่อสร้างเสร็จแล้ว แม้ว่าการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณจะยังไม่เสร็จ รถไฟก็สามารถใช้ทางวิ่งสองฝั่งได้ก่อน อย่างน้อยขบวนรถไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีก ผู้โดยสารถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วขึ้น อีกทั้งรถไฟทางคู่ยังสามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลทุ่มลงทุนกว่าแสนล้านบาท เพราะต้องการให้รถไฟเป็นแกนหลักของระบบโลจิสติกส์ประเทศไทย ที่มีต้นทุนต่ำและลดมลพิษทางอากาศ


@ทางคู่ 2 สายใหม่ 678 กม. ยังสร้างได้ตามแผน

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ รถไฟทางคู่สายใหม่ 2 สายทาง ได้แก่ สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 85,345 ล้านบาท เริ่มงานเมื่อ 15 ก.พ. 2565 (ระยะเวลา 71 เดือน) ภาพรวมคืบหน้า 11.288% เร็วกว่าแผน 0.145% มี 3 สัญญา ดังนี้

สัญญา 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ผลงาน 10.202% เร็วกว่าแผน 4.713% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2571
สัญญา 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ผลงาน 13.228% ล่าช้า 0.20% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2571
สัญญา 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ผลงาน 10.085% ล่าช้า 5.633% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2571

สายอีสาน บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท ภาพรวมคืบหน้า 3.652% ล่าช้า 12.045% เริ่มงานเมื่อ 16 มี.ค. 2565 (ระยะเวลา 48 เดือน) มี 2 สัญญา ดังนี้

สัญญา 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ผลงาน 0.21% ล่าช้า 0.12% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2570
สัญญา 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ผลงาน 0.01% ล่าช้า 0.08% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2570

@“สุรพงษ์” เผยนโยบาย มุ่งรถไฟไฮบริด เข้า กทม.ปรับใช้ EV 

“สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รมช.คมนาคม กล่าวว่า การจัดหารถจักรและรถโดยสารนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกเทคโนโลยีพลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าเกือบสมบูรณ์ ซึ่งนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ส่วนรถเมล์จะให้เปลี่ยนไปใช้ EV ทั้งหมด ตามด้วยรถแท็กซี่ และรถสาธารณะ บขส. ทั้งหมดวิ่งเข้ากรุงเทพฯ จะเป็น EV ด้งนั้น รถไฟก็เช่นกัน เพื่อมุ่งสู่ green เต็มรูปแบบ เป้าหมายคือปี 2572 จะเหลือเพียงรถส่วนบุคคลที่ขึ้นกับนโยบายที่สนับสนุน เช่น มาตรการด้านภาษี

“เป้าหมายของรถไฟ จะมุ่งสู่ระบบไฮบริด วิ่งนอกเมืองใช้น้ำมัน พอเข้ารัศมีไม่เกิน 200 กม.รอบ กทม.ก็ปรับเป็น EV ตอนนี้กำลังดูว่าจะใช้พลังงานแบตเตอรี่ หรือระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือหัว พิจารณาที่สะดวก ประหยัด คุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

รมช.คมนาคมย้ำว่า การจัดหารถจักรล้อเลื่อนต่างๆ ไม่ได้ล่าช้า เพราะซื้อเข้ามาวันนี้ก็ไม่ได้วิ่งเพราะทางคู่ยังไม่เสร็จทั้งหมด เพราะหากตัดสินใจวันนี้สั่งเข้ามาอีก 3 ปี พอดีกับรางที่จะเสร็จทั้งหมดครบสมบูรณ์ ตนเห็นว่ายิ่งช้าจะดีเพราะทุกวันนี้เทคโนโนโลยีเปลี่ยนไว ยืนยันว่าไม่ล่าช้า รถจะเข้ามาพอดีกับที่ทางคู่เฟส 1 เสร็จสมบูรณ์ทุกเส้นทาง เอามาก่อนซื้อรถมาจอดเสียเงินเปล่า


@ดันเฟส 2 อีก 7 เส้นทาง ลงทุน 2.75 แสนล้านบาท ชง ครม.ปีนี้ หลังเริ่มสร้างปี 68

“สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะผลักดันรถไฟทางคู่เฟส 2 ที่เหลืออีก 6 เส้นทาง เสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติภายในปีนี้ทั้งหมด

สำหรับรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กม. วงเงินลงทุน 275,303.78 ล้านบาท สถานะปัจจุบัน บอร์ด รฟท.อนุมัติทั้งหมดแล้ว โดยช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท อยู่ระหว่างเปิดประกวดราคา ราคากลาง 28,719 ล้านบาท กำหนดยื่นซองข้อเสนอ 20 ส.ค. 67 คาดว่าจะสรุปได้ตัวผู้รับจ้างภายในเดือนตุลาคม 2567 ลงนามสัญญาปลายปี 2567 เริ่มก่อสร้างต้นปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน แล้วเสร็จเปิดบริการปลายปี 2570

ส่วนอีก 6 เส้นทาง ได้แก่ 1. ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท 3. ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. วงเงิน 62,859.74 ล้านบาท 4. ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท 5. ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 24,29.36 ล้านบาท 6. ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท 7. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 6,661.37 ล้านบาท

ปัจจุบันโครงข่ายทางรถไฟมีระยะทาง 4,044 กม. ครอบคลุม 47 จังหวัด เร็วๆ นี้จะมีทางคู่ เฟส 1 ระยะทาง 993 กม. และ เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง อีกว่า 1,479 กม. รวมไปถึงสายใหม่ 2 สายทาง ได้แก่ สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทางรวม 678 กม. ทำให้โครงข่ายรถไฟเพิ่มเป็น 7,193 กม.


@หัวจักร-ล้อเลื่อนไม่พอ แผนยังไม่ชัดเจน ทางคู่เสร็จ…กลายเป็นทางร้าง

แต่เมื่อสำรวจประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถกับจำนวนรถที่มีในปัจจุบัน พบว่ารถไฟมีหัวรถจักรประมาณ 269 คัน ส่วนใหญ่มีอายุใช้งานกว่า 25-50 ปี ส่วนรถใหม่ อย่างรถจักรดีเซลไฟฟ้า (CSR) หรือแพนด้าจำนวน 20 คัน อายุไม่ถึง 10 ปี และรถจักร QSY (อุลตราแมน) จำนวน 50 คันที่เพิ่งซื้อและรับมอบเข้ามาใช้งานได้แค่ 2 ปี พบว่าตอนนี้เสีย และต้องจอดรอซ่อม มีเหลือใช้งานไม่ถึงครึ่ง ส่วนรถโดยสารมีประมาณ 1,500 คัน ก็มีสภาพเก่า ต้องซ่อมและดัดแปลง ติดแอร์เปลี่ยนเบาะกันตลอดเวลา ขณะที่แผนจัดหารถใหม่ยังไม่ชัดเจน เพราะฝ่ายนโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จึงไม่สอดคล้องกับทางคู่ที่ทยอยสร้างเสร็จ งานนี้รัฐทุ่มลงทุนไปกว่าแสนล้านบาท วางแผนปั้นฝัน แต่ยังหาความคุ้มค่าไม่เจอ


กำลังโหลดความคิดเห็น