xs
xsm
sm
md
lg

ธพ.เปิดรับฟังความเห็นร่างOil Plan2024 ชี้การใช้น้ำมันในไทยสูงสุดไม่เกิน10ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมธุรกิจพลังงาน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง Oil Plan 2024 มุ่งพัฒนาเชื้อเพลิงรับกระแสเปลี่ยนผ่าน สร้างความมั่นคงพลังงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมถกผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพวางแผนต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม รับมือ 2ปีข้างหน้าที่กองทุนน้ำมันฯอุดหนุนไม่ได้แล้ว

วันนี้ (28 มิถุนายน 2567 ) กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 – 2580 (Oil Plan 2024) ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อประกอบการปรับปรุงแผน Oil Plan 2024 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป โดยมีผู้ให้ความสนใจจากองค์กรภาครัฐเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศร่วมรับฟังทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์มากกว่า 300 คน ซึ่ง ธพ. ยังได้เปิดรับความคิดเห็นเพิ่มเติม ผ่านช่องทางแบบสอบถามออนไลน์ (Google Forms) และอีเมล Oilplan2024@gmail.com ตั้งแต่วันนี้ - 12 กรกฎาคม 2567 ทั้งนี้เพื่อเป็นการรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมด นำไปประกอบการปรับปรุงแผน Oil Plan 2024 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป


นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์การใช้น้ำมันของประเทศไทยในช่วง2 ปีนี้ต้องเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนและเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่เพิ่มขึ้นโดยในปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนคัน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีสถานะติดลบกว่า 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันไบโอดีเซล ภายในวันที่ 24 ก.ย. 2567 แต่ยังสามารถผ่อนผันได้อีก 2 ปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น กองทุนน้ำมันฯ จะไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้แล้ว ดังนั้นธุรกิจเอทานอลและไบโอดีเซลจะไปทิศทางอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกร โดยเบื้องต้นได้เตรียมแนวทางผลักดันสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์และยา แต่ก็ต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี แต่หากเกิดขึ้นไม่ทันภายใน2ปีนี้ ก็จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตะต้องมาหารือกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน

นอกจากนี้ ในร่างแผน Oil Plan 2024 ยังต้องพิจารณาเรื่องการขนส่งทางท่อ ที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนและใช้งาน และหากมีการตอบรับที่ดี ในอนาคตก็อาจขยายการขนส่งไปยังหนองคาย และประเทศลาว ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดอุบัติเหตุ โดยต้องมีการส่งเสริมให้เกิดเป็น Single Platform หรือ แพลตฟอร์มการขนส่งแบบไร้รอยต่อ

ส่วนคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR)เพื่อสร้างความมั่นคง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ความสำคัญโดยมีเป้าหมายให้มีการสำรองน้ำมัน 90วันจากปัจจุบันมีการสำรองตามกฎหมายทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวม 25วัน เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และคลังในการจัดเก็บน้ำมันรวมถึงการดูแลรักษาเนื้อน้ำมันอย่างไร คงต้องหารือกันต่อไป


นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ร่างแผน Oil Plan 2024 ได้คาดการณ์ทิศทางความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโลก ที่มีแนวโน้มลดลงในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันสูงสุด ( Oil Peak demand) ของประเทศจะไม่เกินปี พ.ศ. 2573 แต่น้ำมันยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยเฉพาะในภาคขนส่ง จึงได้วางกรอบการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้วิสัยทัศน์ “ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานด้วยความมั่นคง และยกระดับธุรกิจพลังงานเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สาระสำคัญของ (ร่าง) แผน Oil Plan 2024 ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงกรมธุรกิจพลังงานได้วางแผนทบทวนรูปแบบและอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม รวมถึงจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อความต้องการและเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ

2. ด้านการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง เพื่อบริหารจัดการอุปทานน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้มีแนวโน้มลดลง บนเงื่อนไขที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะไม่สามารถอุดหนุนราคาได้ในอนาคต มีราคาเหมาะสม และสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ จึงได้กำหนดแนวทางดำเนินการ ดังนี้

- ภาคขนส่งทางบก : ปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซล โดยกำหนดน้ำมันดีเซล (บี7 )เป็นน้ำมันดีเซลฐาน และกำหนดให้มีเบนซินฐานที่เหมาะสมกับประเทศ ว่าจะเป็นแก๊สโซฮอล์(E10) หรือ E20 ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันต่อไป นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบและมาตรฐานเพื่อกำกับดูแลคุณภาพและความปลอดภัยของการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาใช้ในภาคขนส่งที่คาดว่าจะพร้อมใช้เชิงพาณิชย์ในอนาคต


- ภาคขนส่งทางอากาศ : ส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการบิน มุ่งใช้ศักยภาพวัตถุดิบจากในประเทศ เช่น น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (used cooking oil : UCO) น้ำมันปาล์มดิบ เอทานอล คาดว่าจะสามารถเสนอให้เริ่มมีสัดส่วนการผสม SAF ที่ 1% ในปี พ.ศ. 2569

- ภาคขนส่งทางน้ำ : ส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อาทิ น้ำมันเตากำมะถันต่ำที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ (B24 VLSFO) ซึ่งปัจจุบันที่ตลาดสิงคโปร์มีการซื้อขาย B24 (ผสมเชื้อเพลิงชีวภาพ 24%)

3. ด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงานได้วางแนวทางปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย การกำกับดูแลการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่นน้ำมัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการคลังน้ำมัน ผลักดันการขนส่งน้ำมันทางท่ออย่างเต็มประสิทธิภาพ และส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง

4. ด้านการส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต เพื่อส่งเสริมการผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานน้ำมันเชื้อเพลิงให้สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กรมธุรกิจพลังงานได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่สำหรับขับเคลื่อนในระดับนโยบายประเทศ ประกอบด้วย ธุรกิจปิโตรเคมีพลาสติกชีวภาพ เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน(SAF)และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ และน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ พร้อมเสนอกลไกการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2570


ภาพรวมผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการตาม (ร่าง) แผน Oil Plan 2024 ฉบับนี้ คาดว่าในมิติเศรษฐกิจ จะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 113,000 ล้านบาท สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตไบโอดีเซลและเอทานอลกว่า 71,000 ล้านบาท/ปี และช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าน้ำมันดิบได้ 59,000 ล้านบาท/ปี ส่วนทางด้านมิติสังคมนั้น จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร 41,500 ล้านบาท/ปี และในมิติด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 7.1 mtCO2 เทียบเท่า/ปี เทียบเท่าการปลูกป่าโกงกางขนาด 2.6 ล้านไร่/ปี

ทั้งนี้ ภายหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นก็จะรวบรวม เพื่อจัดทำเป็นฉบับสมบูรณ์ สู่ขั้นตอนของการรวมเป็นแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบสู่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น