การตลาด – ตลาดไมซ์ไทยมาถูกทาง ทีเส็บ เผยประเทศไทยได้รับการยอมรับในฐานะจุดหมายปลายทางไมซ์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขยับชั้นขึ้นมาต่อเนื่องหลายด้าน เร่งเครื่อง ขยายตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ อินโดนีเซียกับตะวันออกกลาง เสริมฐานตลาด พร้อมรักษาตลาดหลักเดิมอย่าง จีน อินเดีย เร่งเครื่องกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศ
อุตสาหกรรมไมซ์ (ประกอบไปด้วย ธุรกิจการจัดประชุมขององค์กร (Meetings) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) การจัดประชุมนานาชาติ (Conventions) และการจัดแสดงสินค้า (Exhibitions)) ของไทยกำลังจะก้าวสู่จุดเปลี่ยนอีกครั้งอย่างน่าสนใจ หลังจากผ่านสถานการณ์การระบาดของโควิด-19ซึ่งกำลังไปในทิศทางที่ดี
ทีเส็บ (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ/TCEB ในฐานที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการเรื่องไมซ์ ของไทย ก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้ไทยมีบทบาทที่เด่นชัดและให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางของตลาดไมซ์ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก อย่างต่อเนื่อง
กับสถานภาพของไมซ์ไทย ล่าสุดที่มาจากการจัดอันดับของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ย่อมสะท้อนภาพได้อย่างดี ว่า ไทยเรามาถูกทางแล้ว
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ประเทศไทยติดหนึ่งในสิบของจุดหมายปลายทางชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากการจัดอันดับขององค์กรด้านไมซ์สากล ดังเช่น รายงานการจัดอันดับประเทศและเมืองเจ้าภาพด้านการจัดประชุมนานาชาติประจำปี 2566 ของสมาคมการประชุมนานาชาติ (ICCA) ประเทศไทยเป็นอันดับ 6 จากเดิมอันดับ 7 ของเอเชียแปซิฟิก เมื่อเทียบกับปี 2565 และปัจจุบันเป็นอันดับที่ 26 ของโลก จากเดิมอันดับที่ 32 ก้าวกระโดดถึง 6 อันดับโลกภายในหนึ่งปี
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการโหวตให้เป็นสุดยอดจุดหมายปลายทางของเอเชียในด้านการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล โดยได้รับรางวัล Stella Awards ในสาขา Best MI destination of Asia 2023 เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันในช่วงปี 2564 – 2566 ดำเนินการโดย M&C Asia สื่อด้านธุรกิจไมซ์ในสิงคโปร์
ล่าสุด ด้านการจัดอันดับ CVENT Top Lists 2024 ซึ่งรวบรวมโดยอ้างอิงจากกิจกรรมการจัดหาผ่าน Cvent Supplier Network หนึ่งในแพลตฟอร์มการจัดหาสถานที่จัดงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพฯ และภูเก็ต ติดหนึ่งในสิบจุดหมายปลายทางชั้นนำของเอเชียแปซิฟิกในปี 2567 โดยกรุงเทพฯ ติดอันดับที่ 2 และภูเก็ตติดอันดับที่ 9
ในส่วนอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ จากรายงานของสมาคมการแสดงสินค้าโลก (UFI) ล่าสุดในปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่การจัดงานแสดงสินค้าเป็นอันดับที่ 1 ขยับขึ้นจากอันดับ 2 ของอาเซียน เมื่อเทียบกับปี 2564 และขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย จากเดิมอันดับที่ 8 ภายในหนึ่งปีเช่นกัน
“อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทยได้รับการพัฒนาจนได้รับความไว้วางใจจากนานาชาติว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับการจัดงานเชิงธุรกิจ และบทพิสูจน์มาจากการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติมากมาย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ” นายจิรุตถ์ กล่าว
โดยในช่วงปี 2558 - 2566 พบว่ามีค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมไมซ์คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.24 ล้านล้านบาท ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของไทยคิดเป็น 963,502 ล้านบาท สร้างรายได้ในรูปแบบภาษี 118,421 ล้านบาท และสร้างงาน 844,750 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม ปฎิเสธไม่ได้ว่า ตลาดไมซ์ที่ใหญ่และสำคัญของไทยที่่ผ่านมา ยังคงพึ่งพิงจาก 2 ประเทศเดิมเป็นหลักเท่านั้นคือ จีน กับ อินเดีย เกิน 50% เลยทีเดียว
ความท้าทายของทีเส็บ คือ การที่ต้องพยายามขยายตลาดใหม่ๆให้มากขึ้นและเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาฐานตลาดเก่าที่มั่นคงเอาไว้ด้วยเช่นกัน
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ตลาดไมซ์ของไทยที่ผ่านมา จีน และ อินเดีย ยังคงเป็นตลาดหลักที่ใช้บริการไมซ์ไทยและทำรายได้เข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและยังเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญ
โดยข้อมูลที่ยืนยันคำกล่าวของผอ.ทีเส็บ คือ จำนวนนักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยสูงสุด สะสมตั้งแต่ไตรมาส1และ 2 ปีงบประมาณ 2567 คือ
อันดับที่ 1 คือ จากประเทศจีน จำนวนรวม 196,538 คน
อันดับที่ 2 คือ จากประเทศอินเดีย จำนวนรวม 119,964 คน
อันดับที่ 3 คือ จากประเทศมาเลเซีย จำนวนรวม 86,945 คน
อันดับที่ 4 คือ จากประเทศสิงคโปร์ จำนวนรวม 24,998 คน
อันดับที่ 5 คือ จากประเทศเยอรมัน จำนวนรวม 22,294 คน
อันดับที่ 6 คือ จากประเทศเกาหลี จำนวนรวม 20,772 คน
อันดับที่ 7 คือ จากประเทศเวียดนาม จำนวนรวม 20,446 คน
อันดับที่ 8 คือ จากประเทศอเมริกา จำนวนรวม 18,321 คน
อันดับที่ 9 คือ จากประเทศฮ่องกง จำนวนรวม 15,095 คน
อันดับที่ 10 คือ จากประเทศญี่ปุ่น จำนวนรวม 13,374 คน
นี่เป็นเพียงตัวเลขแค่ครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2567 เท่านั้น
ทั้งนี้ ความน่าสนใจของจีนกับอินเดีย ยังมีอยู่อีกตรงที่ การเดินทางเข้ามาสู่ตลาดไมซ์ในไทย จะมีเป็นกลุ่มองค์กรที่มีขนาดใหญ่มีปริมาณคนมากขึ้นต่องาน กล่าวคือ
ตลาดจีนปีงบประมาณ2567 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน) มีงานที่เป็นระดับเมกะคือมีจำนวนมากกว่า 1,000 คนต่องานขึ้นไป เข้ามาแล้วมากกว่า 39 งานหรือองค์กร รวมมากกว่า 68,100 คนแล้ว ขณะที่เมื่อปีงบประมาณ 2566 ทั้งๆที่ตลาดจีนยังไม่เปิดเต็มที่ก็มีเข้ามามากกว่า 20 งาน รวมกว่า 38,200 คน
ส่วนตลาดอินเดียก็เช่นกัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน มีกลุ่มไมซ์ที่เป็นระดับเมกะเข้ามาแล้วมากกว่า 9 กลุ่ม โดยมี 2 กลุ่มใหญ่ที่มีปริมาณคนมากกว่า 5,000 คนต่องาน โดยมีนักเดินทางไมซ์เข้ามาแล้วรวมมากกว่า 38,600 คน ขณะที่ตลาดอินเดียเมื่อปีงบประมาณ 2566 ทั้งปี มีนักเดินทางไมซ์เข้ามามากกว่า 65,100 คน จาก จากจำนวน 16 องค์กร
“แต่ตลาดอินโดนีเซียและตลาดตะวันออกกลาง ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีที่น่าสนใจ ซึ่งทีเส็บเองก็ต้องพยายามเจาะตลาดใหม่นี้ให้ได้” หัวเรือใหญ่ทีเส็บ บอกถึงทิศทาง
ตามแผนงานแล้ว ทีเส็บจะขยายฐานตลาดใหม่ในตลาดอิสราเอลและตะวันออกกลาง เช่น ยูเออี ตลาดเอเชียกลาง เช่น คาซัคสถาน ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดเดิมที่เป็นตลาดหลักในเอเชียแปซิฟิก เช่น ตลาด CLMV อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน รองลงมาคือ ตลาดอเมริกาเหนือ และยุโรป
แน่นอนว่า ทีเส็บมีแผนงานที่จะขยายตลาดไมซ์ให้มากขึ้น ทั้งในตลาดประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ ด้วยการออกงานโรดโชว์และการทำกิจกรรมต่างๆ หรือร่วมงานแฟร์ต่างๆ
ทั้งนี้ ทีเส็บ ได้ทำเรื่องของบของปีประมาณ 2568 ไปจำนวน 888 ล้านบาท และยังไม่นับรวมงบกลางด้านซอฟท์เพาเวอร์ที่จะเสนออีก 323 ล้านบาท
สำหรับแผนกิจกรรมกระตุ้นตลาดไมซ์ต่างประเทศไตรมาสสุดท้าย ทีเส็บเตรียมแผนจัดโรดโชว์และเข้าร่วมงานเทรดโชว์ต่างประเทศ เจาะกลุ่ม 3 ประเทศเป้าหมายหลัก เริ่มจาก ประเทศอินเดีย ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ที่เมืองกัลกัตตา และเมืองมุมไบ คาดว่าจะมีงานมาจัดในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 40 งาน ดึงนักเดินทางไมซ์กว่า 8,000 คน สร้างรายได้ราว 528 ล้านบาท
ต่อด้วย ประเทศจีน ในเดือนสิงหาคม ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และเมืองกว่างโจว คาดว่าจะมีงานมาจัดในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 45 งาน ดึงนักเดินทางไมซ์กว่า 9,000 คน สร้างรายได้ราว 594 ล้านบาท
ปิดท้ายด้วย ประเทศอินโดนีเซีย เดือนกันยายน คาดว่าจะมีงานมาจัดในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 25 งาน ดึงนักเดินทางไมซ์กว่า 5,000 คน สร้างรายได้ราว 300 ล้านบาท รวมถึงเตรียมการนำผู้ประกอบการไมซ์ไทย เข้าร่วมงานเทรดโชว์ IMEX America 2024 เพื่อเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อในตลาดอเมริกาช่วงตุลาคมนี้อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ได้กล่าวไว้ว่า ขณะนี้ อุตสาหกรรมไมซ์โดยรวมของไทย กำลังฟื้นตัวดีขึ้นกลับมาอยู่ในระดับประมาณ 50% ของปีปกติก่อนหน้าที่ต้องเผชิญกับวิกฤตจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในสิ้นปีนี้ รายได้รวมและปริมาณนักเดินทางท่องเที่ยวไมซ์จะกลับฟื้นตัวขึ้นมาในระดับ 75% ของ 2562 ได้ หรือมีรายได้รวมที่ 140,000 ล้านบาท
สิ่งที่คาดหวังน่าจะมีความเป็นไปได้เพราะเมื่อพิจารณาดูจากสถิติของครึ่งปีแรกงบประมาณที่ผ่านมา (1 ตุลาคม 2566 - 31 มีนาคม 2567) จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์เดินทางเข้ามาในไทยแล้วมากกว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของเป้าหมายรวมที่ 23 ล้านคน และสร้างรายได้เข้าประเทศแล้วประมาณ 77,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของเป้าหมายรายได้รวมทั้งปีเช่นกัน
โดยผลการดำเนินงานอุตสาหกรรมไมซ์ใน 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-มิถุนายน 2567) มีจำนวนนักเดินทางไมซ์กว่า 18 ล้านคน สร้างรายได้ 109,669 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศกว่า 894,000 คน สร้างรายได้ 52,980 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์ในประเทศกว่า 17 ล้านคน สร้างรายได้ 56,689 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าสิ้นปีงบประมาณนี้ผลการดำเนินงานไมซ์จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้โดยมีจำนวนนักเดินทางไมซ์รวมกว่า 23 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 136,000 ล้านบาท
ผอ.ทีเส็บ กล่าวว่า ขณะนี้ ตัวเลขของนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศค่อนข้างจะไปได้ดีและเกินเป้าหมายด้วยซ้ำไป แต่ว่าในส่วนของตลาดนักเดินทางไมซ์ตลาดคนไทยยังต่ำกว่าเป้าหมายอยู่บ้าง จึงต้องเร่งเครื่องในการกระตุ้นตลาด
ล่าสุดทีเส็บได้ร่วมมือกับพันธมิตร 16 หน่วยงาน จัดทำแคมเปญการตลาดสำหรับอุตสาหกรรมการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลภายในประเทศ ด้วยแนวคิด "ยกทีมประชุม รุมรักเมืองไทย" เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยความหลากหลายของอัตลักษณ์เชิงพื้นที่และสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่า ยกระดับไมซ์ไทยสู่จุดหมายปลายทางมูลค่าสูงแห่งเอเชีย
“แคมเปญนี้มีเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล ที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่น และการประชุมที่มีแนวคิดส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยหน่วยงาน องค์กรที่เข้าร่วมโครงการต้องใช้บริการผู้ประกอบการไมซ์บนแพลตฟอร์ม Thai MICE Connect ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการไมซ์ที่สนใจเข้าร่วมแคมเปญนี้ ได้นำเสนอบริการ ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดงานและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมาย องค์กร บริษัท และหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลให้มากขึ้น พร้อมกับนำเสนอเส้นทางสายไมซ์ 7 Theme Soft Power Series เปิดแนวคิดใหม่ๆ ร่วมกับกิจกรรมของภาคีเครือข่าย” นายจิรุตถ์กล่าว
ด้านการส่งเสริมตลาดจะดำเนินงานในรูปแบบของการประกวดภาพถ่ายกิจกรรมการประชุมที่มีความสร้างสรรค์ และแชร์ภาพ/วิดีโอสั้น ตามวัตถุประสงค์โครงการไปยังวงกว้างบนช่องทางออนไลน์ ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อนำเสนอภาพความประทับใจในการจัดประชุมของกลุ่มองค์กรธุรกิจที่มีการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล อย่างน้อยจำนวน 20 คนต่อกลุ่ม (ระยะเวลากิจกรรมอย่างน้อย 2 วัน 1 คืน) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยนำเสนอรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท เป็นเครื่องกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ
แคมเปญนี้มีระยะเวลาการสมัครเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-30 พฤศจิกายน 2567 คาดว่าจะมีหน่วยงาน บริษัทเข้าร่วมแคมเปญนี้กว่า 500 กลุ่ม จำนวนนักเดินทางที่เข้าร่วมโครงการกว่า 10,000 คน รวมถึงตอบสนองให้ตลาดไมซ์ในประเทศ หรือ Domestic MICE กลับมาเติบโตได้ตามเป้าหมายปีงบประมาณ 2567
นอกจากนี้ ยังมีงานไมซ์สำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงไตรมาสสุดท้าย อาทิ งาน The 27th IUPAC International Conference on Chemistry Education หรืองานประชุมวิชาการนานาชาติด้านงานเคมีศึกษาในระดับสากล จัดขึ้นวันที่ 15-19 กรกฎาคม 2567 ณ เมืองพัทยา ชลบุรี, งาน Bangkok International Digital Content Festival 2024 หรืองานเทศกาลด้านดิจิทัลคอนเทนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จัดขึ้นวันที่ 5-8 สิงหาคม 2567 กรุงเทพ และงาน Thailand International LGBTQ + Film & TV Festival 2024 หรืองานเทศกาลเฉลิมฉลองความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ผ่านผลงานศิลปะในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จัดขึ้นวันที่ 20-24 กันยายน 2567 กรุงเทพ เป็นต้น
ทั้งนี้ปีงบประมาณ 2567 ของประเทศไทย ทีเส็บคาดว่าจำนวนนักเดินทางไมซ์จะกลับมาที่ระดับ 75% ของปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) โดยคาดว่าจะมีนักเดินทางไมซ์ รวม 23.2 ล้านคน สร้างรายได้ 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีงบประมาณ 2566โดยแบ่งเป็น นักเดินทางไมซ์ในประเทศ จำนวน 22,230,000 คน เกิดรายได้เข้าประเทศ 73,000 ล้านบาท และเป็นนักเดินทางไมซ์ตลาดต่างประเทศ 960,000 คน รายได้ 6.3 หมื่นล้านบาท
ส่วนเป้าหมายปีงบประมาณ 2568 โดยดำเนินการอ้างอิงกรณี Best case เพื่อให้กลับมาที่ 100% ของปี 2562 ด้วยรายได้รวม 200,000 ล้านบาท จำนวนนักเดินทางไมซ์รวม 34,000,000คน แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์ในประเทศ จำนวน 32,000,000 คน สร้างรายได้ 108,000 ล้านบาท และเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ จำนวน 1,400,000 คน สร้างรายได้ 92,000 ล้านบาท
นายจิรุตถ์ ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางงานแสดงสินค้าและเทศกาลระดับนานาชาติ โดยหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน คือ การร่วมกับทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าและงานเทศกาลระดับโลก ซึ่งอีกตัวอย่างโครงการสำคัญร่วมกับกระทรวงเจ้าภาพในการดึงงานร่วมกัน คือ โครงการประมูลสิทธิ์งานประชุมนานาชาติ One Ministry, One Convention (หนึ่งกระทรวง หนึ่งงานประชุมนานาชาติ) เพื่อยกระดับไทยให้เป็นสถานที่จัดงานสำคัญของภูมิภาค ผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ไทยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการใช้จ่ายของนักเดินทางธุรกิจคุณภาพสูงจากทั่วโลก