xs
xsm
sm
md
lg

ทล.จ่อปิดดีล 'ปตท.-ซี.พี.' พัฒนาที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ "ศรีราชา"-ก.ค.นี้คาดประมูลสายบางปะอิน, บางใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทล.จ่อปิดดีลที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ "ศรีราชา" เจรจา "ปตท.ค้าปลีก-ซี.พี." จบ มิ.ย.นี้ เตรียมปรับรูปแบบ "บางละมุง" ลดไซส์รวมแพกเกจ "มาบประชัน, หนองรี" เพิ่มความคุ้มค่าหลังไม่มีเอกชนประมูล เตรียมชง "สุริยะ" ไฟเขียว ส่วนที่พักริมทาง "บางปะอิน, บางใหญ่" ประมูล ก.ค.นี้

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 กรมทางหลวงจะเดินหน้าการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ ซึ่งจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โดยที่ผ่านมาได้เปิดประมูลโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (Sriracha Service Center) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าอาร์อี ประกอบด้วย บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (ผู้นำกลุ่ม) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในเดือน มิ.ย. 2567 จากนั้นจะลงนามสัญญาต่อไป

สำหรับศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาเป็นที่พักริมทางขนาดใหญ่ บริเวณ กม.93+500 อยู่ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรี) และทางแยกต่างระดับหนองขาม ขนาดพื้นที่ฝั่งไปพัทยา 62 ไร่ ฝั่งไปชลบุรี 59 ไร่ มูลค่าลงทุนก่อสร้างประมาณ 1,100 ล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี ประมาณ 2,000 ล้านบาท ประเมินว่า ทล.จะได้ผลตอบแทนขั้นต่ำรายปีที่ 10 ล้านบาท และปรับเพิ่มทุกๆ 3 ปี


ส่วนโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง ซึ่งเปิดประมูลพร้อมกันแต่ไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอนั้น ทล.ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) ที่ซื้อซองเอกสารสำหรับการคัดเลือก (Request for Proposal : RFP) แต่ไม่ยื่นข้อเสนอแล้ว เบื้องต้นพบว่าที่เอกชนยังไม่สนใจยื่นประมูลเพราะยังกังวลเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน โดยขณะนี้ ทล.กำลังปรับรูปแบบให้เหมาะสม เช่น ปรับงานด้านโยธาโครงสร้างพื้นฐาน มาลงทุนเองและให้เอกชนเข้ามาลงทุนในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์

เบื้องต้น เมื่อ ทล.ดำเนินงานโยธาโครงสร้างพื้นฐานเอง และเปิดประมูลในส่วนของการพัฒนาเชิงพาณิชย์จะทำให้งาน PPP มีมูลค่าเล็กลง ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะนำการพัฒนาสถานที่บริการทางหลวงบางละมุงไปรวมแพกเกจกับจุดพักรถ (Rest Stop) มาบประชัน และ หนองรี ซึ่งอยู่บนมอเตอร์เวย์สาย 7 เหมือนกัน รวมเป็น 3 จุดการพัฒนาเชิงพาณิชย์เปิดประมูล 1 สัญญา ซึ่งจะมีความคุ้มค่าและจูงใจเอกชนมากกว่าแยกประมูลเหมือนก่อนหน้านี้

ส่วนจุดพักรถ (Rest Stop) คลองหลวง, ทับช้าง, ลาดกระบัง ก็จะรวมเป็นอีกแพกเกจ เปิดประมูล 1 สัญญา ซึ่งคาดว่าจุดพักรถทั้ง 2 แพกเกจจะเปิดประมูลได้ภายในปี 2567

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารเชิงพาณิชย์ดังกล่าวเพื่อให้ที่ความเหมาะสมและคุ้มค่ามากขึ้นนั้น ทล.จะนำเสนอแนวทางดังกล่าว ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความเห็นชอบในการปรับรูปแบบการดำเนินงานในส่วนของสถานที่บริการทางหลวงบางละมุงจากลงทุน PPP ทั้งหมด เป็นกรมทางหลวงลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอง หลังจากได้รับความเห็นชอบแล้ว ทล.จะมาดำเนินการศึกษาทบทวนรายละเอียดการลงทุน และเปิดประมูลต่อไป ซึ่งโครงการมีมูลค่าไม่ถึง 1,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะใช้ในเวลาการดำเนินการทบทวนไม่นานเพื่อเปิดประมูลต่อไป


@ก.ค.นี้เตรียมเปิดประมูลที่พักริมทาง (Rest Area) มอเตอร์เวย์บางปะอิน, บางใหญ่

นายสราวุธกล่าวว่า สำหรับโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) ที่เตรียมเปิดประมูลในลำดับต่อไปคือ ที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา และมอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งการก่อสร้างงานโยธาสาย M6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) จะแล้วเสร็จปี 2568 ส่วนมอเตอร์เวย์ M81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) งานโยธาจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งหลักการเมื่องานโยธาก่อสร้างเสร็จจะเปิดให้ใช้เส้นทางฟรีก่อน จนกว่างานติดตั้งระบบ O&M คาดว่าจะเสร็จกลางปี 2568 จากนั้นจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ดังนั้นจะต้องเร่งจุดพักรถเพื่อให้พร้อมบริการเต็มรูปแบบด้วย

ตามแผนงานโครงการที่พักริมทาง M6 จำนวน 2 สัญญา และโครงการที่พักริมทาง M81 จำนวน 1 สัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างทำร่าง RFP จะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ประมาณเดือน ก.ค. 2567

“คณะกรรมการมาตรา 36 ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 ได้นำข้อมูลข้อสังเกตในการเปิดประมูลที่พักริมทาง “ศรีราชา” ที่เอกชนสนใจยื่นประมูลกับบางละมุง ที่ไม่มีเอกชนยื่นประมูลมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำเงื่อนไขต่างๆ ให้เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการลงทุน เช่น การทยอยลงทุน ในส่วนของการติดตั้งหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การก่อสร้างทางเชื่อมลอยฟ้า ควรแบ่งเป็นเฟส เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า และปริมาณผู้ใช้บริการ”

สำหรับจุดพักรถมอเตอร์เวย์สาย M6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) มีจำนวน 15 แห่ง รูปแบบร่วมลงทุน (PPP) โดยแบ่งออกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ดำเนินการ 8 แห่ง ได้แก่ 1. จุดพักรถวังน้อย 2 แห่ง (ขาออก 11ไร่ ขาเข้า 9 ไร่) 2. จุดพักรถหนองแค 2 แห่ง (ขาออก 7 ไร่ ขาเข้า 7 ไร่) 3. สถานบริการทางหลวงสระบุรี 2 แห่ง (ขาออก 17 ไร่ ขาเข้า 20 ไร่ ) 4. จุดพักรถทับกวาง 1 แห่ง ฝั่งขาเข้า 7 ไร่ และ 5. ศูนย์บริการทางหลวงปากช่อง 1 แห่ง ฝั่งขาเข้า 67 ไร่

สัญญาที่ 2 ดำเนินการ 7 แห่ง ได้แก่ 1. จุดพักรถทับกวาง 1 แห่ง ฝั่งขาออก 8 ไร่ 2. ศูนย์บริการทางหลวงปากช่อง 1 แห่ง ฝั่งขาออก 71 ไร่ 3. จุดพักรถลำตะคอง 1 แห่ง ฝั่งขาออก 15 ไร่ 4. สถานที่บริการทางหลวงสีคิ้ว 2 แห่ง (ขาออก 26 ไร่ ขาเข้า 22 ไร่ ) และ 5. จุดพักรถขามทะเลสอ 2 แห่ง (ขาออก 10 ไร่ ขาเข้า 10 ไร่ )

ประเมินต้นทุนของเอกชนรวม 9,436.93 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าลงทุนระยะเริ่มต้นประมาณ 2,011.99 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษา 7,424.94 ล้านบาท

ส่วนจุดพักรถ M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มี 6 แห่ง จำนวน 1 สัญญา ได้แก่ 1. สถานที่บริการทางหลวงนครชัยศรี 2 แห่ง (ขาออก 58 ไร่ ขาเข้า 69 ไร่) 2. สถานที่บริการทางหลวงเมืองนครปฐม 2 แห่ง (ขาออก 45 ไร่ ขาเข้า 50 ไร่) และ 3. จุดพักรถท่ามะกา 2 แห่ง (ขาออก 39 ไร่ ขาเข้า 39 ไร่)

ประเมินต้นทุนของเอกชนรวม 6,102.91 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าลงทุนระยะเริ่มต้นประมาณ 1,351.78 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษา 4,751.13 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น